เรื่องโดย : มาม่ากับปลากระป๋อง
เว็บไซต์ : https://pantip.com/topic/32137706
หลังจากที่ผมเขียนและเผยแพร่แชร์ประสบการณ์ที่ผมได้ไปประมูลซากมาจากกรมบังคับคดี ที่ชื่อว่า “ทำกำไรได้ 250,000 จากซากปรักหักพัง!!! http://goo.gl/6aTawr” จากบทดังกล่าวผมได้รับคำถามเกี่ยวกับการประมูลบ้านจากกรมบังคับคดีมามากมายหลายคำถาม ผมอาจจะตอบคำถามได้ไม่ครบทุกท่านก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ แต่ในบทนี้ละครับผมจะมากะเทาะเปลือกให้ฟังกันแบบหมดพุงเลยทีเดียว
[แชร์หมดเปลือก] การลงทุนในอสังหาฯ ประมูลบ้านจากกรมบังคับคดี
ซึ่งในบทนี้ผมจะอธิบายเน้นหนักไปทาง รายละเอียด วิธีการ และ เทคนิค ข้อควรระวังต่างๆ ที่ผมใช้นะครับ ดังนั้นในการบทนี้ผมขอเขียนอธิบายพร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบเป็นกรณีการลงทุนล่าสุดของผม ซึ่งผมไปประมูลบ้านทาวน์เฮ้าส์จากกรมบังคับคดีได้มาครอบครองเพิ่มอีก 1 หลัง (และตอนนี้มีคนเสนอซื้อเข้ามาหลายราย ถ้าขายน่าจะทำกำไรได้หลายหมื่นบาทอาจถึงแสนถ้าขายให้คนนอก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นดูเหมือนว่าน้าสาวผมเองบอกสนใจอยากได้บ้านหลังนี้ น้าสาวท่านนี้ก็ดูแลและช่วยเหลือผมมาตลอด ดูท่าแล้วถ้าขายให้น้าสาวผมอาจจะไม่เอากำไรเลยก็เป็นได้ 5555+)
ในบทนี้ผมขอแยกออกเป็น 3 ส่วนดังนี้
ส่วนที่ 1 การค้นหาและการพิจารณาการเข้าสู้ราคา
ส่วนที่ 2 การวางเงินประกันและการประมูล
ส่วนที่ 3 ขั้นตอนและวิธีการเมื่อประมูลทรัพย์ได้
ส่วนที่ 1 การค้นหาและการพิจารณาการเข้าสู้ราคา
เริ่มจากคำถามที่ว่า … เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีบ้านหลังไหนกำลังจะออกประมูล?
วิธีการแรก คือ เข้าไปติดต่อที่กรมบังคับคดีของจังหวัดหรือสาขานั้นโดยตรง แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าขอดูทรัพย์ที่กำลังจะประมูลแล้วเจ้าหน้าที่จะนำแฟ้มใหญ่ๆหนามาให้เราพิจารณา
วิธีการที่สอง คือ เข้าเว็ปไซต์ของกรมบังคับคดีโดยตรง
หน้าเพจหลักของกรมฯ http://www.led.go.th/
หน้าเพจที่ใช้ในการค้นหา http://asset.led.go.th/newbid/asset_search_map.asp
เราไม่จำเป็นต้องรู้หมายเลขคดี ปี พ.ศ. หรือ โจทก์จำเลยนะครับ เราสามารถ คลิ๊กเข้าไปที่ภาพแผนที่ประเทศไทยที่แยกตามภูมิภาคได้เลย พอคลิ๊กแล้วจะขึ้นเป็นจังหวัดๆมาให้เราพิจารณา (ภูมิภาค > จังหวัด > อำเภอ/เขต)
พอเราเจอทรัพย์ที่เราสนใจ เราคลิ๊กเขาไปจะปรากฏหน้าตาลักษณะนี้ ในภาพเป็นบ้านที่ผมจะสู้ราคาครั้งนี้ครับ
– ที่ดินแปลงนี้ เป็นโฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ขนาด 22.5 ตารางวา
จุดสังเกตและข้อควรระวัง … โฉนด เป็นหนังสือสำคัญแสดง กรรมสิทธิ์ ส่วน นส.3 ก เป็นหนังสือสำคัญแสดง สิทธิครอบครอง ในทางกฎหมายการครอบครองโฉนดจะแน่นอนและชัดเจนกว่าในเกือบทุกกรณี แต่ถ้ากระประมูลครั้งใด ปรากฏ เป็น นส.3 ก การพิจารณามูลค่าในการซื้อขายจะน้อยลงกว่าโฉนดทันที เพราะ การทำเรื่องเปลี่ยน นส.3 ก เป็น โฉนด นั้นมีค่าใช่จ่ายและใช้เวลานาน
– ราคาเริ่มต้นที่ประมูลดูได้จากราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ 337,875 บาท
จุดสังเกตและข้อควรระวัง … ราคาประเมินทรัพย์ของทางราชการดูได้จาก ประเมินทรัพย์จากกรมธนารักษ์ ในกรณีนี้เท่ากับราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่จะใช้เริ่มประมูล
– ครั้งนี้ขายแบบภาระปลอดจำนอง
จุดสังเกตและข้อควรระวัง … ในหลายๆรายการเป็น การขายแบบติดภาระจำนอง เป็นการขายทรัพย์พร้อมหนี้สินติดพ่วงมาด้วย กล่าวคือนอกจากจำนวนเงินที่เราต้องจ่ายในการประมูลแล้วเราต้องชำระหนี้ที่ติดมาด้วย ดังนั้น การที่จะเข้าร่วมประมูลซื้อบ้านที่ติดภาระจำนองในแต่ละครั้งเรามาต้องสอบถามกับเจ้าหน้าที่เรื่องจำนวนยอดหนี้และรายละเอียดต่างๆให้เรียบร้อย จากประสบการณ์ผมเองเคยเจอ บ้านหลังใหญ่โต เริ่มประมูลที่ราคาไม่กี่หมื่นบาท แต่ขายแบบติดภาระจำนองที่มียอดหนี้หลายล้าน คำนวณดูแล้วมากกว่าราคาบ้านที่ควรจะเป็นอีกถ้าซื้อหลังนี้ไปนอกจากไม่มีกำไรแล้วยังขาดทุนทันทีเลย
กฎเหล็ก 4 ไม่ซื้อของผม
ถ้าไม่ได้ไปดูสถานที่จริง ผมไม่ซื้อ!!!
ถ้าเราไม่ไปดูสภาพแวดล้อมของตัวบ้าน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าแถวนั้นเป็นอย่างไร? เช่น ถ้าบริเวณนั้นมีแนวโน้มเป็นชุดชนแออัดราคาที่ดินแถวนั้นต้องตกลงแน่นอน
ถ้าดูสภาพภายในไม่ได้ ผมไม่ซื้อ!!!
ถ้าเราเข้าไปดูในตัวบ้านไม่ได้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสภาพมันยังดีอยู่? เช่น ล็อกกุญแจหนาแน่น เราบุกเข้าไปก็คงไม่ได้เพราะอาจโดนข้อหาได้ แต่ถ้าเข้าไม่ได้เราก็ไม่รู้ว่ามันมีฝ้ามั้ย? ข้างนอกดูดีแต่ข้างในแตกเร้า หรือลูกพี่เจ้าของเก่าอาจจะทุบผนัง ตัดบันได แถมไร้ซึ่งสุขภัณฑ์ ก็เป็นได้ ถ้าเจอสถานการณ์เช่นนี้ผมจะไม่เข้าร่วมประมูลเพราะเราประเมินมูลค่าไม่ได้
ถ้าคุยกับคนที่อาศัยอยู่หรือเจ้าของบ้านไม่รู้เรื่อง ผมไม่ซื้อ!!!
ถ้าบ้านมีคนอยู่ ผมจะเดินเข้าไปถามตรงๆ ว่ารู้หรือไม่ว่าบ้านกำลังจะถูกยึดและขาย ถ้าผู้อยู่อาศัยรับรู้และพร้อมย้ายออก ก็ดีไป … แต่ในหลายกรณีที่ บ้านมีคนอยู่และคุยไม่รู้เรื่อง ไม่ออก หรือ ท่าทางแข็งกร้าว ถ้าเจอสถานการณ์เช่นนี้ผมจะไม่เข้าร่วมประมูลเด็ดขาด เพราะจะมีปัญหายุ่งยากตามมามากมาย เช่น ผมคงไม่สบายใจนักกับการที่ต้องไปไล่เขาออกจากอดีตบ้านตัวเอง ถ้าตกลงไม่ได้ก็ต้องมาฟ้องร้องขับไล่กันอีกเสียทั้งเงินทั้งเวลา
ถ้าราคาประมูลสูงเกินกว่าที่ผมคำนวณมา ผมก็ไม่ซื้อ!!!
แต่ถ้าสามข้อข้างต้นผ่านมาได้ไร้ปัญหา ผมจะเข้าสู้ราคา แต่ผมจะสู้ในราคาที่กำหนดไว้เท่านั้น ถ้าเกินกว่านั้น ต้องหยุด เพราะ ถ้าสู้ราคาเกินกว่าที่เราคิดมานั่นหมายถึงความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นและกำไรที่จะลดลงจากการลงทุน ผมเข้าร่วมประมูลมาหลายสิบครั้ง แต่ราคาสุดท้ายมาหยุดที่ผมไม่บ่อยครั้ง แต่ถ้ามาหยุดที่ผม ผมมั่นใจว่าต้องมีกำไรแน่นอน
4 กฎเหล็กเตือนสติ อย่าให้ความโลภความอยากมาบังสติเด็ดขาด
ปล่อยให้เขาผ่านไปอย่าไปยึดติด จากประสบการณ์ส่วนตัวผมถึงพลาดหลังนี้ แต่ก็จะมีหลังใหม่การลงทุนใหม่เข้ามาเรื่อยๆ เช่น บ่อยครั้งที่ผมรู้สึกดีใจเสียด้วนซ้ำที่ประมูลไม่ได้เพราะหลังจากนั้นผมเจอหลังทีสวยกว่า ถ้าซื้อตอนนั้นไปคงไม่มีเงินเหลือพอ เป็นต้น บ้านทาวาเฮ้าส์ 22.5 ตารางวาหลังนี้ ผ่านทุกขั้นตอนของผมดูสถานที่จริงแล้ว สภาพแวดล้อมใช้ได้ อนาคตไกล ภายในบ้านสภาพดี มีผู้อยู่อาศัยเช่าอยู่แต่คุยรู้เรื่องและพร้อมออกหรือเช่าต่อตามเจ้าของรายใหม่
(เพิ่มเติมเนื้อหาครับ … เรื่องการประเมินมูลค่าบ้าน
ก่อนเข้าร่วมประมูลทุกครั้งเราจำเป็นต้องหามูลค่าที่แท้จริงของบ้านหลังนั้นๆก่อนเพื่อ กำหนดราคาในการเข้าประมูลในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ก็จะมีการหามูลค่าที่แท้จริงเช่น ประเมินโดยคิดจากมูลค่าจากต้นทุน (Cost Approach) ประเมินโดยอาศัยการเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach) ประเมินโดยคิดจากรายได้ (Income Approach) เป็นต้น สนใจรายละเอียดหรือวิธีการคำนวณ ตามลิงค์เลยครับ
http://www.thaiappraisal.org/thai/valuation/valuation13.htm
http://www.bjcc.co.th/standard.html)
ส่วนที่ 2 การวางเงินประกันและการประมูล
ในการเข้าสู้ราคานั้นเราควรก็ไปก่อนเวลาเริ่มสักเล็กน้อย เพราะเราต้องกรอกเอกสารเพื่อตรวจสอบบุคคลล้มละเลยและวางเงินประกันในการเข้าสู้ราคา เอกสารที่ใช้ประกอบคือบัตรประชาชนตัวจริง การวางเงินประกันเข้าสู้ราคาต้องวางร้อยละ 5 จากราคาเริ่มต้นหลังนี้ที่ 337,875 บาท ดังนั้นต้องวางเงิน 337,875 x 0.05 = 16,893.74 บาท ถ้าเราประมูลไม่ได้ เราจะได้เงินจำนวนนี้คืนเต็มจำนวน
ถ้าสนใจทรัพย์นั้นจริงควรไปตั้งแต่ครั้งแรกครับ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ขายก็ตาม สำหรับคำถามที่ว่ารอถ้าไม่มีผู้สนใจราคาจะลดลงนั้น ผมมองว่าถ้าทรัพย์ดีจริงๆ โดยมากไปไม่ถึงช่วงลดราคาครับ ขายออกหมดก่อน แน่นอนครับว่าผมไปตั้งแต่นัดแรก หลังนี้ผมวางเงินไป 20,000 บาทครับ (วางมากกว่าได้) ตัวเลขกลมๆคิดง่ายดี
“เจ้าหน้าที่ถามว่ามีใครรับราคาเริ่มต้นหรือไม่?” ผมก็ชูป้ายหมายเลขที่ได้มา บอกว่ารับราคาเริ่มต้น ยังไม่ทันไปไหนเลยครับ เจ้าหน้าที่ถามว่ามีคนสู้ราคาอีกหรือไม่ ไม่มี โจทก์ซึ่งมาดูแลการขาย จึงขอใช้ “สิทธิ์ค้านราคา” ในราคาที่ผมเสนอ ผมจึงเป็น “ผู้ที่ถูกผูกพันราคาไว้” นัดหน้าค่อยมาประมูลสู้กันใหม่ (นัดถัดไปวันที่ 27 ก.พ. 2557)
ภาพแสดง การเพิ่มขึ้นในแต่ละครั้งของการยกสู้ราคา รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในลิงค์นี้ครับ http://branch.led.go.th/sisaket/marketrule.asp
มีผู้เข้าสู้ราคามากมายหลายเจ้าครับแต่ในท้ายที่สุดผมประมูลบ้านทาว์นเฮ้าส์หลังนี้มาได้มาในราคา 690,000 บาท
ส่วนที่ 3 ขั้นตอนและวิธีการเมื่อประมูลทรัพย์ได้
หลังจากประมูลได้แล้วเรา กรมบังคับคดีจะให้เวลาเรา 15 วันในการนำเงินมาชำระ แต่ถ้าคาดว่าหาไม่ทันเราสามารถทำเรื่องวางเงิน 10% ของราคาประมูลเพื่อขอยืดเวลาเพิ่มได้อีก 90 วัน รวมเป็น 105 วันนับจากวันที่ซื้อทรัพย์ได้
จุดสังเกตและข้อควรระวัง … แต่ถ้าหากเราหาเงินมาจ่ายไม่ได้ตามกำหนด ทางกรมบังคับคดีจะถือว่าการประมูลนั้นเป็นโมฆะ และทำการเปิดประมูลทรัพย์นั้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งถ้าการประมูลใหม่นี้ผู้ประมูลได้ประมูลไปในราคาน้อยกว่าที่เราเคยประมูล เราจะต้องชำระค่าส่วนต่างของราคาในการประมูลครั้งนี้ด้วย ดังนั้น ในการขอกู้เงินจากธนาคารหรือรวมรวมเงินนั้นต้องระมัดระวังเรื่องเวลาให้ดีมิเช่นนั้นอาจเข้าเนื้อได้ขาดทุนได้
ข้อควรระวังอีกหนึ่งข้อหนึ่งคือ … ถ้าเป็นการซื้อเพื่อการลงทุนจับปล่อยหรือเก็งกำไรลักษณะนี้ เงินที่นำมาใช้ลงทุนนี้ควรเป็น “เงินเย็น” ใช้เพื่อการนี้โดยเฉพาะหรือไม่มีกำหนดใช้ในเร็ววัน ผมเชื่อว่าอะไรก็ไม่แน่นอน ถึงเราจะมั่นใจแค่ไหนก็ตามมันไม่มีอะไรการันตรีเราได้หรอกครับว่าเราจะไม่พลาดและถ้ามันเกิดพลาดขึ้นมาแล้วผมเชื่อเลยว่า เคราะห์จะซ้ำกรรมจะซัดแน่นอน ถ้าเงินที่นำมาลงทุนเป็นเงินร้อนต้องรีบใช้ พลาดทำกำไรไม่ได้อย่างที่คิดต้องรีบขายออก ถ้าเป็นเช่นนี้รับรองได้เลยว่าขาดทุนกระจุยกระจายแน่นอน!!!
ในนัดที่สองนั้น หลังจากที่ผมประมูลได้ในราคา 690,000 บาท ผมก็ดำเนินการวางเงิน 10 % เพื่อทำเรื่องยืดเวลาหลังจากประมูลได้ทันที 69,000 บาท ตามภาพใบเสร็จนี้ครับ
ถามว่าผมมีเงินสดเลยหรือไม่? ผมตอบว่ามีครับ แล้วถ้าอย่างนั้นทำไมถึงขอขยายเวลา?
มันเป็นเทคนิคเล็กๆน้อยครับ ในกรณีบ้านหลังนี้คือ มีผู้เช่าเดิมอยู่แล้ว หลังจากประมูลได้ผมก็แสดงตัวว่าเป็นเจ้าของคนใหม่ สอบถามว่าราคาค่าเช่าเดิมเท่าไหร่? ผู้เช่าเดิมตอบว่า 3,000 บาท ผมเลยยื่นข้อเสนอบอกว่า ผมยืนราคาค่าเช่าเดิมที่ 3,000 บาท 3 เดือน หลังจากนั้นจะขึ้นค่าเช่าเป็น 3,800 บาท แต่ผู้เช่าเองก็เป็นช่างรับเหมาซ่อมแซมบ้านอยู่แล้วผมก็เลยยื่นข้อเสนอว่าผมให้เขาตีราคาค่าปรับปรุงบ้านหลังนี้เลย ประตูลูกบิด บานเกร็ด ฯลฯ พอเขาตีราคามาผมก็จ้างเขาทำเลย … เท่ากับว่าผมได้ค่าเช่า 3 เดือน 9,000 บาทมาเป็นค่าซ่อมแซมบ้านโดยปริยาย และในระหว่าง 3 เดือนนั้น ผมก็ประกาศขายบ้านหลังนี้ว่ามีคนสนใจหรือไม่?
จากเทคนิคยืดเวลานี้ ผมซ่อมบ้านโดยใช้เงินจากผู้เช่าเอง โดยที่ผมจ่ายเงินให้กับกรมฯไปเพียงส่วนเดียว ในระยะเวลานี้ผมประกาศขายและผมสามารถหาผู้สนใจซื้อได้ในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน (ทั้งนี้ระยะเวลาในการขายขึ้นอยู่กับทำเลและราคาของบ้านด้วยนะครับ)
เมื่อใกล้ถึงวันครบกำหนดผมก็นำเงินไปชำระส่วนต่าง 690,000 – 20,000 – 69,000 = 601,000 บาท
หลังจากชำระเงินทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย กรมบังคับคดีก็จะออกหนังสือแจ้งการปลดจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่เรา พร้อมทั้งโฉนดฉบับจริง และให้เรานำเอกสารนี้ไปที่ กรมที่ดินเพื่อโอนเป็นชื่อเรา
ในกรณีซื้อเงินสดเช่นผมในครั้งนี้ ขั้นตอนการโอนที่ดินก็ไม่ยุ่งยากแต่ประการใด
เอกสารที่ใช้ในการโอนกรรมสิทธิ์
– หนังสือแจ้งการโอนกรรมสิทธิ์ที่กรมบังคับคดีออกให้
– โฉนดที่กรมบังคับคดีให้เรามา
– บัตรประชาชาตัวจริง พร้อมสำเนาบัตร
– ทะเบียนบ้านตัวจริง พร้อมสำเนาบัตร
– เอกสารของคู่สมรส (ถ้ามี)
แต่ถ้าเป็นในกรณีที่กู้จากธนาคารก็จะมีเอกสารของทางธนาคารเพิ่มเติม เช่น สัญญาจดจำนองใหม่ เป็นต้น
หลังนี้ผมเสีย ค่าคำขอ ค่าพิมพ์โฉนด ค่าธรรมเนียม และ ค่าภาษีเงินได้ รวมประมาณ 18,000 บาท ในกรณีบ้านหลังนี้ผมไม่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากเจ้าของเดิมถือครองบ้านเกิน 5 ปี (การคิดคำนวณภาษีต่างๆ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากลิงค์แนบนี้ครับ เป็นบทความของธนาคารกสิกรไทย http://k-expert.askkbank.com/Article/Pages/A3_032.aspx หรือ ถ้ายังไม่มั่นใจว่าจะเสียเท่าไหร่ ตีเผื่อไปเลยครับ 10% ของราคาซื้อขาย ในกรณีการโอนซื้อขายปกติน่าจะไม่เกินแน่นอน)
แต่การประมูลบ้านนั้นเราสามารถทำเรื่องยื่น “ขอคืนภาษีเงินได้” จากกรมบังคับคดีได้ ในกรณีบ้านหลังนี้หลังจากที่ผมทำเรื่องโอนจากกรมที่ดินเสร็จผมก็มาทำเรื่องขอคืนภาษีที่กรมบังคับคดีทันทีโดยนำในเสร็จรับเงินมาใช้ในการทำเรื่อง หลังจากทำเรื่องเรียบร้อยก็สามารถมารับเงินคืนได้ภายหลังจากนั้นอีก 1 เดือน ในครั้งนี้ผมได้คืนภาษีเงินได้ราวเจ็ดพันบาท (การขอคืนภาษีเงินได้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากลิงค์นี้ครับ http://test.led.go.th/faqn/SARA.ASP?nomod=b)
ห้ามลืม ก่อนที่จะออกจากกรมที่ดิน ต้องขอคัดสำเนา “คำขอขายตามคำสั่งศาล” ออกมาด้วย เพราะ สำเนานี้เราจะต้องนำไปใช้ในการขอ “เล่มทะเบียนบ้านตัวจริง” ของบ้านหลังนี้ (เพราะในการประมูลบ้านจากกรมบังคับคดีเหล่านี้ จะไม่มีเล่มทะเบียนบ้านมาให้เราครับ แต่ถ้าเราเป็นเจ้าของแล้วเราสามารถไปคัดทำเล่มใหม่ได้)
หน้าตาหนังสือ “คำขอขายตามคำสั่งศาล” จะเป็นประมาณนี้ครับ
หลังจากนั้นเราก็นำสำเนาหนังสือนี้ไปที่อำเภอครับเพื่อขอทำเล่มทะเบียนบ้านตัวจริง ใช้เวลาไม่นาน(ถ้าคนไม่เยอะ) เราก็จะได้เล่มทะเบียนบ้านก็เป็นอันเสร็จพิธี … นี่คือขั้นตอนโดยรวมของการประมูลบ้านจากกรมบังคับคดีเหมือนจะยุ่งยากซับซ้อนครับ แต่จริงแล้วไม่ยุ่งยากอย่างที่คิดครับ
ผมมองว่า กระบวนการ วิธีการ หรือ ขั้นตอนต่างๆเหล่านี้ไม่ยากครับ เพราะ มันเป็นขั้นตอนที่เราต้องดำเนินการ ถ้าเราไม่ทราบว่าเราต้องทำอย่างไร เราสามารถสอบถามจากเจ้าหน้าที่จากกรมบังคับคดีหรือกรมที่ดินได้ตลอด แต่ผมมองว่าสิ่งที่ยากที่สุดของการลงทุนลักษณะนี้คือ การวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน ไม่ว่าจะเป็น การประเมินราคาบ้าน พิจารณาสภาพแวดล้อมของบ้าน พิจารณาแนวโน้มที่ดิน และพิจารณาอีกหลายๆปัจจัย ที่จะทำให้เรากำหนดราคาสูงสุดในการเข้าสู้ประมูลได้แม่นยำ ปลอดภัย และ มีกำไรมากที่สุด นี่ต่างหากที่ยากที่สุดของการลงทุน
บ้านทาว์นเฮ้าส์หลังนี้มีกำไรแน่นอนครับ เพราะราคาตลาดอยู่ที่ 800,000 บาทขึ้นไป แต่อย่างที่เรียนไว้ตั้งแต่ตอนต้นผมคงไม่ประสงค์ที่จะทำกำไรจากบ้านหลังนี้ เพราะ ผมจะขายให้น้าสาวของผมเอง ซึ่งผมเองก็ยินดีมากๆที่น้าสาวจะซื้อบ้านหลังเก็บไว้
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะสร้างประโยชน์ให้แก่ทุกๆท่านได้นะครับ
ขอให้ทุกๆท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ