“อดุลย์” ยัน ต้องปลดล็อกอาชีพสงวน 'วิศวกร สถาปัตย์ บัญชี' ให้ต่างด้าวทำ เพราะมีข้อตกลงเคลื่อนย้ายแรงงานอาเซียนผูกมัด แต่ไม่ได้ปล่อยอิสระ กลางมิ.ย. จ่อขอมติบอร์ดเปิดไฟเขียวให้ทำได้ 12 จาก 39 อาชีพ เพิ่มนวดไทยเป็นงานห้ามใหม่ 1 อาชีพ ให้มีผลบังคับใช้ก่อน 1 ก.ค.
กรณีกระทรวงแรงงาน จะเปิดไฟเขียว 39 อาชีพสงวนคนไทย ให้ต่างด้าวทำได้ 12 อาชีพ ภายในเดือน มิ.ย. โดยอ้างว่า เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่ทางสภาวิศวกร ได้คัดค้านให้คงวิชาชีพวิศวกรรมโยธาเป็นงานสงวนของคนไทยต่อไป เพราะเป็นงานที่เกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยนั้น
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน กล่าวถึงเรื่องนี้ หลังประชุมร่วมกับ นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน ถึงการกำหนดงานห้ามคนต่างด้าวทำ เพื่อออกเป็นกฎกระทรวง ว่า กรมการจัดหางาน ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นหลายครั้ง และจะนำข้อสรุปเข้าที่ประชุมขอมติคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวกลางเดือน มิ.ย. โดยอาชีพสงวนสำหรับคนไทย 39 อาชีพ มีการเสนอให้ต่างด้าวทำได้ 1 อาชีพ คือ งานกรรมกร ทำได้แบบมีเงื่อนไข 11 อาชีพ ส่วนอีก 28 อาชีพ ห้ามทำโดยเด็ดขาด มีงานนวดไทยเป็นงานห้ามใหม่ 1 อาชีพ
พล.ต.อ. อดุลย์ กล่าวว่า 3 ใน 11 งาน ที่เป็นงานห้ามแต่จะอนุญาตให้ต่างด้าวทำได้ภายใต้เงื่อนไข คือ 1. งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธาเกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย 2. งานให้บริการวิชาชีพทางบัญชี ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทางบัญชี แต่ไม่รวมถึงการตรวจสอบภายใน และ 3. งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรม ที่เกี่ยวกับออกแบบ เขียนแบบ ประมาณราคา ซึ่งเป็น 3 งาน ที่ต้องอนุญาตให้ทำได้ภายใต้เงื่อนไข เพราะไทยต้องปฏิบัติตามพันธะที่ทำไว้กับ 10 ประเทศอาเซียน ในการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศสมาชิกจึงต้องยกเว้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพตามข้อตกลงที่ทำไว้
"มันเป็นข้อตกลงในการเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียน ทำมานานหลายปีแล้ว จึงต้องปฏิบัติตาม แต่การอนุญาตจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแต่ละประเทศ ซึ่งงานแต่ละสาขาจะมีสภาวิชาชีพดูแลอยู่แล้ว จะมาทำงานบ้านเราก็ต้องเป็นไปตามกฎระเบียบตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งไทยก็สามารถไปทำงานนี้ในประเทศสมาชิก เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ได้เช่นกัน มาบ้านเราต้องมีผู้จ้างวาน ไม่เป็นเจ้าของกิจการเอง ไม่ได้ปล่อยให้ทำอิสระ จึงไม่ต้องกังวล จะให้ทำได้เท่าที่จำเป็น โดยจะคงอาชีพหลักไว้ให้คนไทย แต่บางอาชีพคนไทยยกระดับฝีมือไปแล้ว จึงจำเป็นต้องใช้ต่างด้าว แต่ยังต้องฟังผลการพิจารณาของบอร์ด" พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว
ด้าน นายอนุรักษ์ กล่าวถึงกรณี ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร คัดค้านการเปิดไฟเขียววิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธาให้คนต่างด้าว เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่ต้องได้รับการควบคุม เพราะมีผลกระทบด้านความปลอดภัยของประชาชน ว่า อาจเป็นเพราะข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอทำให้เข้าใจผิด เพราะการอนุญาตเป็นไปตามข้อตกลงในอาเซียน และต้องได้รับอนุญาตจากสมาคมวิชาชีพ ขณะนี้ยังเป็นเพียงการประมวลผลการรับฟังจากทุกภาคส่วนเท่านั้น ยังไม่ใช่ข้อยุติ เช่น งานเสริมสวย ตัดผม ขายของหน้าร้าน กำหนดเป็นงานห้ามเด็ดขาด ส่วนงานก่ออิฐ ช่างไม้ ช่างก่อสร้าง อื่นๆ เดิมเสนอเป็นงานไม่ห้าม แต่ก็กลัวว่า จะแย่งอาชีพคนไทย ด้วยการผันตัวมาเป็นนายจ้างรับเหมางานเอง จึงให้คงเป็นงานห้ามแบบมีเงื่อนไข ต้องเป็นลูกจ้างเท่านั้น หากนำเข้าบอร์ดอาจพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ เพราะบอร์ดมี 28 คน จากหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม โดยกระทรวงแรงงานจะอนุญาตให้ทำงานเท่าที่จำเป็นเป็นกรณีว่ามีความขาดแคลนแค่ไหน ถ้ามีคนไทยทำได้จะไม่อนุญาตก็ได้
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ