ดอกเตอร์ด้านดาราศาสตร์หญิงไทยวัย 47 คือ อดีตเด็กสาวเรียนดีจากเชียงใหม่ ผู้ก้าวข้ามข้อจำกัดของสังคม เอาชนะอุปสรรค เปลี่ยนความสุขในวันเด็กจากการสัมผัสความงามของท้องฟ้า มาเป็น นักดาราศาสตร์ไทยหนึ่งเดียวในเยอรมนี
ดร. บุษบา (หุตะวรากร) คราเมอร์ วัย 47 ปี เป็นนักดาราศาสตร์วิทยุประจำสถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ที่เมืองบอนน์ในเยอรมนีมาตั้งแต่ปี 2552 หนึ่งในหน้าที่ความรับผิดชอบของเธอคือการศึกษาวิจัยข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุเอฟเฟลสเบิร์ก (Effelsberg) ซึ่งเป็นหนึ่งในกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 100 เมตร
สถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2509 เป็นหนึ่งในสถาบัน 80 แห่งในเครือมักซ์พลังค์
ดร. บุษบา เล่าให้บีบีซีไทยฟังถึงเส้นทางการเรียนการทำงานที่ผกผัน ความผิดหวัง และความมุ่งมั่นในชีวิตของเธอ
กล้องดูดาวจากท่อพีวีซี
บุษบาเกิดและโตที่ จ. เชียงใหม่ พร้อมกับประสบการณ์ความประทับใจในวัยเด็กที่ หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
"ได้ไปนับฝนดาวตก ได้ทำกิจกรรม ตอนนั้นค้นพบด้วยว่ามีความสุขอยู่กับการไม่หลับไม่นอนใต้ท้องฟ้า การดูดาวผ่านกล้องดูดาว แม้กล้องจะตัวเล็กก็ทำให้อัศจรรย์ใจ" บุษบาเล่าถึงความตื่นเต้นในวัยเด็ก แม้ตอนนั้นเธอยังไม่รู้สึกว่าอยากเป็นนักดาราศาสตร์ก็ตาม
ค่ายวิทยาศาสตร์ภาคฤดูร้อนช่วยเปิดโลกทัศน์ในวัยเด็กให้บุษบา
การได้ค้นพบตัวเองเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่ทำให้เธอมาถึงทุกวันนี้ได้ ช่วงมัธยมปลายเธอมีโอกาสได้เข้าค่ายวิทยาศาสตร์ภาคฤดูร้อนที่เชียงใหม่ ใกล้เคียงกับการปรากฎตัวของดาวหางฮัลเลย์ ซึ่งโคจรมาให้คนบนโลกได้เห็นทุก 74-79 ปี ญาติของเธอประดิษฐ์กล้องดูดาวจากท่อพีวีซีให้เธอได้ดูดาวหางฮัลเลย์ด้วยตัวเองที่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ความตื่นตาตื่นใจจากประสบการณ์ในครั้งนั้นทำให้เธอบอกตัวเองว่าอยากเป็นนักดาราศาสตร์
"ได้ไปดูดาวที่หอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ฟังบรรยาย รู้สึกทึ่งความงามของเอกภพ ของท้องฟ้าเวลาค่ำคืน เป็นสิ่งที่น่าพิศวง น่าศึกษา เราก็คิดว่าทางด้านดาราศาสตร์ ห้องแล็บของเราคือทั้งเอกภพ ทั้งท้องฟ้า วัตถุทุกอย่าง และกล้องดูดาวก็เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ศึกษาห้องแล็บของเรา"
ไม่ได้ทุนเรียนดาราศาสตร์เพราะเป็นผู้หญิง
ด้วยความเป็นเด็กเรียนดีทำให้บุษบาได้รับทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ทุน พสวท.) เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เธอเลือกเรียน สาขาฟิสิกส์ วิชาเอกฟิสิกส์ดาราศาสตร์
หลังจบปริญญาตรี เธอสมัครทุนการศึกษาของรัฐบาลที่มอบให้ผู้เรียนจบได้เกียรตินิยมอันดับ 1 เพื่อเรียนต่อระดับปริญญาโทต่างประเทศ โดยเธอสมัครเรียนสาขาดาราศาสตร์ และได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาหลายแห่ง แต่ไม่ผ่านการสัมภาษณ์เนื่องจากคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิผู้ชายทั้งหมดลงความเห็นว่าเธอเป็นผู้หญิง ไม่เหมาะกับการเรียนการทำงานในสาขานี้
ตอนอยู่ม.5 บุษบากับเพื่อนได้รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3 ของภาคเหนือจากโครงกาาร "สนามแม่เหล็กกับการงอกของถั่วเขียว" ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
"ย้อนกลับไปเมืองไทยสมัยนั้นก็อาจจะเหมือนทุกประเทศก็คือว่าสาขาวิศวกรรม ฟิสิกส์ มันเป็นอะไรเหมือนของผู้ชาย ไม่ใช่ของผู้หญิง คณะกรรมการเขาก็เห็นว่าคุณเป็นผู้หญิง แล้วคุณจะไปเป็นนักดาราศาสตร์ ถ้าเกิดคุณท้องและมีครอบครัวแล้วจะทำอย่างไร เหมือนว่าใช้ความเป็นผู้หญิงมาเป็นอุปสรรค ซึ่งตอนนั้นเราเป็นเด็กเราก็ไม่เข้าใจ แต่เราเห็นแล้วในปัจจุบัน ยุคนั้นกับยุคนี้คงต่างกัน ยุคนี้ไม่ว่าคุณเป็นผู้หญิงผู้ชายคุณทำได้ทุกอย่าง" บุษบาเล่าถึงความผิดหวังเมื่อปี 2534
ความผิดหวังคราวนั้น ทำให้บุษบาร้องไห้เสียใจ "รู้สึกหัวใจสลาย" การถูกปฏิเสธจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ขาดวิสัยทัศน์ เหมือนถูกหลอกให้ค้นหาสิ่งที่ชอบแต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุน อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา เธอได้เห็นแล้วว่าไม่ว่าจะเพศใดก็ทำงานได้เหมือนกัน เพราะการทำงานส่วนใหญ่ต้องอาศัยทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และการวิเคราะห์ข้อมูล
ค้นพบตัวเองอีกครั้งจากความล้มเหลว
หลังพลาดทุนการศึกษาที่มุ่งหวัง เธอหันมาสมัครทุนการศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้การดูแลของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จึงได้ไปศึกษาต่อสาขาวิศวกรรมดาวเทียมและโทรคมนาคมที่มหาวิทยาลัยเซอร์รีย์ในอังกฤษ
ปี 2535 บุษบาจากเชียงใหม่มาผจญโลกกว้างด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกในชีวิตที่อังกฤษ ซึ่งเธอบอกว่าเป็นปีที่ประสบความล้มเหลวและผิดหวังที่สุดในชีวิต จากเคยเป็นคนที่เรียนเก่งมาตลอด เมื่อต้องมาเรียนในสาขาวิชาที่ไม่มีใจรัก ผลการเรียนไม่ดี สอบตก เริ่มรู้สึกเครียด เธออดทนเรียนจนจบหลักสูตรได้มาแค่วุฒิการศึกษา Postgraduate Diploma เธอถอดใจคิดกลับไทยไปทำงานใช้ทุน พับแผนเรียนต่อปริญญาเอกไว้ภายหลัง
ก่อนเดินทางกลับไทยเธอค้นคว้าหาข้อมูลในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย และพบว่าที่อังกฤษเองมีการเรียนการสอนด้านดาราศาสตร์ด้วย
กล้องโทรทรรศน์วิทยุโลเวลล์ที่หอดูดาวโจเดรลแบงค์ในแมนเชสเตอร์ เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2500
บุษบาดำเนินเรื่องขออนุมัติจากเนคเทค เพื่อย้ายไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท-เอก สาขาดาราศาสตร์วิทยุที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ จนคว้าปริญญาเอกมาได้ในที่สุดในเวลา 4 ปี
"ท้อที่สุดในชีวิตอาจเป็นช่วงที่รับทุนมาเรียนต่อปริญญาโทในสาขาที่เราไม่ได้ชอบ แต่เราไปค้นพบตัวเองตรงนั้นเลยว่า ถ้าเราชอบอะไรจริงจัง เวลาเรามีปัญหามีอุปสรรค เราจะไม่ท้อแท้ จะพยายามแก้ปัญหาให้ได้"
บุษบาจบการศึกษาชั้นปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์
ทำในสิ่งที่ชอบ ชอบในสิ่งที่ทำ
ความผกผันในชีวิตเธอไม่จบแค่นั้น ก่อนเดินทางกลับไทยบุษบาได้พบกับคนรักชาวเยอรมัน แต่เธอต้องกลับมาทำงานใช้ทุนที่ไทยเป็นเวลา 10 ปี ระหว่างนี้เธอดำเนินความสัมพันธ์ระยะไกลไปด้วย แม้หลังแต่งงานกัน เธอกับสามีก็ยังต้องแยกกันอยู่ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างมีภาระหน้าที่ การงานที่ต้องรับผิดชอบ
บุษบาเริ่มงานที่เนคเทคในปี 2541 หนึ่งในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายคือเป็นผู้จัดการคุณภาพแล็บ ซึ่งเป็นงานที่ไม่ตรงกับความรู้ด้านดาราศาสตร์ที่เรียนมา แต่เธอก็พยายามทำงานด้านดาราศาสตร์ไปด้วยเพื่อให้มีสิ่งที่รักเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว โดยแบ่งเวลาไปทำงานเป็นอาจารย์พิเศษสอนด้านดาราศาสตร์ตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ หันมาชอบ และสนใจวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์
"ถ้าไม่ได้ทำงานที่เราชอบ เราก็ควรชอบในงานที่เราทำ ตระหนักในภาระหน้าที่ที่เราได้รับมอบหมาย แล้วก็ตั้งใจทำ ตีโจทย์ให้แตก ทำให้มันดีที่สุดเราก็ไปชอบมันได้"
บุษบาช่วยงานสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2548
ในปี 2547 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวางแผนก่อตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) บุษบาจึงมีโอกาสได้ย้ายมาปฏิบัติงานในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการเพื่อช่วยจัดตั้งสถาบัน
หลังใช้ทุนหมดในปี 2552 บุษบาย้ายจากไทยไปใช้ชีวิตกับสามี ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์วิทยุชาวเยอรมัน ทั้งคู่ได้งานที่สถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ ในเมืองบอนน์ เยอรมนี ซึ่งเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานแบบตำแหน่งร่วม (Joint Position) เธอจึงประสานงานให้สถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์กับ สดร. เซ็นสัญญาประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
ปัจจุบัน บุษบาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์นานาชาติของ สดร. ควบคู่ไปกับงานประจำที่เยอรมนี เพื่อช่วยพัฒนางานด้านดาราศาสตร์วิทยุของไทยอย่างต่อเนื่อง
"มีความสุขในการได้ร่วมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรารัก มีส่วนร่วมเป็นคนช่วย เราเป็นกำลังเป็นตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่สามารถช่วยกันทำวิสัยทัศน์ที่ดีให้เป็นจริง"
บุษบาบอกด้วยว่า การได้ทำในสิ่งที่ชอบทำให้เธอไม่เคยรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง ทุกครั้งที่เจออุปสรรคเธอมีความสุขในการแก้ปัญหา
"ไม่แน่ใจว่าเคยท้อแท้มั้ย ตั้งแต่รู้สึกว่าเราได้ทำในสิ่งที่ชอบ ความรู้สึกท้อแท้นี่แทบจะจำไม่ได้ว่ามี" บุษบากล่าว
ศาสตร์ที่ไร้พรมแดน
บุษบาบอกว่า นักดาราศาสตร์ถูกปลูกฝังให้คิดว่า ทุกคนคือประชากรของโลกไม่ว่าจะมาจากประเทศไหนก็ตาม ดังนั้น นักดาราศาสตร์ต้องทำงานร่วมกันอยู่เสมอ ยิ่งผู้ร่วมงานมากยิ่งเป็นประโยชน์
"โลกเป็นแค่ดาวเคราะห์ดวงหนึ่งของระบบสุริยะ โลกเราเล็กมาก แล้วเราเป็นคนในโลก เราก็ยิ่งเล็ก ฉะนั้นปัญหาอะไรต่าง ๆ แทบจะไม่ใช่สิ่งที่ใหญ่หลวง นักดาราศาสตร์มีปรัชญาตัวนี้อยู่ในจิตใจ ทำให้สามารถทำงานร่วมกันและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน"
เมื่อพูดถึงความสำเร็จในชีวิต บุษบาบอกว่า เธอคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จแล้ว เพราะมีครอบครัวที่อบอุ่นและได้ทำงานที่รัก
"ชีวิตส่วนตัวลงตัว ชีวิตการทำงานลงตัว การทำงานเราก็มีส่วนร่วมในการพัฒนา ถึงมาอยู่เยอรมนีก็สามารถพัฒนาประเทศชาติ พัฒนาประเทศไทยของเราได้"
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ