บิ๊กตู่ประชุมรัฐบาลดิจิทัล เห็นชอบตั้ง 4 อนุกรรมการใหม่ สั่ง 3 เดือน เลิกขอสำเนาเอกสาร ลดภาระของประชาชน
วันที่ 9 มีนาคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยได้ให้แนวทางขับเคลื่อนประเทศ ทั้งที่เป็นส่วนราชการ ภาคธุรกิจ ประชาชน ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านการบูรณาการการทำงานและมีการเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งกันและกัน และต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีการกำหนดโรดแมปที่ชัดเจนในแต่ละขั้น การใช้ดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการตรวจสอบและสร้างความโปร่งใสในการบริหารราชการที่รวดเร็ว อำนวยความสะดวก และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ได้แก่ 1) อนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลด้านการบริการประชาชน เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนด้วยดิจิทัล เพื่อให้เกิดเป็นบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) 2) อนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรภายในองค์กรภาครัฐ 3) อนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลด้านการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการตัดสินใจอย่างมีคุณภาพ เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลที่ใช้ในการวางแผนและตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายประเทศ รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินงานทุกระดับและทุกมิติ 4) อนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลด้านความมั่นคงปลอดภัยในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลภาครัฐ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลภาครัฐที่มีความมั่นคงปลอดภัย
ที่ประชุมได้กำชับให้แต่ละชุดทำงานอย่างรวดเร็วและได้รับผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้หารือข้อกฎหมายกับวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง โดยมาตรการเร่งด่วนที่ดำเนินการได้ทันทีและจะเห็นผลใน 3 เดือน จะมีระบบที่สามารถวิเคราะห์และแสดงความสัมพันธ์และความซ้ำซ้อนของนโยบายต่างๆ และใน 3 เดือน ภาครัฐจะเลิกเรียกสำเนาเอกสารจากประชาชนเมื่อต้องมีการติดต่อหน่วยงานรัฐ เพื่อลดภาระประชาชน อาทิ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เป็นต้น ใน 1 ปี จะมีระบบบริหารทรัพยากรภายในองค์กรภาครัฐให้มีการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานรัฐทั้งประเทศ และมีมาตรฐานการเชื่อมโยงเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐกับภาครัฐและเอกชนที่มีความมั่นคงปลอดภัยทั้งรัฐบาล
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เนื่องจากแต่ละกระทรวงมีการทำงานบริหารเป็นของตนเอง ขอให้คณะกรรมการชุดนี้ เป็นคณะกรรมการกลางในการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลที่ไม่ใช่ชั้นความลับหรือข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งจำแนกรูปแบบการทำงานที่สร้างความโปร่งใสอย่างแท้จริง ให้มีการศึกษารูปแบบและแนวทางจากต่างประเทศประกอบด้วย โดยคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ลดภาระทั้งในแง่ของค่าใช้จ่ายและระยะเวลาของประชาชนด้วยระบบดิจิทัลเป็นหลัก และให้มีช่องทางการสื่อสาร การเชื่อมต่อให้ประชาชนและสาธารณชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ