จับแก้วปลอม หรือสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ดีเอสไอสามารถทำได้ แจงเป็นหน้าที่ตามพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 หลังเจอกระแสดราม่าถูกแนะให้ไปทำคดีพิเศษอื่นๆ โชว์ผลงานทำคดีเสร็จกว่า 2,500 คดี
กรณีปรากฏข่าวคอลัมน์ สื่อบางฉบับ นำเสนอข่าวการจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กรณีแก้วน้ำปลอมเครื่องหมายการค้าและละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ของดีเอสไอ พร้อมแสดงความเห็นว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอหรือไม่ และเสนอแนะว่า ดีเอสไอควรไปทำการสอบสวนคดีพิเศษอื่นๆ
มื่อวันที่ 18 มิ.ย. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยแพร่เอกสารข่าวชี้แจงว่า การกระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา อันประกอบด้วย ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ที่มีความรุนแรงต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ประเทศไทยตกเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ของประเทศสหรัฐอเมริกา และมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ทางการค้าของประเทศในด้านต่างๆ
เอกสารข่าวระบุต่อว่า ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งดีเอสไอ พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ได้กำหนดให้ความผิดในเรื่องดังกล่าว ที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ หรือที่กระทำเป็นลักษณะอาชญากรรมข้ามชาติ องค์กรอาชญากรรม รวมถึงที่มีผู้มีอิทธิพลที่สำคัญอยู่เบื้องหลังการกระทำผิด เป็นคดีพิเศษ โดยดีเอสไอได้เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ
ซึ่งดีเอสไอได้มีการปราบปรามจับกุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นคดีพิเศษอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับองค์กรเอกชนหลายองค์กร รวมถึงผู้แทนผู้เสียหายทั้งในและต่างประเทศ จนเมื่อ พ.ศ. 2560 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ปลดประเทศไทยพ้นจากประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ เป็นประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) ทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์หลายประการเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามความผิดประเภทนี้อย่างต่อเนื่องของทุกฝ่าย และดีเอสไอยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
เอกสารข่าวระบุอีกว่า การปราบปรามจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตามที่เป็นข่าว มีมูลค่าความเสียหาย หากคำนวณตามมูลค่าสินค้าแท้ เป็นเงินกว่า 60 ล้านบาท จึงอยู่ในข่ายที่ดีเอสไอต้องดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติงานของดีเอสไอและมีการตั้งข้อสังเกต ทำให้ดีเอสไอได้มีโอกาสชี้แจงอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงาน อันจะทำให้สาธารณชนที่ติดตามข่าวสารได้ทราบและเข้าใจบทบาทและภารกิจของกรมสอบสวนคดีพิเศษเกี่ยวกับงานละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาดียิ่งขึ้น
สำหรับประเด็นข้อเสนอแนะที่ให้ดีเอสไอเร่งทำคดีพิเศษอื่นๆ นั้น ขอชี้แจงว่า กรมมีการเร่งรัดดำเนินการในทุกคดี โดยมีคณะกรรมการระดับกรมกำกับติดตาม และต้องรายงานข้อมูลด้านคดีต่อคณะกรรมการคดีพิเศษด้วย เพียงแต่ที่ผ่านมา กรมไม่ได้มีการเสนอข่าวต่อสาธารณชน ซึ่งนับจนถึงปัจจุบัน ดีเอสไอมีการสืบสวนคดีพิเศษเสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 2,500 คดี
ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า สิ่งที่ดีเอสไอดำเนินการเป็นอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอ และเป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อผู้ร้องหรือเจ้าของลิขสิทธิ์มาร้องดีเอสไอ ดีเอสไอก็ต้องทำ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ