ทำธุรกิจด้วยเงินครอบครัว แล้วกุมอำนาจเพียงคนเดียว มีปัญหาทำชื่อเสียงเสียหาย
ฮือฮา แถลงการณ์ “ครอบครัวณรงค์เดช-กลุ่มบริษัทเคพีเอ็น” ว่อนโลกออนไลน์ ประกาศ ไม่ขอรับผิดชอบกับการกระทำใดๆของทายาทคนกลาง “ณพ ณรงค์เดช” หลังเจอปัญหาถูกฟ้องร้องคดีซื้อขายหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) โดยลากคนในตระกูลติดร่างแหไปด้วย จนเป็นที่มาของแถลงการณ์ ที่ระบุการดำเนินการใดๆของ “ณพ ณรงค์เดช” ที่ผ่านมา และต่อจากนี้ครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น และจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด หากมีการนำชื่อสมาชิกครอบครัวณรงค์เดชไปใช้โดยไม่ได้รับการยินยอม ขณะที่ “ณพ” เคยออกมาชี้แจงเกี่ยวกับคดี ยืนยันว่าได้หุ้นของ WEH มาโดยถูกต้องตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกิดประเด็นที่สร้างความฮือฮาให้กับผู้คนในแวดวงสังคมและแวดวงธุรกิจเมื่อมีการส่งต่อเอกสารคำแถลงการณ์ของ “ครอบครัวณรงค์เดช” และ “กลุ่มบริษัทเคพีเอ็น” ซึ่งประกอบด้วย ดร.เกษม ณรงค์เดช พร้อมลูกชายคนโตและลูกชายคนเล็ก คือนายกฤษณ์ และนายกรณ์ ณรงค์เดช โดยมีการส่งต่อข้อมูลกันในแอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการตัดขาดลอยแพการดำเนินธุรกิจของนายณพ ณรงค์เดช ลูกชายคนกลางของครอบครัว ที่หอบเงินเข้าไปลงทุนบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) โดยระบุว่า ครอบครัวณรงค์เดชและกลุ่มบริษัทเคพีเอ็น จะไม่ขอรับผิดชอบกับการกระทำใดๆของนายณพทั้งสิ้น
สำหรับรายละเอียดคำแถลงการณ์ ดังนี้ คำแถลงการณ์ของ “ครอบครัวณรงค์เดช” และ “กลุ่มบริษัทเคพีเอ็น” โดย ดร.เกษม นายกฤษณ์ และนายกรณ์ ณรงค์เดช เกี่ยวกับกรณีนายณพ ณรงค์เดช เนื่องจากปัจจุบัน ปรากฏข่าวมากมายในเรื่องของความเกี่ยวพันระหว่างครอบครัวณรงค์เดช กับ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH)ออกมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ครอบครัวณรงค์เดช โดย ดร.เกษม ณรงค์เดช ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น นายกฤษณ์ ณรงค์เดช ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น และนายกรณ์ ณรงค์เดช รองประธานกรรมการกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น จึงมีความจำเป็นต้องส่งแถลงการณ์ต่อสาธารณะเพื่อให้ทราบโดยทั่วกันว่า การดำเนินการใดๆของนายณพ ณรงค์เดช ที่ผ่านมา และต่อจากนี้ครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น
โดยรายละเอียดของสาเหตุที่ต้องแถลงการณ์ในครั้งนี้ เริ่มจากประมาณ 2 ปีที่แล้ว นายณพ ณรงค์เดช ได้ขอความช่วยเหลือจากครอบครัวณรงค์เดช ในเรื่องการจัดหาเงินเพื่อลงทุนซื้อหุ้นในบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ซึ่งต่อมาครอบครัวณรงค์เดชก็ให้ความช่วยเหลือในการให้ยืมเงินสดการให้นำทรัพย์สินของครอบครัวณรงค์เดชและทรัพย์สินอื่นที่ครอบครัวณรงค์เดชจัดหามาไปเป็นหลักประกันในการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม
แต่หลังจากที่นายณพ ณรงค์เดช ได้รับความช่วยเหลือดังกล่าว นายณพกลับดำเนินการใดๆ โดยใช้ชื่อเสียงของครอบครัวณรงค์เดชไปแอบอ้างเพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยลำพัง โดยทางครอบครัวณรงค์เดชไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญหลายประการ ไม่มีส่วนในการรับรู้ถึงรายละเอียดของการดำเนินการเกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าว ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือบริหารงานใดๆในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อการลงทุนที่ผ่านมา แม้นายณพจะให้นายกรณ์ ณรงค์เดช ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการฯของ WEH ก็ตาม แต่นายกรณ์ก็ถูกกีดกันไม่ได้รับรู้ในรายละเอียด หรือร่วมตัดสินใจในการดำเนินการใดๆของ WEH จนนายกรณ์ตัดสินใจลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทในเวลาต่อมา
ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับการดำเนินการใน WEH ของนายณพ ณรงค์เดชนั้น ครอบครัวณรงค์เดชได้รับรู้จากข่าวที่เผยแพร่ทางสาธารณะ ทำให้ทางครอบครัวณรงค์เดชกังวลกับข่าวต่างๆที่อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และชื่อเสียงของครอบครัวณรงค์เดชเป็นอย่างยิ่ง
จึงเรียนชี้แจงเพื่อความเข้าใจโดยทั่วกัน และขอเน้นย้ำว่า การดำเนินการใดๆของนายณพ ณรงค์เดช ที่ผ่านมา และต่อจากนี้ ครอบครัวณรงค์เดชไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และหากมีการนำชื่อของกลุ่มบริษัทเคพีเอ็น หรือครอบครัวณรงค์เดชไปใช้ โดยไม่ปรากฏว่า มีสมาชิกครอบครัวณรงค์เดช อันได้แก่ ดร.เกษม ณรงค์เดช นายกฤษณ์ ณรงค์เดช และนายกรณ์ ณรงค์เดช อยู่ด้วย ขอให้ทราบว่า การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการแอบอ้าง โดยครอบครัวณรงค์เดชไม่ได้รับรู้หรือให้ความยินยอมทั้งสิ้น โดยจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุดเริ่มต้นที่มาของปัญหาและความวุ่นวายในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 หลังนายณพได้เข้าไปซื้อกิจการของบริษัทรีนิวเอเบิล เอเนอร์ยี่ คอร์เปอเรชั่น (REC) (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอร์ยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KPNET) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) จำนวน 59.4% จากนายนพพร ศุภพิพัฒน์ อดีตประธานบริษัท WEH ผู้บริหารหนุ่มเศรษฐีหน้าใหม่ ที่นิตยสารฟอร์บส์ไทยแลนด์ จัดอันดับให้เป็นมหาเศรษฐีของไทยในลำดับที่ 31 จาก 50 อันดับ ถือครองสินทรัพย์ มูลค่ารวมกว่า 26,076 ล้านบาท เมื่อปี 2557
โดยเดิมทีนายนพพรมีแผนจะนำ WEH ระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2558 ซึ่งจะทำให้มูลค่าหุ้น WEH ที่นายนพพรถืออยู่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ในช่วงปลายปี 2557 นายนพพรโดนออกหมายจับข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แอบอ้างเบื้องสูง ทำให้ต้องระหกระเหินหนีคดีออกนอกประเทศ ส่งผลกระทบไปถึงแผนการนำ WEH เข้าตลาดหลักทรัพย์ กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนและสถาบันการเงิน จนกระทั่งสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้ WEH ไปดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังลม ได้ชะลอการปล่อยกู้ทันที ทำให้โครงการที่กำลังเดินหน้าต้องหยุดชะงัก แผนการเข้าตลาดหุ้นริบหรี่
อย่างไรก็ตามด้วยโอกาสทางธุรกิจของ WEH ที่สดใสและมีกำไรจากโรงไฟฟ้าพลังลมที่สร้างเสร็จแล้ว และยังมีสัญญาซื้อขายไฟ (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตอีกจำนวนมาก ถือเป็นผู้ผลิตไฟพลังลมรายใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ ที่สำคัญก่อนที่นายนพพรจะถูกดำเนินคดีนั้น WEH ได้มีการเพิ่มทุนและขายหุ้นเพิ่มทุนนอกตลาดให้นักลงทุนขาใหญ่ในตลาดหุ้นจำนวนมาก เรียกว่าถ้าเอ่ยชื่อขาใหญ่คนไหน เป็นต้องรู้จัก จึงมีความพยายามผลักดันอย่างหนักเพื่อให้ WEH เข้าตลาดหุ้นให้ได้โดยเร็วที่สุด
จนกระทั่งมีการชักชวนให้นายณพ ณรงค์เดช เข้ามาซื้อหุ้นในส่วนที่นายนพพรถืออยู่ โดยการเข้าซื้อกิจการของบริษัทรีนิวเอเบิล เอเนอร์ยี่ คอร์เปอเรชั่น (REC) ที่ถือหุ้น WEH อยู่ 59.4% (โดยนายนพพรถือหุ้นใน REC 74.5% ร่วมกับบริษัท เน็กซ์ โกลบอล อินเวสต์เมนท์ในฮ่องกงที่ถืออยู่ 24.5%) เพื่อหวังเครดิตความน่าเชื่อถือและชื่อชั้นของนายณพและกลุ่มณรงค์เดชในการนำพา WEH เข้าตลาดหุ้น
โดยมีการทำสัญญาซื้อขายหุ้นมูลค่าหลายหมื่นล้าน และกำหนดการชำระเงินค่าหุ้นออกเป็นงวดๆ แต่ปรากฏว่าจู่ๆ ทางกลุ่มผู้ขายมีการออกข่าวว่า กลุ่มบริษัทนายณพมีการชำระเงินค่าหุ้นไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ บ่ายเบี่ยงและล่าช้า แม้สุดท้ายจะได้รับชำระค่าหุ้นงวดแรกแล้ว แต่งวด 2 ยังมีการชำระล่าช้า จนต้องมีการเรียกค่าปรับดอกเบี้ย จึงมีความพยายามที่จะให้มีการยกเลิกสัญญาเพื่อเรียกหุ้นคืน โดยกลุ่มนายนพพรได้นำข้อพิพาทไปฟ้องต่อศาลระหว่างประเทศเพื่อการอนุญาโตตุลาการแห่งหอการค้านานาชาติ (ศาล ICC) ที่สิงคโปร์ รวมทั้งล่าสุดยังยื่นฟ้องต่อศาลแขวงพระนครใต้ เพื่อดำเนินคดีอาญานายณพกับพวกรวม 13 ราย ซึ่งรวมถึงบุคคลในตระกูลณรงค์เดช คือนางพอฤทัย ณรงค์เดช และ นายเกษม ณรงค์เดช ด้วย ในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ด้วยการร่วมกันจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นหรือรู้เห็นยินยอมให้มีการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นของ WEH เพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ แม้ว่าจะได้ใช้สิทธิเรียกร้องและสิทธิบังคับชำระหนี้ตามกฎหมายแล้ว โดยศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 8 พ.ค.61
ด้านนายณพได้เคยออกมาชี้แจงเกี่ยวกับคดีก่อนหน้านี้ โดยยืนยันว่า กลุ่มของตนได้หุ้นของ WEH มาโดยถูกต้องตามกฎหมาย และได้มีการชำระเงินที่กำหนดตามสัญญาแล้ว โดยมูลเหตุที่มีการฟ้องเท็จและสร้างเรื่องให้เป็นข่าวนั้น เนื่องจากผู้ขายหุ้นประสบปัญหาจนต้องหนีไปต่างประเทศ และได้มีการเร่ขายหุ้นให้กลุ่มทุนอื่นๆ หลายรายแต่ขายไม่ได้ เพราะสภาพของกิจการขณะนั้นไม่อาจดำเนินการต่อได้ กลุ่มบริษัทของตนจึงรับความเสี่ยงโดยเข้าซื้อหุ้นไว้ และได้เข้าไปแก้ปัญหาฟื้นฟูกิจการจนดีขึ้น แต่กลุ่มผู้ขายกลับอยากได้หุ้นคืน แม้จะได้เงินค่าหุ้นงวดแรกแล้วหลายพันล้านบาท แต่ยังหาเหตุสร้างเรื่องสร้างคดีเพื่อหวังยกเลิกสัญญาการซื้อขายหุ้น เพื่อบังคับให้คืนหุ้น ทั้งที่การซื้อขายได้สำเร็จไปแล้ว แม้จะไปฟ้องร้องในต่างประเทศ แต่อนุญาโตตุลาการก็ตัดสินให้ผู้ขายแพ้คดียกเลิกสัญญาเอาหุ้นคืนไม่ได้ ทำได้เพียงรับเงินค่าซื้อไปบางส่วน และอีกส่วนที่จะพึงจ่ายให้ตามสัญญา และยืนยันว่าตนและครอบครัวรวมทั้ง WEH ไม่ได้เป็นคู่คดีโดยตรง การดำเนินธุรกิจของ WEH ยังคงเดินหน้าตามปกติ และตนได้ใช้วิธีทางกฎหมายเพื่อปกป้องชื่อเสียงของตนเองและครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ได้มีคำแถลงการณ์ของ “ครอบครัวณรงค์เดช” และ “กลุ่มบริษัทเคพีเอ็น” ผู้สื่อข่าวพยายามโทรศัพท์สอบถามไปยังนายณพและนายกฤษณ์ แต่ปรากฏว่าทั้ง 2 คนไม่รับสาย เพียงให้ฝากข้อความไว้ และไม่ได้มีการติดต่อกลับมาจาก 2 พี่น้องตระกูลณรงค์เดชแต่อย่างใด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ