นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการติดตามผลการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่า เตรียมโครงการช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร ภายใต้วงเงิน 90,000 ล้านบาท โดยการปล่อยสินเชื่อ 30,000 บาท/ราย โดยวงเงินที่ให้จะใช้ ลดต้นทุนปัจจัยการผลิต โดยการซื้อ ปุ๋ย เมล็ด เมล็ดพันธุ์ สารเคมีปราบศัตรูพืช และน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับการเกษตร ผ่านแอพ เอ โมบาย จะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นอีก 2.3 ล้านราย ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อัตราดอกเบี้ยเกษตรกร 7% แต่เกษตรกรจ่าย 4% ที่เหลือรัฐบาลให้การอุดหนุน ซึ่งจะให้กรมการข้าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร เข้ามาดูแลการซื้อผ่านร้าน Q รวมทั้งเชิญตัวแทนจำหน่ายมาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาที่เป็นธรรม
ส่วนงบกลางปี ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้มาบริหาร 2.4 หมื่นล้านบาท บางส่วนยังต้องร่วมกับกระทรวงการคลังในการแก้ไจปัญหาคนจนเพื่อทำแผนพัฒนาอาชีพ กับผู้ที่ลงทะบียน 4 ล้านคน เบื้องต้นจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพจำนวน 2.5 ล้านราย หรือ 60% ของเกษตรกรที่ลงทะเบียนคนจนไว้กับกระทรวงการคลังจำนวน 3.96 ล้านราย ส่วนที่เหลือ 1.45 ล้านราย ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการจึงต้องสอบถามสาเหตุกันใหม่ ซึ่งการช่วยเหลือครั้งนี้จะเชื่อมโยงกับธ.ก.ส. ที่จัดงบประมาณไว้แล้ว 5 หมื่นล้านบาท ในกรณีที่เกษตรกรรายดังกล่าวไม่พร้อม จะใช้วิธีการให้เข้าร่วมกับกลุ่มที่มีทักษะแล้วเรียนรู้และสร้างอาชีพ ซึ่งธ.ก.ส. มีงบสนับสนุนในลักษณะนี้อีก 4.5 หมื่นล้านบาท
นายลักษณ์ ยังแจ้งให้ทราบถึงคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกในกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ที่มีรมว.เกษตรฯ เป็นประธานจะสิ้นสุดในวันที่ 30 พ.ค. นี้ ซึ่งหนี้สินที่มีอยู่ ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ตีความไม่ให้ กฟก. ซื้อหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่เป็นสมาชิกของธ.ก.ส. ดังนั้น จึงต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ และหาทางแก้ไขปัญหานี้ เบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯต้องการหารือกับธ.ก.ส. เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลืออื่นที่เป็นประโยชน์ใกล้เคียงกับแนวทางการซื้อหนี้คืนของ กฟก. โดยสมาชิกต้องการตัดหนี้สูญเงินต้นบางส่วน รวมทั้งต้องหาแนวทางฟื้นฟูสำนักงานกฟก. ตามการตั้งข้อสังเกตุของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้เร็วที่สุดด้วย
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ