แก้ปัญหาเครียดแต่เด็ก!! เล็งชงกฎหมาย ‘ห้ามสอบเข้าเรียน ป.1’ หวังลดแรงกดดันเด็กเล็ก





 

สกู๊ปโดย : โพสต์ทูเดย์

เวลาของการสอบ “เอนทรานซ์” ฟันน้ำนมสำหรับหนูๆ ในวัย 5-6 ขวบ ที่เพิ่งจบอนุบาล 3 เตรียมเข้า ป.1 ก็ย่างกรายเข้ามาถึง เพราะในวันนี้ (21 มี.ค.) โรงเรียนระดับประถมศึกษาชื่อดังของเมืองไทย ทั้งโรงเรียนในเครือสาธิตแห่งต่างๆ ไม่ว่าสาธิตฯ เกษตรศาสตร์ สาธิตฯ ศรีนครินทรวิโรฒ สาธิตฯ จุฬาลงกรณ์ จะเปิดสอบแข่งขันวัดความรู้ของเหล่าเด็กๆ เพื่อหาคนที่เก่งที่สุดเข้าไปเรียนดังที่พ่อแม่ผู้ปกครองปรารถนา

ยอดตัวเลขเจ้าหนูฟันน้ำนมเกือบหมื่นต้องเบียดเสียดเข้าโรงเรียนสาธิตดังเหล่านี้ที่มีโควตาเข้าได้เพียงหยิบมือไม่กี่ร้อยคน

พ่อแม่จำนวนไม่น้อยฟูมฟักและตั้งความหวังว่าบุตรหลานจะสามารถพิชิตสนามสอบเหล่านี้ได้ โดยอัดความรู้ให้ลูกตั้งแต่อนุบาล 2 หลายคนส่งลูกเข้าโรงเรียนกวดวิชาชื่อดัง ค่าเรียนเป็นหมื่น เรียนทั้งเสาร์ อาทิตย์ และเลิกเรียนตอนเย็น ไม่ต่างจากเด็กโตสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทว่าการผลักดัน ยัดเยียดความรู้วิชาการให้เด็กก่อนวัยมากจนเกินไป ทำให้ไม่น้อยมีเสียงร้องไห้ ต่อต้าน เกิดปมในอนาคตกับเด็ก ที่สำคัญส่งผลต่อกระบวนการทางความคิดในสมองส่วนหน้า ที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก การกระทำ ที่ใช้บริหารจัดการในชีวิตเรื่องต่างๆ ของเด็กเอง

รศ.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก ในคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา ให้ความเห็นถึงการสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนชั้นป.1 ว่า ขณะนี้ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ปฐมวัย เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย โดยขั้นตอนต่อจากนี้จะนำร่างฯ เสนอให้กับคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษาได้พิจารณาเนื้อหา และหากได้ข้อสรุปแล้วเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อรับฟังข้อคิดเห็น ก่อนจะส่งไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ปฐมวัย มีมาตราหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญเป็นอย่างมาก คือ ระบุห้ามไม่ให้มีการสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนชั้น ป.1 ในโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อป้องกันเด็กและลดการสร้างความกดดันในเด็กปฐมวัย ที่มีอายุตั้งแต่0 ขวบไปจนถึง 8 ขวบ และจะเป็นทางออกสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กในอนาคต

อย่างไรก็ตาม มาตราดังกล่าวยังคงมีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายและมีประเด็นที่ต้องโต้เถียงเพื่อให้สะเด็ดน้ำกันอยู่ เช่น แม้เราจะตระหนักดีว่าการสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนต่างๆ ของเด็กชั้นอนุบาลที่จะเรียนต่อในชั้น ป.1 มีผลกระทบกับเด็กอย่างมาก รวมถึงผลกระทบต่อรูปแบบการเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาลที่ต้องผลักดันให้เด็กเก่งด้านวิชาการตั้งแต่เล็ก และขัดกับการพัฒนาที่เน้นการสร้างสรรค์จินตนาการมากกว่า แต่การออกกฎหมายไม่ให้มีการสอบแข่งขันเลย ก็หวั่นว่าจะเกิดช่องโหว่ที่กระทบกับผู้ปกครอง และเมื่อไม่มีกฎหมายบังคับโรงเรียนในการรับเด็กเข้าเรียน ก็จะเป็นช่องให้เด็กที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีเงินจำนวนมาก สามารถการันตีที่นั่งเรียนให้กับเด็กได้

“ยกตัวอย่างว่าโรงเรียนแห่งหนึ่งรับเด็ก ป.1 ได้ 200 คน ก็อาจจะหาทางคัดเลือกแค่ 100 คน อีก 100 คนที่เหลือก็กันไว้สำหรับเด็กที่พ่อแม่บริจาคให้กับโรงเรียน ตรงนี้พ่อแม่ผู้ปกครองก็กังวลว่าลูกหลานที่เก่งกว่า แต่ทุนทรัพย์ไม่พอ ก็ไม่อาจมีที่เรียนในโรงเรียนดีๆ ได้”รศ.ดารณี ให้ภาพตัวอย่าง

รศ.ดารณี ในฐานะอดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตฯ เกษตรศาสตร์ และสอนอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้มานานกว่า 30 ปี ย้ำอีกว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.ปฐมวัย จะมีมาตราที่ห้ามสอบ พร้อมกับบทลงโทษว่าหากโรงเรียนใดฝ่าฝืนเปิดสอบแข่งขัน จะมีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท แต่ก็มีอีกเสียงจากคณะกรรมการเห็นว่า หากฝ่าฝืนเกิน 3 ครั้งก็ควรจะยึดใบอนุญาตโรงเรียนไปเลย ซึ่งบางส่วนก็เห็นว่าเหมาะสม และอีกบางส่วนก็เห็นว่ารุนแรงเกินไป แต่ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะต้องผ่านการระดมความคิดเห็นกันอีก ก่อนจะเสร็จอย่างสมบูรณ์ ซึ่งขณะนี้ยังคงเป็นเพียงแนวทางเท่านั้น

รศ.ดารณี กล่าวว่า แม้การเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัยจะมีอิทธิพลต่ออนาคตของเด็กอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มากเท่ากับเด็กในวัยรุ่นหรือวัยโต ที่เหมาะสมจะเกิดการผลักดันให้แข่งขันมากกว่า มุมมองผู้ปกครองตรงนี้ต้องเปลี่ยน ไม่จำเป็นว่าลูกหลานจะต้องเข้าเรียนในโรงเรียนสาธิตต่างๆ หรือโรงเรียนดังๆ ทั้งหลาย หากแต่การเรียนใกล้บ้าน โรงเรียนที่มีสัดส่วนระหว่างครูกับนักเรียนที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่ามากระจุกในห้องเรียนถึง 50-60 คน เด็กจะได้รับการใส่ใจที่มากกว่า และมีความสุขมากกว่าการต้องไปเรียนที่ไกลๆ เพราะผู้ปกครองต้องการ

“ไปเรียนโรงเรียนดังๆ ที่แข่งขันกันแต่เรื่องของวิชาการมากกว่าการเล่นเพื่อเรียนรู้ เด็กที่ยังไม่พร้อมแต่เข้าไปเรียนได้ก็ต้องสอบตก และถามว่าเด็กจะมีความสุขหรือไม่ โรงเรียนที่ดังๆ ทั้งหลายก็ไม่ได้การันตีความสุขให้กับเด็ก เด็กสมควรที่จะต้องมารับความกดดันขนาดนี้หรือไม่” รศ.ดารณี ตั้งคำถาม

รองประธานอนุกรรมการเด็กเล็กฯ กล่าวว่า แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะลำพังแค่เพียงกฎหมายมาบังคับใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กต้องเข้าสู่สนามสอบแข่งขันอาจไม่เพียงพอ และแม้โรงเรียนจะเป็นอีกองค์ประกอบที่สร้างความกดดันให้กับเด็กด้วยการสอบแข่งขันเข้าเรียน แต่อีกด้านก็อยู่ที่พ่อแม่ด้วยที่ให้ลูกไปสอบทั้งๆ ที่ไม่มีความพร้อม แต่คำถามที่ว่า โรงเรียนแต่ละแห่งอาจมีมาตรฐานที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้พ่อแม่ต้องเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกนั้น เรื่องนี้ก็เป็นความจริง และเป็นไปไม่ได้ที่โรงเรียนทุกแห่งจะมีมาตรฐานเหมือนกัน แต่อย่างน้อยที่สุดรัฐก็ต้องทำให้มีมาตรฐานที่เหมาะสม

“ประเด็นคือเราจะทำอย่างไรไม่ให้มีการสอบคัดเลือก หรือประเมินสมรรถภาพของเด็ก ต้องหาทางไม่ให้เด็กต้องมาเป็นผู้รับผิดชอบ พ่อแม่จะต้องรับผิดชอบแทน คำถามคือรูปแบบการเอาเด็กเข้าเรียนจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มาแตะต้องเด็กได้ ซึ่งต้องมาดูว่าทางออกจะเป็นอย่างไร” รศ.ดารณี ทิ้งท้าย

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: