เมื่อวันที่ 11 เม.ย. นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เเละหัวหน้า คสช. ได้ระบุว่าถึงการใช้พื้นที่โครงการบ้านพักตุลาการในจังหวัดเชียงใหม่ ว่าอาจจะนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นกับประชาชนเนื่องจากศาลคงใช้ไม่ได้เพราะประชาชนออกมาประท้วง ว่าเมื่อทาง ก.บ.ศ.มีมติให้มีหนังสือกราบเรียน พล.อ.ประยุทธ์ ไปเเล้วจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีเเละฝ่ายบริหารว่าจะพิจารณาดำเนินการอย่างไรต่อไป ทางสำนักงานศาลยุติธรรมไม่ขัดข้อง เพราะที่ผ่านมา ทางสำนักงานศาลยุติธรรมรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายด้วยความเข้าใจ
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวต่อว่า สิ่งที่เราชี้เเจงในช่วงหลังเพียงเพื่อขอให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องให้ครบทุกด้านก่อนที่จะร่วมกันเเก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรไม่ได้เป็นประเด็นเพราะเรื่องนี้ไม่ใช่การต่อสู้ เเต่มันเป็นการเรียนรู้ที่จะเปิดใจรับฟังกันเเละกันเเละหาทางออกร่วมกันเเบบคนในครอบครัวเดียวกันที่ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วยกันเเต่ขอให้เข้าใจกัน
โดยในวันต่อมา (12 เม.ย.61)
เเหล่งข่าวนักวิชาการด้านกฎหมายได้เเสดงความเห็นถึงกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ดำเนินการสร้างบ้านพักผู้พิพากษาบริเวณผืนป่าเชิงดอยสุเทพ แม้ทางศาลยุติธรรมจะอ้างว่าพื้นที่ก่อสร้างเป็นพื้นที่ราชพัสดุ ไม่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ นั้น ว่า บริเวณที่ก่อสร้างดังกล่าวแม้ไม่เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติตามกฎหมาย แต่ตามสภาพความเป็นจริงก็เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าเป็นพื้นที่ป่าตามธรรมชาติ ทำให้กลุ่มชาวเชียงใหม่หลายกลุ่มออกมาแสดงความเป็นห่วงผลกระทบจากการสร้างบ้านพักที่อาจจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ การปิดกั้นทางเดินของน้ำ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนชาวเชียงใหม่ที่อยู่บริเวณด้านล่างของดอยสุเทพที่อาจจะได้รับผลกระทบ
ในเรื่องการสร้างบ้านพักของศาลนี้ถ้าพิจารณาในแง่ของผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนชาวเชียงใหม่ ตามที่กลุ่มชาวเชียงใหม่หลายกลุ่มอ้างว่าจะส่งผลกระทบดังกล่าวอย่างรุนแรงนั้น
- อาจจะทำให้โครงการก่อสร้างบ้านพักของศาลขัดกับรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 67 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับในขณะที่มีการก่อสร้างบ้านพักของศาลในช่วงที่ผ่านมา และขัดกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 58 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับในขณะที่กำลังมีการก่อสร้างบ้านพักของศาลในปัจจุบัน
ที่บัญญัติให้การดำเนินโครงการของรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้อง
แต่การสร้างบ้านพักของศาลบริเวณผืนป่าเชิงดอยสุเทพเพียงแต่ได้รับอนุญาตจากทางราชการที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนและชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย และชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน
อันนี้ต้องพิจารณาให้ดีด้วยว่ารัฐธรรมนูญใช้เพียงคำว่า “อาจมีผลกระทบ” เท่านั้น ก็ต้องจัดให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แล้ว ไม่ใช่ถึงขนาดต้องเห็นว่า “จะกระทบ” ถึงจะต้องดำเนินการ
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 58 ยังบัญญัติให้การดำเนินการหรือการอนุญาตที่อาจจะส่งผลกระทบดังกล่าว รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องดำเนินการให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้าด้วย
ซึ่งในเรื่องนี้อาจจะทำให้มีประเด็นในเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของโครงการสร้างบ้านพักของศาลบริเวณผืนป่าเชิงดอยสุเทพได้ สำหรับกลุ่มชาวเชียงใหม่ที่เห็นว่าสิทธิที่ตนได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญถูกละเมิด ก็สามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 213 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าโครงการก่อสร้างบ้านพักของศาลขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้
ข่าวจาก :
https://www.khaosod.co.th/politics/news_953843
https://www.khaosod.co.th/politics/news_957347
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ