รพ.รามาฯ ค้นพบวิธีรักษา “ธาลัสซีเมีย” หายขาด ด้วยการบำบัดยีนเป็นครั้งแรกของโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ Rama Lounge ซึ่งเป็นเพจของคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ม.มหิดล ได้โพสต์ระบุว่า เพจมีโอกาสสัมภาษณ์กับ ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง (Suradej Hongeng) หัวหน้าโครงการโรคมะเร็งในเด็ก และอาจารย์แพทย์สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แพทย์ผู้ทำการวิจัยนี้ที่จะมาเล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวให้เราฟังค่ะ
เป็นโรคที่เลือกไม่ได้…ต้องถ่ายเลือดตลอดชีวิต
ผู้ป่วยที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย ต้องรักษาแบบประคับประคองโดยการให้เลือดและยาขับเหล็กตลอดชีวิต ปัจจุบันมีผู้ป่วยประมาณ 200,000 – 300,000 คนในประเทศไทย ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการตั้งแต่ 2 – 3 ปีแรกที่เป็นโรคซึ่งจะต้องได้รับเลือดทุกเดือน
มีเพียงทางเดียวเท่านั้นให้เลือกรักษา
การรักษาโรคธาลัสซีเมียมีเพียงทางเดียวคือ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากผู้บริจาคที่มีสุขภาพดีและสามารถเข้ากับผู้ป่วยได้ ซึ่งก็จะได้จากพี่น้องของผู้ป่วยเอง หรือผู้บริจาคจากสภากาชาดไทย มีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่สามารถหาผู้บริจาคที่เหมาะสมและระหว่างการรักษามักมีภาวะแทรกซ้อน อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอายุขัยลดลง
นวัตกรรมใหม่..ไม่ต้องมาถ่ายเลือดอีกต่อไป
บุคลากรในไทยที่เข้าร่วมวิจัยนี้มีอีก 2 คนคือ ผศ.นพ.อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์ อาจารย์แพทย์จากหน่วยโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็กของรามาธิบดีและ ศ.เกียรติคุณ นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ แห่งศูนย์วิจัยธาลัสซีเมีย สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล
เราได้ร่วมมือต่างประเทศคือ Professor Philippe Leboulch, นักวิจัยจาก University of Paris และทีมแพทย์จากสหรัฐอเมริกา Harvard Medical School ในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากพ่อแม่ของผู้ป่วยนำมาทดลองรักษา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของวงการการรักษาโรคธาลัสซีเมีย
ความยากคือการตัดต่อยีน ซึ่งเราก็ทดลองจนประสบความสำเร็จในที่สุด โดยเราเป็น 1 ใน 8 แห่งทั่วโลกที่ทำการรักษาในรูปแบบนี้
ก้าวต่อไปสู่สถานรักษาธาลัสซีเมียครบวงจร
น่ายินดีที่ผลการรักษาคนไข้ทั้งสามเป็นไปอย่างที่ยอดเยี่ยมโดยที่พวกเขาไม่ต้องเข้ารับการการถ่ายเลือดอีก ทั้งที่ต้องเคยถ่ายเลือดมาตั้งแต่เด็ก ตอนนี้สามารถไปโรงเรียน ไปทำงาน หรือเล่นกีฬาได้ และตอนนี้ก็มีชีวิตที่ปกติสุข
ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ใน The New England Journal of Medicine ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561
รู้สึกดีใจมากกับการได้รับการตีพิมพ์ งานวิจัยนี้ใช้เวลา 5 – 6 ปีกว่าจะประสบความสำเร็จ หลังจากที่มีการวางแผนมานานเกือบ 10 ปีก่อนหน้านี้
ณ ปัจจุบัน การรักษาด้วยวิธีนี้ยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เราก็มีความคาดหวังว่าต้องการให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีระบบการรักษารูปแบบนี้อย่างครบวงจร
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ