26 ก.พ.61 – พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ว่า จากการเร่งตรวจสอบในพื้นที่เป้าหมาย 37 ศูนย์ฯ ขณะนี้ป.ป.ท.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศ พบการกระทำส่อทุจริตใน 12 จังหวัด โดยคณะกรรมการป.ป.ท.มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว 2 จังหวัด คือ ขอนแก่นและเชียงใหม่ ในวันพรุ่งนี้ (27 ก.พ.) จะเสนอให้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนอีก 2 จังหวัด คือ บึงกาฬ และหนองคาย ส่วนจังหวัดอื่นๆ อีก 8 จังหวัดจะทยอยเสนอบอร์ด ป.ป.ท.ให้มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวน ได้แก่ สระบุรี อุดรธานี สุราษฏ์ธานี อยุธยา น่าน กระบี่ ตราด และตรัง ส่วนจังหวัดที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่ยังไม่มีรายงานว่ามีจังหวัดใดตรวจสอบไม่พบการกระทำความผิดเลย
"ในจุดที่ตรวจสอบพบพฤติการณ์กระทำผิดนั้น จะเห็นได้ว่าในแต่ละจังหวัดคล้ายกัน มีการสวมสิทธิ์เพื่อนำชื่อไปเบิกเงิน และไม่นำมาจ่ายหรือจ่ายให้ประชาชนไม่ครบ ทั้งนี้ ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีผู้อยู่เบื้องหลัง หรือทำเป็นขบวนการหรือไม่ หากพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องที่มีตำแหน่งสูงกว่าระดับ 8 คณะกรรมการป.ป.ท.จะมีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบต่อไป ในส่วนของเส้นทางการเงินได้ประสานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบแล้ว แต่รายละเอียดไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะอยู่ในสำนวนสอบสวนของอนุกรรมการไต่สวน" พ.ท.กรทิพย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงการตรวจสอบไปยังโครงการเงินช่วยเหลืออื่นๆของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พ.ท.กรทิพย์ กล่าวว่า ตนได้กำหนดกรอบเวลา 90 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดภายในวันที่ 30 พ.ค.นี้ เพื่อตรวจสอบโครงการของศูนย์ช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง ในปีงบประมาณ 60 ระหว่างนี้ ป.ป.ท.จะยังไม่ขอตรวจสอบโครงการอื่นๆ ร่วมถึงการตรวจสอบย้อนหลังการจ่ายเงินของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ไปในปี 2552 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นโครงการ โดยจะขอตรวจสอบเฉพาะปีงบประมาณ 60 ให้เสร็จสิ้นก่อน ซึ่งการทำงานที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากผู้บริหาร พ.ม. ให้ข้อมูลตอบกลับมาตลอด ส่วนที่ระบุว่ามีผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวข้องนั้น เป็นการทราบข้อมูลจากสื่อเท่านั้น
เมื่อถามว่า จังหวัดที่ตรวจสอบพบความผิด จะเสนอให้ย้ายผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหรือไม่ พ.ท.กรทิพย์ กล่าวว่า ป.ป.ท.มีหน้าที่ตรวจสอบ 2 ด้าน ว่า มีพฤติการณ์กระทำความผิดหรือไม่ และเจ้าหน้าที่รัฐคนใดเกี่ยวข้องบ้าง โดยชั้นสุดท้ายหากพบความผิดจะส่งเรื่องให้หน่วยงานต้นสังกัด เพื่อให้ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย อย่างไรก็ตาม พม.ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดสามารถดำเนินการตรวจสอบคู่ขนานไปกับการตรวจสอบของป.ป.ท.ได้ ไม่ต้องรอให้ป.ป.ท.สรุปผลสอบออกมาก่อน รวมถึงสามารถโยกย้ายข้าราชการที่ถูกกล่าวหาให้พ้นจากหน้าที่เป็นการชั่วคราวด้วย แต่หากพบความผิดทางอาญาป.ป.ท.ก็จะส่งสำนวนให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้อง
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ