สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยซีลที่เสียชีวิต ไว้ในพระราชานุเคราะห์





 

นายภาสกร บุญญลักษม์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จากปฏิบัติการช่วยชีวิตทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีแม่สายที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุน-น้ำนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้เกิดเหตุทีมกู้ภัยชื่อ จ่าเอก สมาน กุนัน อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยซีล ซึ่งลาออกไปทำงานที่ ทอท.สุวรรณภูมิ ที่มาช่วยทำงานสนับสนุนหน่วยซีล มีหน้าที่นำขวดอากาศไปวาง ขากลับหมดสติ คู่หูได้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 01.00 น.

ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับไว้ในพระราชานุเคราะห์ และรับสั่งให้จัดงานอย่างสมเกียรติ โดยจะมีพิธีส่งศพเย็นนี้ที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวง เชียงราย โดย นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธี มีทหารกองเกียรติยศส่งศพอย่างสมเกียรติ ส่งศพโดยเครื่องบินทหารถึงฐานทัพเรือสัตหีบ โดยทรงพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และทรงให้ดูแลครอบครัว ซึ่งญาติจะรับศพไปประกอบพิธีที่บ้านเกิดจังหวัดร้อยเอ็ด

ด้าน พลเรือตรี อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กล่าวว่า รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่มีใครอยากให้เกิดความสูญเสีย อย่างไรก็ตาม หน่วยซีลทุกคนถูกฝึกให้ทำงานในสถานการณ์ที่ยาก การบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเป็นเรื่องปกติ และเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจแก่วงศ์ตระกูล ยืนยันว่าหน่วยซีลทุกคนมีขวัญและกำลังใจดีเยี่ยม และยังคงทำภารกิจช่วยเหลือเด็กทุกคนในถ้ำให้สำเร็จ ซึ่งขณะนี้มีช่องทางเดียวที่จะถึงตัวเด็กคือทางน้ำ โดยตั้งกองบัญชาการที่โถง 3 จากโถง 3 ไปถึงเนินนมสาว ระยะทาง 1,700 เมตร เป็นน้ำและมืด มีซอกมากมาย ยากลำบากต่อการเดินทาง ต้องดำน้ำเข้าไปใช้เวลาไป-กลับ 12 ชั่วโมง การปฏิบัติงานล่าสุด ได้วางแผนนำอากาศออกซิเจนเข้าไปทางท่อพร้อมสายโทรศัพท์ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ขณะนี้มีอดีตซีลเป็นอาสาสมัครช่วยงานอีกหลายคน ซึ่งซีลมีหน้าที่เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันในเหตุการณ์นี้ ถูกฝึกมาให้ทำงานในภาวะความเสี่ยงตลอดเวลา ดังนั้นความเจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญ ส่วนเด็กที่อยู่ด้านใน พันโทนายแพทย์ ภาค โรหารชุน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำอยู่กับเด็กๆ ไม่ต้องกังวล หากท่ออากาศถึงเด็กๆ ก็จะสามารถเติมอากาศจากด้านนอกได้ตลอด ส่วนปฏิบัติการสื่อสาร ล่าสุดได้ติดตั้งสัญญาณ wiifi ที่บริเวณโถง 3 แล้ว

พลตรีฉลองชัย ชัยยะคำ รองแม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า สถานการณ์ทำงานช่วยเหลือ ปัจจัยสำคัญคือเวลา ทำให้ต้องปรับแผนตลอดเวลา จากที่หลายคนสอบถามถึงความปลอดภัยของเด็กในสภาวะที่ต้องอยู่ในถ้ำ ล่าสุดเจ้าหน้าที่กำลังเร่งนำท่ออากาศพันสายโทรศัพท์สนามเพื่อเข้าไปถึงเด็กให้เร็วที่สุด เพื่อเติมออกซิเจนให้เด็กจากด้านนอก และหากโทรศัพท์สนามถึงเนินนมสาว เด็กๆ ก็จะได้คุยกับพ่อแม่ ขณะที่ด้านบนมีอากาศยานบินหาปล่องโพรง โพรงส่วนใหญ่ที่พบตัน โพรงใดน้ำซึมซับเข้าถ้ำก็จะอุดไม่ให้น้ำเข้าไปเติม ซึ่งต้องรักษาระดับน้ำในถ้ำให้คงที่และลดลง เพื่อสนับสนุนการทำงานของซีล

ข่าวจาก : springnews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: