จูดี้ เพอร์กินส์ วิศวกรหญิงชาวอเมริกันวัย 49 ปี ได้เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายคนแรกของโลกที่หายขาดด้วยการรักษาแบบ "ภูมิคุ้มกันบำบัด" (Immunotherapy)
มีการรายงานกรณีดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของวงการแพทย์ระดับโลกในวารสาร Nature Medicine โดยพบว่าเซลล์มะเร็งในร่างกายของเพอร์กินส์ถูกทำลายจนหมด หลังจากแพทย์ใช้วิธีทำให้เซลล์ภูมิคุ้มกันหรือ ที-เซลล์ (T-cell) ในร่างกายของเธอเอง กลายเป็นเซลล์นักฆ่าที่ออกค้นหาและทำลายเซลล์มะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ
ทีมแพทย์และนักวิจัยประจำสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ให้การรักษาดังกล่าวกับเพอร์กินส์บอกว่า ก่อนหน้านี้คนไข้มีอาการของโรคมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย โดยเซลล์มะเร็งกระจายไปตามอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ทั้งมีก้อนเนื้อร้ายขนาดใหญ่เท่าลูกเทนนิสที่ตับอีกด้วย แต่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบดั้งเดิมเช่นการผ่าตัดและเคมีบำบัด
แพทย์ได้ตัดสินใจให้เพอร์กินส์เข้าร่วมการทดลองใช้วิธีรักษาทางเลือก โดยมีการผ่าตัดนำชิ้นส่วนเนื้อร้ายออกมาวิเคราะห์พันธุกรรม ว่ามียีนกลายพันธุ์ในส่วนใดที่เซลล์ภูมิคุ้มกันของคนไข้จะพอมองเห็นและเข้าโจมตีได้บ้าง
นอกจากนี้ ยังมีการมองหาเซลล์ภูมิคุ้มกันส่วนน้อยที่ได้ผ่านเข้าไปโจมตีเซลล์มะเร็งแล้วจากชิ้นส่วนเนื้อร้ายของคนไข้ด้วย โดยจะนำเซลล์ภูมิคุ้มกันที่มีประสบการณ์โจมตีเซลล์มะเร็งแล้วนี้ไปเพาะให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นหลายพันล้านเซลล์ แล้วนำมาคัดเลือกเอาแต่ที่มีคุณสมบัติสามารถมุ่งเป้าโจมตียีนกลายพันธุ์ในส่วนที่เป็นจุดอ่อนของเซลล์มะเร็งได้
แพทย์ฉีดเซลล์ภูมิคุ้มกัน 9 หมื่นล้านเซลล์ที่ผ่านการเพาะและคัดเลือกแล้วนี้ กลับเข้าไปในร่างกายของเพอร์กินส์ ทำให้หนึ่งสัปดาห์ต่อมาเธอมีอาการดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ โดยรู้สึกได้ว่าก้อนเนื้อในทรวงอกยุบตัวเล็กลงและหายไปภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์
ปัจจุบันแพทย์ไม่พบเซลล์มะเร็งในร่างกายของเพอร์กินส์มานานกว่า 2 ปีแล้ว และเธอเองมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น โดยสามารถออกเดินทางท่องเที่ยวแบบแบกเป้ตามลำพัง และพายเรือคายักในทะเลเป็นระยะทางไกลรอบรัฐฟลอริดาได้นานกว่าหนึ่งเดือน
นพ. สตีเฟน โรเซนเบิร์ก หัวหน้าศัลยแพทย์ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐฯ หนึ่งในผู้ให้การรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดกับเพอร์กินส์บอกว่า วิธีนี้ช่วยเปิดประตูสู่ยุคแห่งการรักษาโรคแบบเฉพาะเจาะจงที่ออกแบบให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละรายอย่างแท้จริง
"วิธีภูมิคุ้มกันบำบัดมีศักยภาพสูงในการเป็นยารักษาโรคมะเร็ง ซึ่งใช้ได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพกับมะเร็งทุกชนิด" นพ. โรเซนเบิร์ก กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทีมแพทย์เตือนด้วยว่า วิธีการนี้ยังมีราคาแพง ทั้งยังถือว่าอยู่ในขั้นทดลองโดยยังประสบความสำเร็จในการรักษาคนไข้ได้เพียงรายเดียวเท่านั้น ทำให้จะต้องมีการทดสอบเพิ่มเติมอีกนานกว่าที่จะนำมาใช้กับคนไข้ทั่วไปได้
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ