ขสมก.ทุ่ม 4.7 พันล้าน เดินหน้าติดตั้งระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ-โละกระเป๋ารถเมล์ รวม3ปี 3,774คน





 

นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานกก.บริหารกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการขสมก. (บอร์ด) ยังไม่ได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูตามที่ ขสมก. เสนอ โดยบอร์ดขอให้ปรับปรุงรายละเอียดอีกเล็กน้อย ก่อนเสนอให้กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามลำดับ แผนฟื้นฟูจะมีโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพและลดต้นทุนการเก็บค่าโดยสาร นำระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ หรืออี-ทิกเก็ต มาใช้แทนการใช้พนักงานเก็บค่าโดยสาร ปัจจุบัน ขสมก. มีพนักงานรวม 1.3 หมื่นคน และมีพนักงาน 4.9 คนต่อรถ 1 คัน ในอนาคตจะลดลงเหลือ 2.7 คนต่อรถเมล์ 1 คัน เบื้องต้นจะมีโครงการเออร์ลี่รีไทร์ พนักงานเก็บค่าโดยสารแบบสมัครใจ ระหว่างปี 2561-2563

 

 

โครงการจัดหารถโดยสารประจำทางที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (รถเมล์เอ็นจีวี) 489 คัน นั้น การตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวี 100 คันแรกไม่มีปัญหาใดๆ และจะเริ่มให้บริการจริงในวันที่ 27 มี.ค. ในเขตการเดินรถที่ 5 จำนวน 5 เส้นทางคือ สาย 20 ป้อมพระจุลเกล้า-ท่าน้ำดินแดง สาย 21 วัดคู่สร้าง-จุฬาสาย105 มหาชัยเมืองใหม่-คลองสาน สาย 148 พระประแดง-หมอชิต และสาย 140 แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สำหรับโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (อี-ทิกเก็ต) บนรถโดยสารประจำทาง 2,600 คัน 1,665 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปีนั้น ขณะนี้ติดตั้งอี-ทิกเก็ต 800 คันแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจรับ

นายณัฐชาติกล่าวถึงเหตุผลที่ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ด ขสมก. เนื่องจากได้ทำภาระกิจเสร็จแล้ว 1.การจัดหารถเมล์เอ็นจีวี 2.การผลักดันแผนฟื้นฟู 3.การสรรหาผู้อำนวยการ ขสมก. ได้เสนอเรื่องไปแล้ว 4. การแก้ปัญหาหนี้สินของพนักงาน ที่บอร์ดเห็นชอบให้ธนาคารเข้ามารีไฟแนนซ์แล้ว

นางพนิดา ทองสุข ผู้ช่วยผอ.ฝ่ายบริหาร ขสมก. กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมงบประมาณ 4,774 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการปรับลดพนักงานเก็บค่าโดยสาร และพนักงานตรวจบัตรโดยสาร 3,774 คน เริ่มทอยปรับลดระหว่างปี 2561-63 แบ่งเป็น ปี 2561 จำนวน 401 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 4,328 ล้านบาท และปี 2563 จำนวน 45 ล้านบาท ตามแผนฟื้นฟู จะใช้ระบบอี-ทิกเก็ต ใช้เต็มรูปแบบในปี 2562 จึงต้องปรับลดพนักงานเก็บค่าโดยสาร

นอกจากนี้ ขสมก. ยังได้ส่งหนังสือไปยังบริษัท ช ทวี ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ ขสมก. วงเงินรวม 22 ล้านบาท กรณีที่ระบบอี-ทิกเก็ต ที่ติดตั้งบนรถเมล์มีปัญหา ไม่สามารถรองรับการใช้บัตรสวัสดิการของรัฐให้กับผู้โดยสารที่มาใช้บริการได้ ขสมก. ต้องแก้ปัญหาด้วยการสำรองจ่าย ด้วยการฉีกตั๋วให้ผู้โดยสารที่ใช้บัตรสวัสดิการไปก่อน เริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย. ที่ผ่านมา จนมาถึงเดือนมี.ค. เป็นวงเงินกว่า 21 ล้านบาทแล้วที่จ่ายไป

ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: