ถอยคนละก้าว ปลดชนวนความขัดแย้ง ลดความร้อนแรงลงทันตา สำหรับกระแสคัดค้านโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการบนเชิงดอยสุเทพ หลังมีคำตอบชัดเจนจากท่านผู้นำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วว่า “ห้ามอยู่อาศัย” พร้อมกับสั่งปลูกป่าและจัดหาที่สำหรับการปลูกบ้านพักใหม่ให้ศาล
เรียกได้ว่าศึกยกแรกจบได้สวยพอควร แม้จะไปไม่ถึงการสั่งรื้อตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ แต่สุดท้ายก็คงถูกรื้อโดยสภาพธรรมชาติเอาคืน หรือไม่ก็ถูกรื้อหลังจากมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาควานหาคนรับผิดชอบจากความเสียหายในการใช้เงินแผ่นดินกันเสียก่อน ซึ่งศึกยกสองนี้อาจต้องใช้เวลาอีกนาน เป็นทางถอยอย่างมีชั้นเชิง ค่อยๆ ชักฟืนออกจากกองไฟให้มอดดับไปเองถ้าไม่มีเงื่อนไขใหม่เข้ามาแทรก เพราะถ้าใครก็ตามขืนใจร้อนบุ่มบ่ามเซ็นคำสั่งรื้อต้องมานั่งชดใช้เมื่อมีการผลัดแผ่นดินเจอเชคบิลอย่างแน่นอน หากมองย้อนที่ผ่านมามีหลายคดีที่เป็นตัวอย่างให้เห็นกันมาแล้ว
“ผมมีคำสั่งไปว่าไม่ให้อยู่โดยแน่นอน แน่ชัด ได้ให้คณะกรรมการไปจัดหาพื้นที่ใหม่ เพราะเป็นสิทธิของข้าราชการที่ต้องมีบ้านพักอาศัยตามกฎหมาย รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลสวัสดิการตรงนี้…. ” นายกฯ กล่าว โดยการหาพื้นที่ใหม่นั้นกำลังพิจารณาพื้นที่ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ต้องพิจารณาแบบก่อสร้างให้อยู่ในกรอบกติกาที่กำหนด ถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี คือแก้ปัญหาด้วยหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
“ผมไม่อาจจะรับเรื่องร้องเรียนอื่นๆ ขึ้นมาอีก เรื่องเก่าแก้ให้ได้เสียก่อน ขอให้ไว้เนื้อเชื้อใจ ในเมื่อผมไม่ให้ใครอยู่ก็ไม่ให้ใครอยู่ เรื่องจะรื้อไม่รื้อคณะกรรมการไปว่ากันมา ถ้าจะรื้อต้องหาผู้รับผิดชอบมาให้ได้ เพราะเป็นงบประมาณของแผ่นดิน มันอาจจะบานปลายสู่การตรวจสอบย้อนหลังไปอีกเยอะ ก็ต้องทำต่อไป” นายกฯ ยืนยันเป็นมั่นเหมาะอีกครั้ง
เจ้าหน้าที่รังวัดจากธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 33 (มทบ.33) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เข้าทำการรังวัดที่ดินที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการตุลาการ ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อ วันที่ 10 พฤษภาคม 2561
ดูจากสภาพภูมิประเทศแล้ว ต้องยอมรับว่า สถานที่ตั้งของหมู่บ้านป่าแหว่งน่าเป็นห่วงจริงๆ
ส่วนเรื่องที่แน่ๆ เห็นพ้องต้องกันทั้งหมดและลงมือทำได้ทันคือ คือข้อสรุปหลังหารือร่วมกันว่าให้มีการปลูกป่าฟื้นคืนความสมบูรณ์นั้น นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ทหาร กอ.รมน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปร่วมในแผนงานดังกล่าวให้ทันฤดูฝนนี้ จะพยายามหาต้นไม้ที่โตเร็วและกลมกลืนกับภูมิประเทศ
ก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรี จะย้ำคำตอบที่ชัดเจนออกมานั้น เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2561 นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้เจรจาแก้ไขปัญหาบ้านพักตุลาการที่ จ.เชียงใหม่ ได้เดินทางลงไปประชุมหารือกับเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ โดยได้ข้อสรุปร่วมกัน 3 แนวทาง ตามที่นายกรัฐมนตรี เคยมีดำริก่อนหน้า โดยสองแนวทางแรก คือ ห้ามอยู่อาศัยและฟื้นฟูป่า โดยให้ทางกรมธนารักษ์ สำรวจและรังวัดแนวเขตให้ชัดเจน รวมทั้งพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ในโซน ส่วนอาคารสำนักงาน และอาคารชุด 3 หลัง ด้านล่างที่จะให้ทางศาลใช้ประโยชน์ก็ทำแนวเขตให้ชัด
สำหรับแนวทางที่ 3 ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาร่วมกันเรื่องการจัดการในพื้นที่และอื่นๆ เช่น ความเป็นไปได้ในการขยายพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่โดยรอบ การจัดการสิ่งปลูกสร้าง โดยยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนสำคัญให้กับทุกหน่วยงาน
“เรื่องนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญ ประชาชน ภาคราชการได้เรียนรู้ ต่อไปจะทำอะไรต้องคำนึงถึงหลายอย่างที่กระทบความรู้สึก กระทบต่อภาพรวม ประโยชน์ของประเทศ ผมว่าพวกเราได้รับบทเรียนพร้อมกันทุกฝ่าย ….
“ผมได้รับนโยบายจากนายกฯ มาสองข้อคือ พื้นที่ดังกล่าวจะต้องไม่มีคนอยู่อาศัย ซึ่งแนวทางคือทางศาลจะส่งมอบพื้นที่คืนให้กรมธนารักษ์ และกรมส่งมอบพื้นที่ให้เป็นที่อุทยานแห่งชาติ ส่วนข้อสองคือ เร่งฟื้นฟูป่าทันที ซึ่งจะมีการปลูกป่าตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. นี้ ส่วนข้ออื่นๆ ที่ทางเครือข่ายเรียกร้อง เช่น การรื้อถอนอาคารบ้านพัก 45 หลัง และอาคารชุด 9 หลัง ก็จะตั้งคณะกรรมการมาร่วมเพื่อดำเนินการให้เหมาะสมตามเงื่อนไขของกฎหมายต่อไปตามแต่ละประเด็นๆ ไป เพื่อให้เป็นป่าสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ต่อไป” นายสุวพันธ์ กล่าว
สำหรับท่าทีจากทางศาลยุติธรรม ชัดเจนแล้วว่า ให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องนี้แทน เมื่อรัฐบาลตัดสินใจ ศาลพร้อมรับและปฏิบัติตาม ส่วนการก่อสร้างโครงการ ได้ข้อสรุปว่า ให้เป็นไปตามสัญญาเพื่อไม่ให้กระทบเอกชนแต่ไม่ให้มีผู้อยู่อาศัย เมื่อมีการก่อสร้างเสร็จตามสัญญาก็ส่งคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์และกรมอุทยานฯ ตามลำดับเพื่อนำไปสู่การประกาศให้พื้นที่ดอยสุเทพส่วนนั้นเป็นเขตอุทยานฯ
หลังจากได้ข้อสรุปร่วมกันตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น ทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับลูกต่อโดยเสนอตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมา พร้อมกับคณะทำงานอีก 2 ชุด จากตัวแทนหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเครือข่ายประชาชน โดยชุดหนึ่งเพื่อวางแผนฟื้นฟูระบบนิเวศ ส่วนอีกชุดหนึ่งเป็นคณะทำงานเพื่อพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างและการทำให้ป่าสมบูรณ์ต่อไป
นายบัณรส บัวคลี่ โฆษกเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ มีความเห็นส่วนตัวว่า แนวทางดังกล่าวข้างต้นถือเป็นโรดแมปที่จะต้องเดินตามนั้นซึ่งต้องใช้เวลา การตอบสนองของรัฐบาลอาจเรียกว่าเป็นชัยชนะที่เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่ปลายทางที่ต้องการ
“#กุญแจดอกแรก – ทางศาล และ สนง.ศาลยุติธรรม (ฝ่ายธุรการ) ยินยอมรับแนวทางแก้จากรัฐบาล โดยไม่ประสงค์จะอยู่บนนั้นต่อไป นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่สำคัญมาก เพราะตั้งแต่แรกเริ่มก่อน 9 เม.ย. มีคนเสนอใช้มาตรา 44 แต่เราไม่เห็นด้วย ทางที่เราอยากเห็นคือศาลท่านมองเห็นปัญหาและยินยอมผละออกจากสิ่งที่เป็นปัญหาด้วยดีเมื่อท่านยอมให้อำนาจบริหารช่วยจัดการ มันก็มีทางออกอย่างสันติ นิ่มนวล ด้วยดี สมประสงค์ของฝ่ายเราที่เลือกแนวทางนี้แทนที่จะไปกล่าวหา ฟ้องร้องเอาผิด ซึ่งอาจใช้เวลาหลายปี กว่าจะยุติและได้ฟื้นฟูป่าคืน
“#กุญแจดอกที่สอง – เส้นแนวการคืนป่า วงประชุมแม่ทัพภาค 3 ให้คณะกรรมการระดับจังหวัดไปหาเส้นแนวการขอคืน ใช้เวลาร่วม 20 วัน เรายืนหยัดที่เส้นแนวป่าเดิม ยึดกุมหลักการข้อนี้มาตลอด ในที่สุดก็ได้สมประสงค์ของฝ่ายประชาชน
“#กุญแจดอกที่สาม – No man's land คำคำนี้เป็นข้อเสนอของประชาชนผ่านที่ประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัด เพราะตอนนั้นมีข่าวแพลมมาว่าจะเปลี่ยนมาเป็นศูนย์เรียนรู้ ศูนย์เยาวชน ฯลฯ แต่เรามองว่า มันแค่เปลี่ยนมือ ไม่ได้คืนป่า นี่ก็เป็นอีกกุญแจสำคัญของการเดินไปสู่เป้าหมายคืนกลับเป็นป่า เพราะอาคารที่ไม่มีกิจกรรมของมนุษย์ กับอาคารที่มีมนุษย์อยู่บำรุงดูแล ย่อมแตกต่างกันแน่นอน สร้างเสร็จ ส่งมอบแล้ว ก็ปล่อยให้นกกาสิงสาราสัตว์งูเงี้ยวเจ้าถิ่นอยู่ไปเถอะ
“กุญแจสำคัญทั้งสามดอกที่เราได้มาในวันนี้ จะใช้ไขประตูคืนป่ากลับมา หากไม่ผ่านสามด่านแรก เราจะหาทางไปด่านสุดท้ายไม่ได้เลย”
สำหรับเรื่องรื้อนั้น นายบัณรส ได้เล่าถึงเบื้องหลังการเจรจาว่า “…. แกนนำได้ต่อรอง ร้องขอให้รัฐบาลประกาศทุบทิ้งหรือรื้อทิ้ง แบบที่ประชาชนอยากเห็น แต่ที่สุดก็ได้มาในระดับคณะกรรมการศึกษาหาวิธีจัดการกับอาคารสิ่งปลูกสร้าง โดยมีสร้อยท้ายคำว่า เพื่อนำไปสู่ป่าสมบูรณ์ …. ขอให้ดูที่คำขีดเส้นใต้ "เพื่อนำไปสู่ป่าสมบูรณ์" คำคำนี้แหละ ที่เป็น "สัญญาประชาคม" เป็นคำมั่นว่า กรรมการทุกฝ่ายต้องดำเนินการไปสู่ปลายทาง "ป่าสมบูรณ์" ที่เป็นธงปักไว้
ความเห็นส่วนตัวของโฆษกเครือข่ายฯ มองว่า ถึงแม้นี่อาจไม่ได้ดั่งใจของแกนนำและมวลชนที่ต้องการความรวดเร็วทันใจ รื้อเป็นรื้อ-ทุบเป็นทุบ แต่รัฐเองก็มีข้อจำกัด ในแง่เทคนิควิธีและความรับผิดชอบทางกฎหมาย จึงไม่อาจรับข้อตกลงนี้ได้บนโต๊ะเจรจา จึงเป็นภาระระยะต่อไปของเครือข่ายฯ ที่จะดำเนินการ อย่างไรเพื่อให้เกิดการย้ายอาคารเหล่านั้นออกไป อาจจะเป็นการรื้อย้าย รื้อถอนปลูกใหม่ ปรับปรุงพื้นที่เสี่ยงด้วยการย้ายอาคารสิ่งปลูกสร้างกีดขวาง ฯลฯ หรืออะไรก็ตามที่เป็นที่ตกลงปลงใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย ในขณะที่อาคารซึ่งไม่มีคนใช้อาศัยก็ยังร้างต่อไปเรื่อยๆ ตราบที่ยังหาข้อตกลงไม่ได้
“…. นี่ก็เรียกว่าชัยชนะได้ ! แม้จะเป็นชัยชนะในสมรภูมิ มิใช่ชนะศึกในบั้นปลาย การศึกสงครามนั้นบางทีก็ควรเปิดทางไว้บ้าง พฤติกรรมของสังคมไทย ไม่ใช่สังคมแบบได้หมด-เสียหมด zero-sum game ! ระหว่างนี้ ก็ฟื้นฟูพื้นที่กันไป ไม่รู้ว่าการเร่งปลูกต้นไม้ฟื้นฟูจะทันการณ์ สามารถป้องกันเหตุไม่คาดฝันฝนตกหนัก ดินสไลด์ น้ำซัด หรือกระทั่งเกิดน้ำป่าส่งมาจากพื้นที่นี้ลงไปบ้านเรือนเบื้องล่างหรือเปล่า อันนี้เป็นเหตุแห่งอนาคต
“ปมปัญหาบางเรื่อง ตอนนี้หลายคนมองไม่ออกว่าต้องแก้ปมอย่างไร แต่หากปล่อยเวลาไปสักระยะ อาจจะห้าเดือน แปดเดือน … เมื่อถึงตอนนั้น ช่องทางและวิธีแก้อาจจะปรากฏขึ้นมาให้เห็นเอง ถึงแม้จะไม่ใช่ชัยชนะเบ็ดเสร็จรวดเดียวจบ และยังเหลือขั้นตอนและจุดที่ต้องเข้าไปจัดการรออยู่ แต่โรดแมพตามแนวทางนี้ที่ได้มา…ก็คู่ควรเรียกมันว่าชัยชนะอยู่ดี! ยกนี้จบแค่นี้ – หวังว่าไม่จำเป็นต้องมียกต่อไป…”
ขณะที่อยู่ระหว่างการรอคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นทางการสองชุด คือ คณะกรรมการเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และคณะกรรมการดำเนินการกับสิ่งก่อสร้างเพื่อให้พื้นที่เป็นป่าสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561 ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่เข้าทำการรังวัดพื้นที่โครงการในส่วนที่ล้ำแนวป่าดั้งเดิมขึ้นไป ครอบคลุมพื้นที่ก่อสร้างบ้านพัก 45 หลัง และอาคารชุด 9 หลัง ซึ่งจะทำให้เห็นแนวเขตที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมฟื้นฟู
หลังจากนี้ กองทัพและจังหวัดเชียงใหม่ จะนำเครื่องจักรเข้าดำเนินการทำเส้นทางเข้าออกพื้นที่โครงการผ่านทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อความสะดวกโดยไม่ต้องผ่านพื้นที่ของศาลอุทธรณ์ภาค 5 และในวันที่ 27 พ.ค. ทางกองทัพภาคที่ 3 จะนำประชาชนร่วมกิจกรรมปลูกป่าในพื้นที่โครงการซึ่งเป็นการฟื้นฟูพื้นที่ในระยะเร่งด่วนก่อนที่เข้าสู่ช่วงหน้าฝนเพื่อป้องกันการถูกชะล้าง ส่วนแผนฟื้นฟูระยะต่อไปต้องรอจนกว่าธนารักษ์จะได้รับการส่งมอบพื้นที่คืนมา โดยต้องรอให้ทางผู้รับเหมาก่อสร้างเสร็จและส่งมอบงานให้แก่ทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 จนเสร็จสิ้นขั้นตอนในช่วงกลางเดือน มิ.ย. 61 นี้ก่อน
อย่างไรก็ตาม สภาพโครงการก่อสร้างอาคารบ้านพักตุลาการล่าสุดที่มีการเข้าไปสำรวจตรวจสอบพื้นที่นั้นออกอาการน่าเป็นห่วงพอควร โดย“สำนักข่าวเห็ดลม” รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2561 นางพิมพ์สุชา สมมิตรวศุตม์ เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) รอบดอยสุเทพ-ปุย กล่าวถึงสภาพพื้นที่ป่าในเขตบ้านพักตุลาการ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หลังจากเข้าสำรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา พร้อมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า อาคารชุด 9 หลัง ที่มีการส่งมอบแล้ว ว่าจากสภาพที่เห็นพบว่าป่าสูญสลายหายไปหมดแล้ว ไม่มีสภาพหลงเหลือความเป็นป่า แต่กลายเป็นบ้านจัดสรร มีชุมชนเข้าไปบริหารจัดการเป็นพื้นที่พักอาศัย แต่ก็มีพื้นที่ว่างพอที่จะปลูกต้นไม้ได้อยู่ ยอมรับว่ารู้สึกใจหาย อยากสะท้อนว่าสิ่งที่เราเรียกร้องให้ฟื้นฟูสภาพป่าค่อนข้างริบหรี่และคงต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี กว่าที่จะกลับคืนมา ….
“มีหลายอย่างที่เราต้องช่วยกันทำ ทั้งการปลูกต้นไม้ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ แต่จากภาพที่เห็นมีต้นไม้ใหญ่ถูกทำลาย อาทิ การสร้างฟุตบาททับและเบียดลำต้น ซึ่งอาจะทำให้ตายได้ หากเราเข้าไปฟื้นฟูล่าช้าจะเกิดความเสียหายมากขึ้นไปอีก โดยในชุดอาคารชุด 9 หลัง ที่มีข้าราชการเข้าพักอาศัยบ้างแล้ว ที่น่ากังวลคือ น้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดไหลลงลำห้วยย่อยและลำห้วยชะเยือง หากฝนตกน้ำเสียจะไหลปนเปลงไปสู่ลุ่มน้ำแม่จอกหลวง จุดนี้น่าห่วงที่สุดเพราะไม่มีการผ่านบ่อบำบัดใดๆ เลย น้ำสีดำและมีกลิ่นเหม็นแล้ว หลังการมอบพื้นที่ในวันที่ 20 มิ.ย. 2561 จึงมีความเห็นว่าขอให้ข้าราชการย้ายออกให้เร็วที่สุด เพราะสภาพอาคารชุดบางหลังบริเวณคานมีรอยร้าว ดินยุบบางส่วน” ตัวแทนเครือข่ายอาสาสมัครฯ ให้ข้อมูล
ไม่แต่สภาพโครงการน่าเป็นห่วงเท่านั้น ความไว้เนื้อเชื่อใจกันก็น่าห่วงไม่น้อย โดยล่าสุด ในการเข้ารังวัดพื้นที่เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561 เจ้าหน้าที่รังวัดจากธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 33 (มทบ.33) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เข้าทำการรังวัดที่ดินที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการตุลาการ ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี เพื่อทำการแบ่งศาลออกเป็นสองส่วนตามมติที่ประชุมร่วมกันระหว่างนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กับตัวแทนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าอดอยสุเทพ เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีคณะตัวแทนจากประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 เข้าร่วมชี้แนวเขต ทั้งนี้พื้นที่ซึ่งจะต้องตัดออก ประกอบด้วย บริเวณอาคารชุดจำนวน 9 หลัง จาก 13 หลัง และบ้านเดี่ยวบนเนินเขาจำนวน 45 หลัง รวมเนื้อที่ประมาณ 75 ไร่ นั้น ทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่อนุญาตให้ตัวแทนเครือข่ายฯ หรือแม้แต่สื่อมวลชนเข้าร่วมการรังวัดพื้นที่แต่อย่างใด
นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายและประธานชมรมร่มบิน และนายหฤษฎ์ ขาวสุทธิ์ คณะทำงานเครือข่าย และนายศิรพงษ์ นำภา ป้องกันจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสื่อมวลชนเข้าสังเกตการณ์การรังวัดพื้นที่ดังกล่าวอยู่ที่บริเวณเนินเขาริมรั้วสำนักงานศาลอุทธรณ์แทน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของฝ่ายศาลพยายามตะโกนห้ามไม่ให้มีการบันทึกภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่รังวัดเป็นระยะ
“…. ไม่ให้เราเข้าก็ไม่เป็นไร แต่รู้สึกแปลกใจที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการรังวัด เพราะตามปกติการรังวัดที่ดิน นอกจากจะต้องมีเจ้าหน้าที่รังวัดแล้ว จะต้องมีท้องถิ่น เช่น อบต. กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน มาชี้เขตว่านี้คือลำห้วย และมีชาวบ้านมาร่วมชี้แนวเขต ตามหลักการรังวัดตามกฎหมาย…. นายธีระศักดิ์ ให้สัมภาษณ์กับ “สำนักข่าวเห็ดลม”
เมื่อบวกเข้ากับสถานการณ์ความไม่น่าไว้วางใจที่เกิดขึ้น โดยนายบัณรส นายบัณรส บัวคลี่ โฆษกเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Bunnaroth Buaklee ระบุว่า เมื่อ 9 พ.ค. ได้รับแจ้งจากประชาชนชาวเชียงใหม่รายหนึ่ง โดยสารเครื่องบินสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG104 เส้นทาง สุวรรณภูมิ – เชียงใหม่ พบเห็นชายผู้หนึ่งที่ระบุว่าเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการฯ คุยโทรศัพท์ก่อนที่เครื่องบินจะบินขึ้น มีประโยคหนึ่งพาดพิงไปถึงแกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ด้วยข้อความที่หยาบคายถึงขั้นเรียกคำว่า “ไอ้”
กระทั่งเวลา 09.55 น. เที่ยวบินมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ชายคนดังกล่าวโทรศัพท์อีกครั้ง โดยต้นสายกล่าวว่า ต้องฟ้องเอาผิดแกนนำเป็นคนแรก ส่วนคนอื่นๆ ถ้าไม่คดีอาญาก็คดีแพ่ง ขณะนี้ให้ยื้อเรื่องราวออกไปก่อน เพราะมีคนประมาณ 80% เห็นด้วย ยังมีอีก 10% ที่ไม่เอาด้วย ถ้าไม่รีบทำอะไรโครงการนี้ล่มแน่ๆ ยังไงจะรอสแตนบายอยู่ทางนี้ มีอะไรโทรหาได้ เมื่อผู้พบเห็นแจ้งเบาะแสพร้อมภาพถ่ายชายคนดังกล่าว พบว่า เป็นผู้มีบทบาท มีตำแหน่งเกือบสูงสุดในสายงานธุรการ ขององค์กรใหญ่สำคัญ ซึ่งจากเรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้แกนนำฯ ต้องประเมินสถานการณ์ใหม่อีกครั้ง
ยกแรกเพิ่งจบสวยแบบ Win Win ยังไม่ทันไร ระฆังยกสองก็ดังขึ้นด้วยความหวาดระแวง
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ