สุดเจ๋ง!! แพทย์หญิงไทยคว้าที่1 งานวิจัย’ใช้เลเซอร์รักษาหัวล้านที่เกิดจากพันธุกรรม’





 

แพทย์ผิวหนังหญิงไทย สร้างผลงานระดับโลก คว้าที่ 1 งานวิจัยรักษาโรคศีรษะล้านที่เกิดจากพันธุกรรม ชี้ เป็นงานวิจัยชิ้นแรกในเอเชีย

วันที่ 7 มีนาคม 2561 เว็บไซต์ workpointnews รายงานว่า รศ. (พิเศษ) พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย และตัวแทนของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย รวมทั้งเป็นตัวแทนของแพทย์จากประเทศไทย เข้าร่วมส่งผลงานวิจัยในงาน ISHRS Poster Awards 2017 (International Society of Hair Restoration Surgery (ISHRS) หรือสมาคมศัลยกรรมปลูกผมนานาชาติ

 

 

ทั้งนี้ รศ. (พิเศษ) พญ.รัชต์ธร สามารถคว้ารางวัลที่ 1 ในประเภทงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในรูปแบบของโปสเตอร์ ซึ่งเป็นงานวิจัยชิ้นแรกในเอเชีย ในการยืนยันประสิทธิภาพของกระบวนการยิงด้วยเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ เพื่อขจัดปัญหาโรคผมร่วงที่เกิดจากพันธุกรรม

 

 

รศ. (พิเศษ) พญ.รัชต์ธร กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาวิธีในการรักษาโรคผมบางศีรษะล้านที่เกิดจากพันธุกรรม (Androgenetic alopecia, AGA) ซึ่งปกติแพทย์จะใช้ 2 วิธีในการรักษา คือ การให้ยากิน หรือยาทา แต่วิธีใหม่ล่าสุดที่ได้นำเข้ามาใช้คือ Low Level Laser Therapy (LLLT) หรือการใช้เลเซอร์ที่มีความเข้มข้นต่ำในการกระตุ้นให้หนังศีรษะสร้างเส้นผมขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีการเริ่มใช้มานานแล้ว แต่ในต่างประเทศเพิ่งจะได้ตีพิมพ์งานวิจัยถึงประสิทธิภาพในการกระตุ้นการสร้างเส้นผมออกมาในปี 2017 นี้เอง

แต่สำหรับประเทศไทย และแถบเอเชียเองยังไม่มีงานวิจัยออกมา ซึ่งด้วยสีผมของคนเอเชียที่ต่างออกไปจากงานวิจัยตัวดังกล่าว งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างผู้ชายไทยที่เป็นโรคผมบางศีรษะล้านที่เกิดจากพันธุกรรมมาเพื่อศึกษาว่าการให้เลเซอร์ความเข้มข้นต่ำนั้นมีผลต่อส่วนใดของผมในระดับโมเลกุล โดยการตัดรากผมไปตรวจก่อนเริ่มการรักษา หลังจากนั้นก็จะให้คนไข้เริ่มทำการรักษาและตัดชิ้นเนื้อเพื่อไปตรวจสอบว่ามีความเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าการใช้เลเซอร์ที่มีความเข้มข้นต่ำในการกระตุ้นให้หนังศีรษะสร้างเส้นผมนั้นให้ผลดีที่ 24 สัปดาห์ โดยความสำเร็จครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของการศึกษาในประเทศไทย

รศ. (พิเศษ) พญ.รัชต์ธร กล่าวว่า นอกจากงานวิจัยชิ้นนี้จะสามารถยืนยันประสิทธิภาพในการรักษาด้วยเลเซอร์ที่มีความเข้มข้นต่ำแล้ว ยังมีงานวิจัยต่อยอดนำเอาเซลล์เส้นผมมาเพาะเลี้ยงต่อ เพื่อศึกษาว่าแสงดังกล่าวมีผลต่อเซลล์ที่เพาะเลี้ยงหรือไม่ ซึ่งจะเป็นการทดลองลึกลงไปถึงระดับโมเลกุลต่อไป

ข่าวจาก : workpointnews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: