19 มี.ค. 2561 คือวันที่ พัชรมณฑ์ เสวะนา มหาบัณฑิตด้านนิติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเพื่อรับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นกรณีพิเศษ
"ตื่นเต้นมาก ไม่คิดว่าตัวเองมาถึงจุดนี้ได้ เราก็คิดอยากจะร้องไห้ ได้เข้าเฝ้าพระองค์ ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน"
อาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่ หญิงวัย 37 ปี สามารจบการศึกษาด้านปริญญาโท จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ พัชรมณฑ์ คือ หญิงที่ต้องใช้เท้าแทนมือในการหยิบจับสิ่งของ และขีดเขียนมาตั้งแต่เด็ก
"คุณแม่เป็นเบาหวานตอนท้อง แล้วท่านก็ไปฉีดยา หมอบอกว่ามีตัวยาตัวหนึ่งที่ทำให้เด็กในท้องพิการ" เธอเล่าให้บีบีซีไทยฟัง
เป้าหมายต่อไปของเธอ คือ อาชีพทนายความ หรือเป็นอาจารย์สอนด้านกฎหมาย
ขณะสอนวิชาสังคมที่โรงเรียนห้วยลึก
ความพิการนี่เองที่ทำให้เธอไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเหมือนเด็กอื่น ๆ เพราะเมื่อแม่พาไปฝากเข้าโรงเรียนในตัวเมืองอุดรธานีเมื่ออายุได้ราว 7-8 ขวบ ทุกแห่งก็พากันปฏิเสธไม่ยอมรับเธอเข้าเรียนหนังสือ "เขาบอกว่าจะไปเป็นภาระให้กับครูกับโรงเรียน"
การศึกษาที่เธอได้รับนั้นมาจากแม่ ผู้ที่เปิดร้านขายของชำในตำบลแห่งหนึ่งของหนองบัวลำภู ซึ่งในเวลานั้นยังขึ้นอยู่กับอุดรธานี "แม่เอาปากกาดินสอมาให้หัดเขียนด้วยเท้ามาแต่เล็ก" พัชรมณฑ์เล่า นอกจากนี้ก็ยังมีครูซึ่งอยู่บ้านใกล้เคียงกันที่มาช่วยสอนอีกด้วย
เธอต้องรอจนถึงอายุ 23 ปีจึงได้เข้าโรงเรียนเมื่อมีกฎหมายออกมาให้โรงเรียนรับเด็กพิการเรียนร่วมกับเด็กปกติ เธอจึงไปสมัครเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนบ้านห้วยลึก อ.เมืองหนองบัวลำภู ซึ่งเธอใช้เวลา 2 ปีในการเรียนชั้น ป.1-6 ร่วมกับเด็กนักเรียนอื่น ๆ จากนั้นก็ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ในชั้นมัธยมอีกหกปีจนจบตามหลักสูตร
เมื่อจบมัธยมศึกษา พัชรมณฑ์ยังคงตามความฝันด้านการศึกษาของเธอต่อไป โดยสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตหนองบัวลำภู โดยเลือกเรียนวิชานิติศาสตร์ตามความต้องการของพี่สาวคนโตที่เสียชีวิตไปแล้ว จากนั้นพัชรมณฑ์ก็เริ่มเห็นว่าการรู้กฎหมายมีประโยชน์ และนำไปใช้ได้จริง ทำให้เธอมุเรียนปริญญาโทต่อไป
พัชรมณฑ์และพิมพ์วลัญช์ที่สำนักงานเนติบัณฑิตสภาในพระบรมราชูปถัมภ์
"ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน"
แม้ว่าตอนเรียนปริญญาตรีของม. รามคำแหงนั้นไม่ต้องเข้าห้องเรียน แต่เธอก็ต้องพยายามอ่านหนังสือให้ทันนักศึกษาคนอื่น ๆ รวมทั้งมีปัญหาจากการที่ต้องใช้เท้าเขียนหนังสือ
"ใช้เท้าเขียน เขียนช้า มีปัญหาตอนทำข้อสอบ ทำไม่ทันเวลา บางทีก็ตกบ้าง เขียนไม่ทัน หมดเวลาก่อน" พัชรมณฑ์เล่า
เมื่อบีบีซีไทยถามว่าทำไมไม่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยหรือเพราะพิมพ์ดีดไม่ได้ ซึ่งคำตอบก็คือใช้เท้าพิมพ์ดีดและใช้คอมพิวเตอร์ได้ แต่ "มันไม่สะดวกเหมือนเขียนเอง" บางครั้งอาจารย์ที่อยากช่วยก็เสนอให้เธอบอกคำตอบแล้วก็คนอื่นช่วยเขียนให้ ซึ่งมหาบัณฑิตหมาด ๆ ก็บอกว่าไม่อยากรบกวนคนอื่นมากนัก
คำพูดนี้สอดคล้องกับสิ่งที่เบญจมาภรณ์ ทองลาด นักวิชาการศึกษาปฏิบัติ ที่ดูแลโครงการปริญญาโทนิติศาสตร์ของรามคำแหงที่หนองบัวลำภูเล่าเมื่อบีบีซีไทยโทรไปถามเพื่อขอให้ช่วยอธิบายถึงการเรียนของพัชรมณฑ์
เบญจมาภรณ์บอกว่าพัชรมณฑ์พยายามที่จะพึ่งตัวเองให้มากที่สุด "น้องบอกว่าทำทุกสิ่งได้ด้วยตัวเองหมด อาบน้ำ สระผม มีอย่างเดียวที่ทำไม่ได้เลยก็คือ รวบผมเพื่อจะมัด ทำด้วยตัวเองไม่ได้" เบญจมาภรณ์เล่าด้วยความประทับใจ
พัชรมณฑ์ไม่ค่อยขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่หรือว่าเพื่อนนักศึกษาด้วยกันมากนัก แต่ก็มีคำขอร้องเล็ก ๆ น้อย ๆ จากหญิงสาวใจสู้คนนี้เพื่อให้ชีวิตของเธอง่ายขึ้นบ้าง
"ที่ขอก็เช่น ขอให้ทำให้ประตูห้องเรียนที่น้องเข้าเรียนประจำให้เปลี่ยนจากลูกบิดที่เป็นปุ่ม มาเป็นประตูที่เปิดได้ตามแรงดันของร่างกาย ไม่ต้องใช้มือหมุนลูกบิด หรือขอใช้เก้าอี้สองตัวตอนเรียนหนังสือ อีกตัวหนึ่งนั่งและอีกตัวเอาไว้สำหรับเขียนหนังสือ"
คนขวาคือพิมพ์วลัญช์ พี่สาวที่คอยให้กำลังใจและดูแลตลอดมา
นอกจากนี้ทางโครงการปริญญาโทฯ ก็ยังได้ขยายเวลาสอบให้กับพัชรมณฑ์มากกว่านักศึกษาคนอื่นอีกครึ่งชั่วโมง เพื่อให้สามารถทำข้อสอบได้ทัน
เบญจมาภรณ์บอกว่าพัชรมณฑ์เป็นคนที่มีความขยันหมั่นเพียรอย่างมาก ตั้งแต่เรียนปริญญาโทมาสองปี พัชรมณฑ์ขาดเรียนอยู่แค่สองครั้งเท่านั้น เพราะมีธุระจำเป็น และเธอก็เป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส คุยได้กับทุกคน ไม่คิดว่าตัวเองเป็นปมด้อย
ครูผู้ใช้ "เท้า"วาดอนาคตให้เด็ก ๆ
ในระหว่างที่เรียนปริญญาโทอยู่นั้น พัชรมณฑ์ได้รับคัดเลือกจากมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านต่าง ๆ แก่คนพิการ ให้ได้ทำงานเป็นครูสอนวิชาสังคมที่โรงเรียนห้วยลึกในปี 2559 โดยมีบริษัท มาซูม่า (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนการจ้างงานเชิงสังคมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ม.33-35 ที่มีเจตนารมณ์ให้คนพิการได้มีโอกาสใช้ความสามารถในการมีรายได้และพึ่งพาตนเอง ลดภาระของครอบครัวและสังคม โดยที่เธอได้เงินประจำเดือนละ 9,125 บาท
ทางมูลนิธิฯ ให้คำจำกัดความแก่ครูพัชรมณฑ์ไว้ว่าเป็นครูผู้ใช้ "เท้า"วาดอนาคตให้เด็ก ๆ
เธอเองก็มีความภาคภูมิใจมาก "ก็ได้แบ่งเบาภาระของพี่สาวคนกลางที่ดูแลส่งเสียให้เรียนมาตลอดไปได้บ้าง"
พี่สาวในที่นี้ก็คือ พิมพ์วลัญช์ วัย 42 ปี ซึ่งรับราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งคอยดูแลพัชรมณฑ์มาตลอดตั้งแต่ที่แม่และพี่สาวคนโตเสียชีวิตไป พิมพ์วลัญช์เล่าทางโทรศัพท์ว่าทางครอบครัวเน้นให้น้องสาวดำเนินชีวิตได้เหมือนคนปกติ เมื่อตอนเป็นเด็กก็สามารถออกไปเล่นกับวิ่งเล่นกับเพื่อนพี่น้องได้ รวมทั้งไปว่ายน้ำตามลำคลองอย่างคล่องแคล่ว "จนที่บ้านพูดเล่นกันว่าจะส่งไปแข่งเฟสปิกเกมได้แล้ว"
เธอพูดถึงน้องสาวอย่างน่ารักว่า "น้องก็เอาแต่ใจบ้างนิดหน่อยเป็นธรรมดาของลูกสาวคนเล็ก แต่เดี๋ยวนี้โตแล้วไม่เอาแต่ใจแล้ว ซึ่งก็ต้องขอบคุณปริญญาโทนี่แหละที่ทำให้น้องเติบโตมากขึ้น" และก็ย้ำด้วยเสียงดังฟังชัด "ภูมิใจในตัวเขามาก ภูมิใจที่เรียนจบเหมือนคนทั่วไป แม้จะยากลำบากกว่าคนธรรมดาอย่างมาก"
ขอเพียงแค่โอกาส
เมื่อจบปริญญาตรีใหม่ ๆ พัชรมณฑ์ได้พยายามไปสมัครงานหลายแห่งในตัวจังหวัดหนองบัวลำภู แต่ก็ประสบกับความผิดหวังเพราะทุกที่ปฏิเสธที่จะรับเธอเข้าทำงาน
"ก็เสียใจบ้าง มันขึ้นอยู่กับทัศนคติของคนอื่นที่มองคนพิการ ที่ยังคงคิดว่าเราทำอะไรให้เขาไม่ได้" เธอพูด "บางทีก็ดูเหมือนเขาจะเปิดโอกาสให้ มองเราอย่างเท่าเทียม แต่หลายครั้งเมื่อเข้าไปสัมผัสก็รู้สึกว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น"
เมื่อบีบีซีไทยถามว่าเมื่อจบปริญญาโทแล้วมีความมั่นใจมากกว่าเดิมแค่ไหนว่าจะได้รับโอกาส พัชรมณฑ์ตอบว่า "ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับการเปิดใจของผู้คนในสังคมต่อการให้โอกาสแก่คนพิการ เราก็พยายามแล้วอย่างที่ดีที่สุดของเราแล้ว เสียใจก็มีบ้างบางครั้ง แต่ไม่ท้อ ชีวิตเราต้องเดินต่อไป เมื่อมาจนถึงขั้นนี้ก็ไม่มีถอยหลังไม่มีหวาดกลัวอีกต่อไปแล้ว" เธอสรุปท้ายที่สุด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ