พนักงานเก็บค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก.เกิดความกังวลถึงอนาคตการทำงาน ว่าหากนำระบบอีทิคเก็ตมาใช้แล้ว ต้องปลดพนักงานออกทั้งหมดจะเป็นอย่างไร เพราะส่วนใหญ่มีปัญหาหนี้สินและไม่มีเงินเก็บ
เป็นเวลา 17 ปีแล้วที่ น.ส.ปราณี ชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่พนักงานเก็บค่าโดยสาร ทุกวันจะต้องทำงานบนรถเมล์สาย 195 อู่คลองเตย-บางปะกอก ไม่ต่ำกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งระยะเวลาในการทำงานขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร อาชีพที่เคยคิดว่ามั่นคง
วันนี้ปราณียอมรับว่ามีความกังวล เพราะทุกวันนี้เงินเดือนแทบไม่พอมาจุนเจือครอบครัว และยังมีหนี้ หากจะออกไปค้าขายก็ไม่มีเงินทุน แม้จะมีข่าวมาก่อนหน้านี้แล้วว่าองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. จะใช้ระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีทิคเก็ต เข้ามาใช้งานบนรถโดยสารประจำทาง แทนที่พนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งขณะนี้กระบวนการอยู่ระหว่างการประมูลติดตั้ง
“ให้รถมาก่อนไหมแล้วค่อยมาโละพนักงาน มีรถไหม คุณจะใช้ระบบนี้จริงไหม แน่นอนหรือเปล่า ชัวร์ไหม ไม่ใช่พอโละพนักงานแล้ว กลับไม่มีรถ ซึ่งตอนนี้เรายังไม่เห็นรถ ยังไม่เห็นความชัดเจนอะไรเลย ได้ยินแต่ว่าจะโละพนักงานเท่านั้นพนักงานกลัวกันมากเลย บางคนอายุเยอะแล้ว อายุ 40 ปี จะไปหางานใหม่ก็ไม่ใช่แล้ว จะไปทำงานอะไร ถ้าจะประกอบธุรกิจส่วนตัวก็ต้องมีเงินก้อน มีเงินลงทุน ก็ต้องเดือดร้อนไปตามๆ กัน ” น.ส.ปราณี กล่าว
ไม่ต่างจาก น.ส.กัญฐณัฐ หิรัญสวัสดิ์ พนักงานเก็บค่าโดยสาร ขสมก. พนักงานเก็บค่าโดยสาร คนนี้ที่ยอมรับว่าความไม่ชัดเจนเรื่องนโยบายทำให้พนักงานเก็บค่าโดยสารทุกคนกังวลว่าจะต้องเปลี่ยนอาชีพ หรือเกษียณอายุก่อนกำหนด เพราะปีนี้อายุ 45 ปีแล้ว และเหลือเวลาอีกเพียง 15 ปีก็จะเกษียณอายุ หากจะต้องเปลี่ยนอาชีพก็ไม่สามารถทำได้ เพราะยังมีภาระหนี้สินและต้องดูแลครอบครัว
“มีหนี้สินหลายล้าน พนักงานทุกคนเหมือนกันหมด ส่วนมากก็จะมีภาระกัน ตอนนี้ขอข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะให้พนักงานทำอย่างไร จะให้เออร์ลี่ก็ยินดี แต่ขอให้มีเงินก้อนเพื่อไปเป็นทุนในการประกอบอาชีพต่อไป” น.ส.กัญฐณัฐ กล่าว
ปัจจุบันพนักงานเก็บค่าโดยสาร ขสมก.มีประมาณ 4,000 คน ซึ่งกรมสวัสดิการและคุ่มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เตรียมหารือกับพนักงานและฝ่ายบริหาร ขสมก.ในช่วงสัปดาห์นี้
ซึ่งเบื้องต้นจะหารือเรื่องแนวทางการแก้ปัญหา โดยการโอนย้ายให้ไปประกอบอาชีพอื่น เช่น พนักงานขับรถที่ยังขาดกว่า 1,000 อัตรา หากไม่สามารถเปลี่ยนตำแน่งได้ ก็อาจมีโครงการเกษียณอายุราชการก่อนหนำหนด และได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ