แท็กซี่ผวาตกงาน หลังรถขาดตลาด 2 หมื่นคัน นำมาจดทะเบียนขนส่งไม่ทัน เหตุค่ายรถผลิตไม่ทัน ทำใจซื้อแพงขึ้นตั้งแต่มี.ค.นี้ ด้านประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เตรียมพบกระทรวงอุตสาหกรรม ประสานโรงงานผลิตทำแผนให้สอดคล้องความต้องการ
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า สิ้นปี 2560 มีรถแท็กซี่มาจดทะเบียนกับ ขบ.รวม 9 หมื่นคัน ส่วนปี 2561 มีรถแท็กซี่ที่จะสิ้นอายุการใช้งานตามกฎหมายกำหนดมากถึง 2 หมื่นคัน สูงกว่าปีปกติที่มียอดเฉลี่ย 6-7 พันคันต่อปี โดยคาดจะมีแท็กซี่ปลดระวางกลับมาจดทะเบียนใหม่ไม่ถึง 2 หมื่นคัน เพราะกระแสข่าวขณะนี้รถแท็กซี่ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก รวมทั้งระบบร่วมเดินทาง เช่น อูเบอร์ เข้ามาแย่งตลาดมากขึ้น
นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้เกิดปัญหารถแท็กซี่ใหม่ขาดตลาดและสั่งซื้อยาก เพราะตลาดมีความต้องการรถแท็กซี่สูงกว่าปกติ ขณะที่กำลังการผลิตรถไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยปี 2560 มีรถแท็กซี่ในระบบ 9 หมื่นคัน และจากนี้ไปจนถึงปลายปี 2561 จะมีแท็กซี่ปลดระวางมากถึง 3.5 หมื่นคัน ทำให้อุตสาหกรรมรถแท็กซี่ต้องการสั่งซื้อรถใหม่จำนวนมาก โดยในปีนี้ประเมินว่ามีความต้องการรถใหม่เพื่อจดทะเบียนเป็นรถแท็กซี่ประมาณ 2 หมื่นคัน โดยรถที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือโตโยต้า อัลติส 2018 ราคาประมาณ 9 แสนบาทต่อคัน
“ปัญหารถที่นำมาสู่แท็กซี่ขาดแคลน คาดว่าเกิดจากค่ายโตโยต้าวางแผนการผลิตไว้ตั้งแต่ 4-5 ปีก่อน และเป็นกำลังการผลิตที่ค่อนข้างตายตัว โดยแบ่งสัดส่วนชัดเจนระหว่างรถยนต์ส่วนตัว (รถบ้าน) และรถแท็กซี่ เมื่อความต้องการตลาดรถแท็กซี่สูงกว่าปกติ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลน โดยปีนี้มีความต้องการรถประมาณ 2 หมื่นคัน เพื่อนำมาจดทะเบียนเป็นแท็กซี่ใหม่ เพิ่มขึ้นจากปกติที่ต้องการปีละ 5 พันคัน หากหารถไม่ได้จะส่งผลกระทบ ทำให้แท็กซี่จำนวนหนึ่งต้องหยุดงาน ซึ่งในส่วนของสหกรณ์ต่างๆ อาจช่วยเหลือให้ไปช่วยขับรถตู้หรือรถอื่นๆ ไปก่อน” นายวิฑูรย์กล่าว
นายวิฑูรย์กล่าวอีกว่า ปัญหาแท็กซี่ขาดตลาดมักเกิดขึ้น 2-3 ปีต่อครั้ง แต่ละครั้งนาน 6-7 เดือน โดยช่วงที่รถขาดแคลนผู้ซื้อจะจ่ายเงินให้ตัวแทนจำหน่ายเพิ่ม 2-3 หมื่นบาทต่อคัน เพื่อขอให้เร่งจัดหารถ สำหรับปีนี้รถขาดตลาดมาเร็วมาก โดยเมื่อปลายปีก่อนยังได้ส่วนลดคันละ 4 หมื่นบาท แต่พอถึงช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.61 ถูกหักส่วนลด คาดว่าเดือนมี.ค.อาจต้องเพิ่มราคาจากปกติ เพื่อให้เซลส์หารถให้ หากช่วงไหนกำลังผลิตรถล้นตลาดดีลเลอร์ก็ลดราคาให้สูงสุดถึงคันละ 7 หมื่นบาท ขึ้นอยู่กับปริมาณการสั่งซื้อ โดยครั้งสุดท้ายที่เกิดปัญหาขาดแท็กซี่ใหม่คือเมื่อ 4 ปีก่อน แต่เหตุการณ์ไม่รุนแรงเท่าปัจจุบัน
“เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นสหกรณ์อาจขอ กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้ดูแลอุตสาหกรรมรถยนต์ ให้ช่วยเหลือประสานข้อมูลไปยังค่ายรถยนต์ให้จัดทำแผนการผลิตรถยนต์ และรถแท็กซี่ให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดตลาดอีก”
นางเครือวัลย์ วงศ์รักมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด เจ้าของออลไทยแท็กซี่ กล่าวว่า ปี 2560 ออลไทยมีรถแท็กซี่โตโยต้า พรีอุส ไฮบริดให้บริการ 550 คัน และปีนี้มีความต้องการรถแท็กซี่เพิ่มอีกกว่า 1,000 คัน แต่ล่าสุดได้รับแจ้งจากโตโยต้าว่าจะไม่จำหน่ายโตโยต้า พรีอุส ไฮบริดเพิ่มเติมแล้ว เนื่องจากติดปัญหาเรื่องภาษีนำเข้าเช่นกัน ซึ่งบริษัทเร่งแก้ปัญหาด้วยการเจรจากับค่ายรถอื่นๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฮบริด ซึ่งอาจจะมีหลายประเภทหลายขนาด โดยคาดว่าคงไม่ทันในไตรมาสแรกของปีนี้ เพราะคำสั่งซื้อมีปริมาณค่อนข้างมาก
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ