อยู่กับหน้าจอมากไประวัง!! เห็นหยากไย่ลอยไปลอยมา สัญญาณโรควุ้นในตาเสื่อม!!





 

เห็นหยากไย่ลอยไปลอยมา หรือเห็นเงาดำเคลื่อนที่อยู่ในตา สัญญาณนี้บ่งชี้ว่าวุ้นในตาเสื่อม และหากละเลยไม่สนใจสัญญาณเตือนอาจตาดับ มองไม่ชัดถาวร !

ถ้ามีประสบการณ์เห็นหยากไย่ลอยไปลอยมา หรือเงาขาวขุ่น เงาดำ ๆ ลอยบังในตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง อาการแบบนี้เกิดขึ้นกับใครก็คงกังวลใจ และอาจคิดไปไกลว่าดวงตาเรามีปัญหาหรือเปล่า เส้นขาว ๆ เงาขาว ๆ ที่เคลื่อนที่อยู่ในตาบ่อย ๆ เหล่านี้จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพดวงตาเรามากน้อยแค่ไหน ใครเกิดอาการดังที่ว่า โดยเฉพาะคนทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือคนที่ใช้สายตากับสมาร์ทโฟนแทบทุกวัน ลองมารู้จักโรควุ้นในตาเสื่อมกันดีกว่าค่ะ

 

 

วุ้นในตาเสื่อม คืออะไร

          วุ้นในตาเสื่อม ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Vitreous Degeneration วุ้นในตาเสื่อมจัดเป็นภาวะความเสื่อมของวุ้นตา (Vitreous) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของลูกตา โดยวุ้นตาจะมีลักษณะเป็นเจลคล้ายไข่ขาว เป็นเนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ กระบอกตา หลังเลนส์ตาด้านใน และในส่วนที่ยึดติดกับผิวของจอตาก็จะมีวุ้นตาอยู่มากเช่นกัน

          ปกติแล้ววุ้นตาจะมีสภาพเป็นเจลอยู่ภายในลูกตาอย่างนั้น แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น เข้าสู่วัย 50 ปีขึ้นไป วุ้นตาจะค่อย ๆ เสื่อมตัวลงและมีลักษณะเหลวเป็นน้ำ ต่อมาวุ้นในตาที่เสื่อมก็จะหดตัวและลอกตัวจากจอตา เกิดเป็นตะกอนขุ่น หรือเป็นเส้นขาว ๆ เงาขุ่น ๆ ที่ลอยไปลอยมาอยู่ในตาเรานั่นเอง

วุ้นในตาเสื่อมเกิดจากอะไรได้บ้าง

          ไม่ต้องรอให้อายุมาก บางคนก็มีอาการเห็นหยากไย่ในตากันแล้ว ทั้งที่อายุยังไม่ถึง 30 ปีด้วยซ้ำ ทำให้เกิดข้อสงสัยกันว่า วุ้นในตาเสื่อม สาเหตุเกิดจากอะไร…มาดูกันเลย

          – อายุมากขึ้น (มักจะพบภาวะวุ้นในตาเสื่อมในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป)

          – เคยได้รับการกระทบกระเทือนที่ตาอย่างรุนแรง ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมลงในส่วนของน้ำวุ้นลูกตาขึ้นมาได้

          – มีประวัติการผ่าตัดดวงตา ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้น้ำวุ้นลูกตาเสื่อมได้

          – ภาวะสายตาสั้น เป็นสาเหตุให้น้ำวุ้นลูกตาเสื่อมได้เช่นกัน โดยเฉพาะในคนที่มีสายตาสั้นค่อนข้างมาก ก็อาจเป็นวุ้นในตาเสื่อมได้ตั้งแต่อายุยังน้อย (10 ขวบขึ้นไป)

          นอกจากนี้ อาการมองเห็นจุดสีดำลอยไปลอยมาในดวงตา อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น ภาวะเลือดออกในวุ้นตา หรือม่านตาอักเสบ เป็นต้น 

วุ้นในตาเสื่อม อาการเป็นอย่างไร

          เราสามารถเช็กอาการวุ้นในตาเสื่อมได้จากอาการดังต่อไปนี้

          – เห็นเป็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปลอยมา โดยเฉพาะเวลากลอกตา หรือมองที่ผนังสีขาว ท้องฟ้า รวมไปถึงพื้นผิวที่มีสีเรียบ และในที่มีแสงสว่างมาก

          – บางคนเห็นคล้าย ๆ แสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูป หรือเห็นแสงฟ้าแลบในตา โดยเฉพาะตอนอยู่ในที่มืด หรือในเวลากลางคืน

          อย่างไรก็ตาม อาการเห็นหยากไย่ในตาจะเห็นได้บ่อยในช่วงแรก ๆ ที่วุ้นในตาเสื่อม แต่ต่อจากนั้นเราจะเห็นหยากไย่ในตาลดน้อยลง เนื่องจากสมองจะเกิดการเรียนรู้และสร้างความคุ้นชินจนกระทั่งเลิกสนใจไปในที่สุด 

          นอกจากนี้อาการเห็นใยแมงมุมในตาจะลดลงและหายไปเมื่อวุ้นตาร่อนตัวออกจากจอตาอย่างสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ดี หากเห็นใยแมงมุมหรือจุดลอยไปลอยมาในดวงตา ควรให้จักษุแพทย์ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดอีกทีนะคะ
 

วุ้นในตาเสื่อม รักษาได้ไหม 

         ภาวะวุ้นในตาเสื่อมไม่จำเป็นต้องทำการรักษา เพราะจริง ๆ แล้ว วุ้นในตาไม่ได้มีหน้าที่สำคัญอะไรในการมองเห็น เมื่อเกิดภาวะวุ้นในตาเสื่อมจึงไม่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นมากเท่าไร เพียงแต่อาจสร้างความรำคาญให้เราเท่านั้น ดังนั้นการรักษาโรควุ้นในตาเสื่อมจึงทำแค่เพียงงดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของดวงตาในช่วงที่มีอาการ เช่น การออกกำลังกาย เป็นต้น  

วุ้นในตาเสื่อม อันตรายไหม

          วุ้นในตาเสื่อมไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อการมองเห็น ผู้ป่วยยังสามารถใช้สายตาและทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่ในกรณีที่จักษุแพทย์ตรวจพบรอยฉีกขาดที่จอตา เคสนี้แพทย์จะทำการรักษาด้วยเลเซอร์เพื่อปิดรอยฉีกขาดนั้น แต่ถ้าไม่มีรอยฉีกขาดที่จอตา แพทย์จะนัดตรวจตามความเหมาะสม ซึ่งการรักษาก็จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละราย 

วุ้นในตาเสื่อม เสี่ยงตาบอดหรือไม่

          แม้การมองเห็นหยากไย่ลอยไปลอยมาจะเป็นเพียงความน่ารำคาญอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าวุ้นในลูกตาเสื่อมมาก ๆ น้ำในวุ้นลูกตาที่เคลื่อนไปด้านหลังของจอประสาทตา อาจดึงให้วุ้นลูกตาด้านหน้ามีการขยับ จนดึงรั้งจอประสาทตา ทำให้เราเห็นแสงแฟลชหรือแสงฟ้าแลบในตาขณะอยู่ในที่มืด ๆ หรือที่ที่มีแสงสว่างน้อย 

          ทว่าหากจอประสาทตาถูกวุ้นในลูกตาดึงแรงมากจนเกิดการฉีกขาด ภาวะจอประสาทตาฉีกขาดจะทำให้หลอดเลือดที่พาดผ่านจอประสาทตาบริเวณนั้น ๆ ฉีกขาดไปด้วย ทำให้เราเห็นจุดดำ ๆ จากเลือดที่ออกมา หรือเห็นเป็นเส้นแดง ๆ บังในตาหรือมีหยากไย่ลอยในตา 

          นอกจากนี้เมื่อจอประสาทตาเกิดฉีกขาด น้ำของวุ้นลูกตาที่เสื่อมก็อาจจะซึมผ่านรูฉีกขาดดังกล่าว และเซาะให้จอประสาทตาลอกออกจากผนังลูกตา โดยจุดที่ประสาทตาลอก จะสูญเสียการมองเห็นในส่วนนั้นไปด้วย ทำให้มีอาการเห็นแถบทึบคล้ายมีม่านบังดวงตาอยู่ในบางส่วน และหากเกิดการลอกของจอประสาทตามากขึ้น ก็จะเห็นแถบทึบในดวงตาขยายใหญ่ขึ้นจนบดบังการมองเห็นไปด้วย ซึ่งในเคสแบบนี้ก็ควรต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด แต่หลังการผ่าตัดแล้วก็อาจจะมองเห็นได้ไม่ดีเหมือนเดิมด้วยนะคะ

          แม้เราจะไม่สามารถป้องกันโรควุ้นในตาเสื่อมได้ แต่การเฝ้าสังเกตความผิดปกติของตัวเราเองอยู่เสมอ และไม่ละเลยความผิดปกตินั้น ก็น่าจะเป็นวิธีที่ช่วยลดความรุนแรงของโรควุ้นในตาเสื่อม รวมไปถึงโรคอื่น ๆ ได้มากขึ้นด้วยนะคะ

***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 14 มีนาคม 2561

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
รามา ชาแนล

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: