สกู๊ปโดย : วิโรจน์ พูนสุวรรณ มติชนออนไลน์
ผู้ค้ำประกันได้เปรียบเจ้าหนี้
แต่ไหนแต่ไรมา ผู้ค้ำประกัน ย่อมเสียเปรียบเจ้าหนี้อยู่วันยังค่ำ
แต่เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เจ้าหนี้เป็นฝ่ายตั้งรับ มาตลอด โดยที่ผู้ค้ำประกันเป็นฝ่ายได้เปรียบมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกฎหมายใหม่ฉบับแล้ว ฉบับเล่า ต่างออกมาช่วยปลดเปลื้องผู้ค้ำประกันจากภาระหนี้อันหนักอึ้ง จนหนังสือค้ำประกันแทบจะไม่มีประโยชน์ต่อเจ้าหนี้ เพราะในทางปฏิบัติ เจ้าหนี้แทบจะสูญสิ้นสิทธิในการเรียกร้องเอาจากผู้ค้ำประกัน
ข้อใหญ่ใจความก็คือ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิใดๆในอดีต ที่จะบังคับให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ทันทีโดยตรง ต้องมุ่งบังคับชำระหนี้เอาจากลูกหนี้ก่อน ต่อเมื่อหมดหนทางจึงจะหันมาบังคับเอาจากผู้ค้ำประกันได้ ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นอาจใช้เวลาหลายปี จนสัญญาค้ำประกันเสื่อมค่า ไม่มีทรัพย์สินอะไรเหลือให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้ก็เป็นได้
แต่พึงสังเกตว่า ผู้ค้ำประกันที่ได้เปรียบเจ้าหนี้นี้ ยังจำกัดอยู่เฉพาะผู้ค้ำประกันที่เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น หาได้ครอบคลุมถึงผู้ค้ำประกันที่เป็นบริษัทไม่
กฎหมายล่าสุดที่ปกป้องผู้ค้ำประกันอย่างเต็มที่ได้แก่ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป
ประกาศฉบับนี้ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และกำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อต้องลงนามในคำเตือนสำหรับผู้ค้ำประกันด้วย ซึ่งแก้ไขใหม่หมดแตกต่างจากประกาศฉบับเดิมที่ยกเลิกไปก่อนหน้านี้แล้วโดยสิ้นเชิง ประกาศฉบับนี้ยังกำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อทำสัญญาค้ำประกันขึ้นใหม่ ที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ค้ำประกัน ให้สอดคล้องกับคำเตือนที่ต้องแนบไปกับสัญญาให้เช่าซื้อด้วย
นับว่ายังเป็นความกรุณาของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ที่ระบุให้กฎหมายใหม่ใช้บังคับกับสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่เท่านั้นที่ลงนามตั้งแต่วันที่กฎหมายใช้บังคับเป็นต้นไป โดยไม่มีผลย้อนหลัง มิฉะนั้นแล้ววงการผู้ให้เช่าซื้อคงจะปั่นป่วนเหมือนวงการให้เช่าบ้านเป็นที่อยู่อาศัยเป็นแน่แท้ เพราะมีสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ฉบับปัจจุบันที่ทำขึ้นก่อนวันกฎหมายใหม่มีผลบังคับเป็นแสนๆราย ถ้าจะให้มีผลย้อนหลัง ต้องทำสัญญากันขึ้นใหม่ทั้งสัญญาเช่าซื้อ และสัญญาค้ำประกัน คงจะเป็นฝันร้ายของผู้ประกอบกิจการให้เช่าซื้อ
จุดหลักจริงๆของสัญญาค้ำประกันใหม่ ที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้ให้เช่าซื้อเจ้าหนี้ อย่างมีนัยสำคัญยิ่งก็คือ การห้ามมิให้สัญญาค้ำประกันระบุให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบในหนี้ของผู้เช่าซื้อ อย่างเป็นลูกหนี้ร่วม
ถ้าฝ่าฝืนข้อห้าม สัญญาค้ำประกันในข้อนั้นจะตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับมาแต่ต้น สัญญาค้ำประกันค่าเช่าซื้อตามกฎหมายใหม่นี้ ทำตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) เรื่องการค้ำประกันที่มีการแก้ไขตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558
แต่เดิมนั้นที่ผ่านมาหลายทศวรรษ สัญญาค้ำประกันแทบทุกฉบับ จะระบุให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ผลก็คือเจ้าหนี้สามารถจะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ทันทีพร้อมกับลูกหนี้ ในวันที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ หรือจะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก็ย่อมได้ ซึ่งหนังสือค้ำประกันแบบนี้ ในทางสากลเรียกกันว่า หนังสือค้ำประกันเมื่อทวงถาม แต่ในปัจจุบันหนังสือค้ำประกันเมื่อทวงถามนี้ไม่มีแล้ว
หากลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ต้องเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน ต่อเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามหนังสือบอกกล่าว จึงจะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ และจะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้จะต้องมีหนังสือบอกกล่าวส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ไปถึงผู้ค้ำประกันไม่เกินกำหนด 60 วัน หลังจากวันที่ลูกหนี้ผิดนัด
ถ้าเกินกำหนดเวลานี้ ผู้ค้ำประกันก็จะมีสิทธิรับผิดชอบในดอกเบี้ยจำกัดอยู่แค่สองเดือนหลังลูกหนี้ผิดนัดนั้น ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นหลังจากสองเดือนไปแล้ว ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายอย่างอื่นเช่นค่าทวงหนี้ ที่เกิดขึ้นหลังจากสองเดือนไปแล้วผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน
เจ้าหนี้ที่เผลอเรอ หรือเพิกเฉย หรือไม่จัดระบบในการทวงหนี้ให้ดี ไม่เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามกำหนดจึงอาจเสียสิทธิในดอกเบี้ยได้ง่ายๆ เรียกว่าเจ้าหนี้ต้องระวังตัวกันแจ โดนทำโทษทั้งขึ้นทั้งล่อง จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้พร้อมกับลูกหนี้ก็ไม่ได้ และจะใจดี เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระเมื่อเกิน 60 วันไปแล้ว ก็ไม่ได้เช่นกัน ช่วงสองเดือนหลังจากลูกหนี้ผิดนัดนี้จึงเป็นโอกาสเดียวของเจ้าหนี้ที่จะมีได้มีเสีย บริษัทผู้ให้เช่าซื้อเจ้าหนี้จึงต้องสร้างระบบในการทวงหนี้เป็นตารางเวลาแน่นอน เช่นไม่ควรเกิน 2 สัปดาห์ หลังจากลูกหนี้ผิดนัด
ถ้าเจ้าหนี้ละเลยไม่ทวงถามจากลูกหนี้ก่อน จู่ๆจะไปทวงถามจากผู้ค้ำประกันโดยตรงเลย เหมือนสมัยก่อนไม่ได้ เพราะหนังสือทวงถามนั้นย่อมสูญเปล่า เนื่องจากผู้ค้ำประกันมีสิทธิบ่ายเบี่ยงให้เจ้าหนี้ไปทวงถามเอาจากลูกหนี้ก่อนได้
และถึงแม้เจ้าหนี้จะทวงถามจากลูกหนี้ก่อนแล้ว ถ้าผู้ค้ำประกันซึ่งมีความสนิทชิดเชื้อกันกับลูกหนี้ทราบว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้ได้เจ้าหนี้ต้องไปฟ้องคดีบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ก่อน ที่จะมาฟ้องผู้ค้ำประกัน จะไปฟ้องผู้ค้ำประกันโดยที่ยังไม่ฟ้องคดีให้สิ้นสุดเอากับลูกหนี้ไม่ได้
ข้อกฎหมายข้อนี้สมัยก่อนไม่เคยมีปัญหา เพราะเจ้าหนี้มักจะขอให้ผู้ค้ำประกันสละสิทธิไว้ในสัญญา แต่ตามป.พ.พ. ที่แก้ไขใหม่ กำหนดไว้เป็นสิทธิแก่ผู้ค้ำประกันตายตัว โดยที่เจ้าหนี้จะบังคับให้ผู้ค้ำประกันสละสิทธิในข้อนี้ไม่ได้ ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาใหม่ที่แก้ไม่ตกของเจ้าหนี้
ในทางปฏิบัติสิทธิบ่ายเบี่ยงของผู้ค้ำประกันในข้อนี้ แทบจะทำให้สัญญาค้ำประกันไร้ความหมายไป เท่ากับว่าเจ้าหนี้ต้องไปฟ้องบังคับชำระหนี้เอากับลูกหนี้ก่อน
ถ้าลูกหนี้สู้คดี ก็อาจใช้เวลาเป็นสิบปีสามศาล กว่าที่เจ้าหนี้จะบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ ก่อนที่จะมามีสิทธิฟ้องเอากับผู้ค้ำประกัน
ยกตัวอย่างเช่น ลูกหนี้ผู้เช่าซื้อรถยนต์ ค้างค่างวด แต่ตนมีกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินด้วย ผู้ค้ำประกันย่อมบ่ายเบี่ยงให้เจ้าหนี้ผู้ให้เช่าซื้อไปฟ้องบังคับชำระหนี้เอากับบ้านและที่ดินของลูกหนี้ได้ ก่อนที่จะมาใช้สิทธิทวงถามหรือฟ้องร้องเอากับผู้ค้ำประกัน ซึ่งแม้ว่าในทางความเป็นจริงบ้านและที่ดินของลูกหนี้จะติดจำนองกับธนาคารอยู่ แต่ลูกหนี้ก็ผ่อนชำระมาแล้วหลายปี ทำให้มูลค่าบ้านและที่ดินน่าจะสูงกว่าหนี้จำนอง ซึ่งมูลค่าทรัพย์จำนองที่เกินกว่าหนี้จำนอง น่าจะเพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ค่างวดเช่าซื้อที่ค้างได้จนครบถ้วนหรืออย่างน้อยก็เพียงบางส่วน เจ้าหนี้ผู้ให้เช่าซื้อ ก็ต้องไปฟ้องบังคับเอากับบ้านและที่ดินก่อน ขายทอดตลาดได้เงินมา ก็นำไปใช้ให้กับธนาคารผู้รับจำนอง เงินที่เหลือจึงนำมาชำระให้กับเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าซื้อ หากยังขาดอยู่ไม่พอชำระหนี้ จึงจะมาฟ้องเอากับผู้ค้ำประกันได้ กว่าจะถึงจุดนี้ได้ เจ้าหนี้ก็คงจะท้อใจไปตามๆกัน
นอกจากนี้ ผู้ค้ำประกันที่ฉลาดอาจใช้โอกาสที่กฎหมายใหม่หยิบยื่นให้ ขอให้ลูกหนี้เขียนรายการทรัพย์สินของตนมอบให้แก่ผู้ค้ำประกันไว้ เพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนในการที่ผู้ค้ำประกันจะยอมเซ็นสัญญาค้ำประกันให้ รายการทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้นี้จะช่วยปกปักรักษาผู้ค้ำประกันเป็นอย่างดี ยามเมื่อมีปัญหากับเจ้าหนี้ เช่น ลูกหนี้มีโฉนดที่ดินอยู่ที่ไหน ราคาประเมินเท่าใด มีอาคารบนที่ดินหรือไม่ อาคารราคาเท่าใด เป็นส่วนควบกับที่ดินหรือไม่ นอกจากนี้ลูกหนี้มีบัญชีเงินสดอยู่ในธนาคารเท่าไหร่หมายเลขบัญชีอะไร มีรถยนต์หรือทรัพย์สินอื่นทั้งที่ปลอดภาระหนี้หรือยังมีภาระอยู่อย่างไร หรือไม่
ยิ่งหากผู้ค้ำประกันและลูกหนี้เป็นญาติสนิทกันยิ่งง่าย เท่ากับว่าลูกหนี้มอบรายการทรัพย์สินของตนให้ผู้ค้ำประกัน เพื่อเป็นเครื่องปกป้องผู้ค้ำประกันไม่ให้ต้องถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องเป็นคดีความได้เป็นเวลาอีกหลายปี ในขณะที่ตนในฐานะลูกหนี้ย่อมหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องอยู่แล้ว
ปัญหาอีกข้อหนึ่งซึ่งเป็นที่ระคายเคืองใจแก่บรรดาเจ้าหนี้เป็นอย่างมาก ก็คือ ข้อตกลงเดิมที่บังคับให้ผู้ค้ำประกันยินยอมด้วยกับการผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ตั้งแต่แรกเมื่อเซ็นสัญญาค้ำประกัน พร้อมกับสัญญาให้เช่าซื้อ หรือสัญญากู้เงิน สัญญาค้ำประกันเดิมมักจะบอกว่าหากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ แล้วต่อมาเจ้าหนี้ยินยอมผ่อนเวลาให้กับลูกหนี้เพื่อขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปให้นานขึ้น ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันยินยอมด้วยกับการผ่อนเวลานั้น ตั้งแต่ต้น โดยเจ้าหนี้ไม่ต้องมาขอความยินยอมผู้ค้ำประกันในภายหลัง ทำให้ผู้ค้ำประกันต้องขยายระยะเวลาความรับผิดของตนออกไปอีกโดยอัตโนมัติอย่างไม่มีจุดจบ บัดนี้ข้อตกลงเช่นนี้ใช้บังคับไม่ได้แล้ว ถ้าขืนสัญญาค้ำประกันยังมีข้อตกลงนี้ไว้ก็จะเป็นโมฆะเสียเปล่า ถ้าจะให้บังคับได้จริงๆก็ต้องรอให้ลูกหนี้ผิดนัดก่อน และเมื่อเจ้าหนี้จะผ่อนเวลาชำระหนี้ให้ ค่อยไปขอความยินยอมจากผู้ค้ำประกันในภายหลัง ซึ่งผู้ค้ำประกันที่ไหนจะไปยอม
ความได้เปรียบของผู้ค้ำประกันที่มีต่อเจ้าหนี้นี้ มิได้จำกัดอยู่เพียงสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์หรือจักรยานยนต์ แต่ยังขยายไปถึงสัญญากู้เงินระหว่างลูกหนี้กับธนาคารตั้งแต่สัญญากู้รายย่อยไม่กี่แสนบาท ไปจนถึงสัญญากู้สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาท เป็นความช่วยเหลือจากภาครัฐโดยการแก้กฎหมายหลายฉบับ ต่อเนื่องมากว่ายี่สิบปี เริ่มตั้งแต่กฎหมายล้มละลาย ที่มีผู้ค้ำประกันซึ่งมักจะเป็นเจ้าของกิจการถูกธนาคารฟ้องให้ล้มละลายเป็นจำนวนมากตั้งแต่สมัยวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งหลายรายหายสาบสูญไป ไม่อาจฟื้นฟูกิจการกระทั่งทุกวันนี้ จนมาถึงการแก้ไขป.พ.พ.และกฎหมายให้เช่าซื้อ ซึ่งถือเป็นประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ค้ำประกันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ