นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการวางหลักประกันการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. …. โดยภายใต้กฏหมายโดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งมีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการ ต่ำกว่าปีละ 1.8 ล้านบาท รวมทั้งเป็นผู้ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน จะไม่ถือว่าเป็นผู้ทำธุรกิจตลาดแบบตรง และไม่ต้องจดทะเบียนธุรกิจกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
สำหรับการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงปัจจุบันถือว่าเติบโตอย่างมาก กำหนดความหมายว่า เป็นการทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูล เพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงกับผู้บริโภคและให้ผู้บริโภคติดต่อกลับมาซื้อสินค้าและบริการนั้น เช่น ซื้อขายผ่านโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ แตกต่างจากการทำธุรกิจขายตรงที่เน้นการขายสินค้าผ่านตัวแทนที่เป็นสมาชิกของผู้ประกอบธุรกิจนั้นๆ
ขณะเดียวกันที่ประชุมครม. ยังเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการวางหลักประกันการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง กำหนดให้ผู้ที่ยื่นขอจดทะเบียนประกอบธุรกิจดังกล่าว ต้องวางหลักประกันต่อนายทะเบียนของสคบ. แยกเป็นกรณีการจดทะเบียนขายตรง กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายไม่เกินปีละ 25 ล้านบาท ต้องวางหลักประกัน 25,000 บาท, มีรายได้ปีละ 25-50 ล้านบาท วางหลักประกัน 50,000 บาท , มีรายได้ปีละ 50-100 ล้านบาท วางหลักประกัน 100,000 บาท และมีรายได้เกินปีละ 100 ล้านบาทขึ้นไปต้องวางหลักประกัน 200,000 บาท
ส่วนธุรกิจตลาดแบบตรง กรณีเป็นบุคคลธรรมดา ต้องวางหลักประกัน 5,000 บาท, กรณีห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท วางหลักประกัน 25,000 บาท, กรณีบุคคลธรรมดา เมื่อมีรายได้ก่อนหักภาษีรายจ่ายไม่เกินปีละ 25 ล้านบาท วางหลักประกัน 5,000 บาท, กรณีห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เมื่อมีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายไม่เกินปีละ 25 ล้านบาท ต้องวางหลักประกันเป็นเงิน 25,000 บาท, มีรายได้ปีละ 25-50 ล้านบาท วางหลักประกัน 50,000 บาท, มีรายได้ปีละ 50-100 ล้านบาท วางหลักประกัน 100,000 บาท และมีรายได้เกินปีละ 100 ล้านบาท วางหลักประกัน 200,000 บาท
ทั้งนี้ การออกกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ สคบ.รายงานว่า มีความจำเป็นต้องผลักดันออกมาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และสอดคล้องกับการบังคับใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.ขายตรงฯ จึงได้กำหนดรายละเอียดต่างๆ ออกมา ทั้งการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซที่ไม่เข้าข่ายตลาดแบบตรง และการวางหลักประกัน เพื่อป้องกันปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี และบุคคลธรรมดา รวมทั้งในกลุ่มที่ต้องจดทะเบียนต้องมีการวางหลักประกันเพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภคอาจได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจ และจะได้รับการชดเชยค่าเสียหายอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องรอกระบวนการทางศาล
อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอความเห็นว่า สคบ. ควรเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการจดทะเบียนธุรกิจ และการพัฒนาช่องทางออนไลน์ทั้ง อี-มาร์เก็ต เพลส และโซเชียลมีเดีย ต่างๆ พร้อมกันนี้ยังต้องทำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้กับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไปได้รับทราบ และปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาได้อย่างถูกต้อง
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ