อันว่าชาวสยามประเทศของเราเพลานี้ ดูเหมือนว่าจิตใจหวั่นไหวเต้นไม่เป็นส่ำ ร่ำร้องอยากจิให้มีวันพุธ 7 วันต่อสัปดาห์ จักได้เฝ้าหน้าจอรอแม่หญิง ‘การะเกด’ ที่มีวิญญาณของนักโบราณคดีสาว ‘เกศสุรางค์’ มาอยู่ในร่างสร้างความฮาเป็นอันมาก
ถามว่าชื่อทั้ง 2 นี้ท่านได้แต่ใดมา ?
ยังไม่ทันยกหูโทรหา ‘รอมแพง’ หรือ จันทร์ยวีร์ สมปรีดา ผู้แต่ง
เพื่อนซี้สมัยเป็นนักศึกษา อย่าง รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ก็แอบเล่าว่า ย้อนหลังไปในเวลาไกลโพ้นนนนน เอ่อม ! ครั้งยังละอ่อนเรียนหนังสือหนังหาอยู่ด้วยกันนั้น ‘รอมแพง’ มีชื่อจริงว่า ‘เกศินี’ ส่วนจันทร์ยวีร์ นั้น เพิ่งเปลี่ยนในภายหลัง อาจารย์ยังเชื่อว่า ชื่อจริง (เดิม) ของรอมแพง ก็คือที่มาของชื่อ เกศสุรางค์ และการะเกด อย่าไงม่ต้องสงสัย
และที่ยิ่งไปกว่านั้น คือ บุคลิกสดใส ร่าเริง เฉลียวฉลาด น่ารัก และมีเสน่ห์ ของนักโบราณคดีสาวในเรื่อง ก็ไม่ผิดเพี้ยนจากบุคลิก ‘รอมแพง’ ตัวจริงแต่ประการใด
สำหรับหลักสูตรที่ ‘รอมแพง’ ร่ำเรียนนั้น คือ ‘ประวัติศาสตร์ศิลปะ’ มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทาง ด้านศิลปกรรม ในขณะที่ปัจจุบันโบราณวัตถุสถานอันเป็นมรดกสำคัญของชาติและของโลก นับวันจะถูก ทำลายสูญหายไปเนื่องด้วยคนไม่เห็นคุณค่า หลักสูตรดังกล่าวจึงออกแบบมาเพื่อให้นักศึกษา “เห็นคุณค่า” และช่วยกันอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวให้คงอยู่สืบไป
มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบุคลากรให้มีความรู้และสามารถเข้าใจในวิชา ประวัติศาสตร์ศิลปะให้ได้ระดับมาตรฐาน รวมถึงมีคุณธรรมและจริยธรรมในวิชาชีพ มีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักฐานทางศิลปกรรม อันจะนำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับคน ทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ ทั้งยังปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมอันพึงประสงค์ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและหวงแหนใน ศิลปวัฒนธรรม
‘ประวัติศาสตร์ศิลปะ’ นี่เอง ที่เป็นสาขาวิชาซึ่ง ‘เกศสุรางค์’ ในบุพเพสันนิวาส บินข้ามทวีปไปร่ำเรียนถึงฝรั่งเศส จนสามารถกลับมาต่อปากต่อคำกับฝรั่งดั้งขอที่เดินชน ‘ฟานิก’ บิดาของ ‘ท้าวทองกีบม้า’ ในอนาคต ตามละครตอนที่ออนแอร์ไปแล้ว
ปัจจุบัน หลักสูตรประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย เปิดสอนที่คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ประกอบด้วย
- ปริญญาตรี หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2554)
- ปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2554)
- ปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาชาประวัติศาสตร์ศิลปะ (พ.ศ. 2554)
นี่เป็นอีกเกร็ดความรู้สนุกๆที่ปลุกความรักในความรู้ด้านประวัติศาสตร์และศิลปะผ่านละครคุณภาพที่ชาวไทย ‘ฟิน’ ที่สุดในห้วงยามนี้
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ