ชาวรัฐวิสาหกิจเฮ!! โบนัสปี’60 เพิ่มขึ้น ทอท.-ปตท.รับ7.5เดือน!!





 

แหล่งข่าวจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเปิดเผยว่า ปี 2560 รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ประกาศจ่ายโบนัสในอัตราสูงขึ้นเกือบทุกแห่ง โดยรัฐวิสาหกิจที่จ่ายโบนัสสูงสุด 7.5 เดือน มี 2 แห่ง คือ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.จ่ายโบนัสไปแล้วปลายปี 2560 เป็นการจ่ายโบนัสเท่ากับปี 2559 และอีกแห่งจ่ายโบนัสสูงในปี 2560 คือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แบ่งจ่าย 2 รอบคือ เงินพิเศษตามการประเมินผลงานพนักงาน (เคพีไอ) ได้รับ 1-1.5 เดือน ซึ่งจ่ายแล้วเดือนธันวาคม 2560 และจ่ายโบนัสอีก 6 เดือนเมื่อเดือนมกราคม 2561 รวมแล้วพนักงาน ปตท.ได้รับเงินสูงสุด 7.5 เดือน ถือเป็นเงินพิเศษสูงสุดเทียบทุกปีและไม่ได้จ่ายทุกปี โดยปี 2560 ผู้บริหารให้เหตุผลการจ่ายเงินพิเศษว่า ปตท.มีผลการดำเนินงานที่ดี

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ส่วนรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลังไม่น้อยหน้า สามารถจ่ายโบนัสสูงสุด 7 เดือนหลายแห่ง เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ทำกำไร 11,775 ล้านบาท และได้รับคะแนนประเมินจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สูงมาก จึงทำให้จ่ายโบนัส 6 เดือน และเงินเพิ่มอีก 1 เดือนรวมแล้ว 7 เดือน สูงกว่าปีที่ผ่านมาจ่าย 6 เดือน

นอกจากนี้ยังมีโรงงานยาสูบในปี 2559 เคยประกาศจ่ายโบนัส 7 เดือน เท่าที่ดูในปี 2560 ผลประกอบการยาสูบใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คาดว่าการจ่ายโบนัสจะใกล้เคียงกับปี 2559 สำหรับธนาคารออมสิน ผู้บริหารประกาศว่าจะจ่ายโบนัสถึง 6 เดือนมากกว่าปี 2559 ที่จ่ายโบนัส 5.3 เดือน สำหรับแบงก์รัฐอื่น มีผลประกอบการที่ดีขึ้นและประกาศจ่ายโบนัส 2-4 เดือน โดยพบว่าบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทยฯ (บวท.) ประกาศจ่ายโบนัสและเงินพิเศษในปี 2560 ประมาณ 4 เดือน ส่วนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) 2 เดือน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า หากดูจากการนำส่งรายได้ปีงบประมาณ 2560 สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 30,948 ล้านบาท 2.ปตท. 26,278 ล้านบาท 3.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 21,660 ล้านบาท 4.ธนาคารออมสิน 13,118 ล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 11,384 ล้านบาท พบว่าแค่ ปตท.และธนาคารออมสินเท่านั้นที่จ่ายโบนัสสูง ขณะที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลถูกกำหนดให้จ่ายโบนัสไม่เกิน 3.75 เดือน ส่วน กฟผ.มีการจ่ายโบนัสปี 2559 ประมาณ 3.6 เดือน และปี 2560 มีแนวโน้มน้อยกว่าปีที่ผ่านมาจะจ่ายช่วงเดือนเมษายน ส่วน กฟภ.โบนัสประมาณ 2 เดือน ซึ่ง 2 การไฟฟ้ามีพนักงานจำนวนมาก แม้จะมีกำไรสูงมากและนำส่งเงินเข้ารัฐสูง แต่เมื่อนำกำไรได้รับจัดสรรไปหารเฉลี่ยกับจำนวนพนักงานจึงได้คนละไม่มาก

“ทอท.และ ปตท.สามารถจ่ายโบนัสได้สูง เพราะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ทอท.เคยทำสถิติการจ่ายโบนัสสูงสุด 11 เดือนเมื่อปี 2556 ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทำให้ช่วงหลังๆ การจ่ายโบนัสอยู่ที่ 7.5 เดือนมาหลายปี ส่วน ธอส.จ่ายได้สูงเพราะพนักงานน้อย เมื่อนำผลกำไรที่ได้รับจัดสรรตามผลการประเมินไปหารกับจำนวนพนักงานจึงได้สูงมาก” แหล่งข่าวกล่าว

นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะโฆษก สคร.กล่าวว่า รอบปี 2560 ที่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจภาพรวมมีกำไรเพิ่มขึ้นเกือบทุกแห่ง เป็นผลจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และส่วนหนึ่งเกิดจาก สคร.เข้าไปกำกับดูแลให้รัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้ลดต้นทุนการประกอบธุรกิจลงได้มาก ส่งผลดีทำให้กำไรสูง ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการดี และได้คะแนนเกณฑ์ประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจสูงๆ สามารถจ่ายโบนัสได้เพิ่มขึ้น โดยไม่อยากให้นำโบนัสรัฐวิสาหกิจไปเปรียบเทียบกับเอกชนที่ได้รับโบนัสน้อยๆ เพราะเกณฑ์ที่ใช้นั้นใช้มานานแล้ว และเกณฑ์มีการปรับเปลี่ยนทุกปี โดยจะเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งกับ สคร.

“รัฐวิสาหกิจบางแห่งจะสามารถจ่ายโบนัสได้ตามผลกำไรที่เพิ่มขึ้นและต้องได้คะแนนประเมินที่สูงด้วย เช่น หากได้ 3 คะแนน สามารถนำกำไรไปจ่ายโบนัสได้ 9% หากได้ 4 คะแนน อยู่ที่ 10% และ 5 คะแนนเต็มจะได้ 11% ตรงนี้เป็นแรงจูงใจให้รัฐวิสาหกิจปรับตัวเองทั้งในการหากำไร และต้องทำตามเกณฑ์ประเมินที่ตกลงไว้กับ สคร. ซึ่งจะมีการปรับเกณฑ์ทุกปี โดย สคร.จะต้องปรับให้เข้มงวดขึ้นทุกปีเช่นกัน เพื่อไม่ให้ผ่านง่ายๆ” นายชาญวิทย์กล่าว

นายชาญวิทย์กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจบางแห่งถูกกำหนดโบนัสไว้ตายตัว เช่น สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แม้จะนำส่งรายได้เป็นอันดับ 1 แต่โบนัสถูกกำหนดไว้ในกฎหมายว่าต้องไม่เกินเท่าไหร่ เพราะตอนที่ก่อตั้งสำนักงานสลากฯ มีเป้าหมายคือหารายได้เข้ารัฐ ส่วนรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์นั้น ในการจ่ายโบนัสเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการไม่ได้คิดโบนัสตามกำไร หรือคะแนนประเมิน แต่ต้องนำผลการประเมินของ สคร.ไปอ้างอิงด้วยเช่นกัน

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: