เมื่อวันที่ 6 ก.ค.นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมอุทยานฯ ได้เข่าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงร่างแนวทางการฟื้นฟูถ้ำหลวง- ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ร่วมกับพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรฯ โดยได้มีการนำเสนอแผนแผนการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่วนอุทยานถ้ำหลวงฯ หลังจากภารกิจการช่วยเหลือเยาวชนทีมหมูป่าอคาเดมีแล้วเสร็จต่อที่ประชุม
โดยในระยะเร่งด่วน ด้านบริหารจัดการ จะมีการแบ่งเขตการบริหารจัดการให้ชัดเจน ในส่วนของเขตบริการ อาคารสถานที่ เขตนันทนาการ ที่นั่งพัก สนามหญ้า ถ้ำต่างๆ ในพื้นที่ มีการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เส้นทางศึกษาธรรมชาติ และในส่วนของเขตหวงห้ามพื้นที่ป่าโดยรอบที่มีความเปราะบางต้องมีการกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์และการเข้า- ออกภายในถ้ำหลวงฯ พร้อมทั้งจัดให้มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเฉพาะด้าน เจ้าหน้าที่กู้ภัย และจัดเวรยามเพิ่มขึ้น
ส่วนด้านการรักษาความปลอดภัยจะมีการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดทั่วทั้งบริเวณแหล่งท่องเที่ยว ปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่าง และจัดทำแผนช่วยเหลือฉุกเฉิน พร้อมทั้งมีการจัดทำระบบป้ายสื่อความหมายต่างๆ การติดตั้งระบบวัดระดับน้ำและการแจ้งเตือน จัดทำรั้วหรือประตู บริเวณทางเข้าไปภายในถ้ำหลวงฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำอีก
นายธัญญา กล่าวว่า ส่วนการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ดำเนินการค้นหาและกู้ภัยให้กลับคืนสู่สภาพเดิมอย่างต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน จะมีการฟื้นฟูปลูกต้นไม้ให้กลับสู่สภาพเดิม ทั้งในบริเวณที่ปรับปรุงเป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ 2 จุด บริเวณหลุมหรือปล่อง เบื้องต้นจำนวน 12 จุด และบริเวณที่มีการปิดกั้นเส้นทางน้ำ และฝายจำนวน 5 แห่ง
สำหรับมาตรการในระยะยาวจะมีการจัดตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและรักษาความปลอดภัย ให้ครอบคลุมทุกด้าน มีการปรับปรุงพื้นที่ พัฒนาถนนลาดยางแบบมีไหล่ทางและรางน้ำภายในและภายนอกแหล่งท่องเที่ยววนอุทยานถ้ำหลวงฯ ระยะทาง 10 กม.พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่เป็นต้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้กรมอุทยานฯได้สั่งปิดการท่องเที่ยวถ้ำ จำนวน 169 แห่ง ที่อยู่ในอุทยานฯ 103 แห่ง และอยู่ในวนอุทยานฯ 66 แห่งแล้ว จนกว่าจะมีการประเมินความปลอดภัยในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้ในเรื่องการฟื้นฟูถ้ำ แม้ว่าโครงสร้างทางธรณีวิทยาของถ้ำจะโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ แต่มีความเปราะบางง่ายต่อการถูกทำลายการฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิม ย่อมทำได้ยากและใช้ระยะเวลายาวนาน ในอนาคตจะต้องให้มีการลงทะเบียนผู้เข้า-ออกถ้ำ ทั้ง 169 แห่งในเขตอุทยาน ฯ
วนอุทยานฯ มีการทำประตูเข้าออกบริเวณที่จะนำไปสู่ปากทางเข้าถ้ำเพียงเส้นทางเดียว และมีเจ้าหน้าจัดเวรยามบริเวณทางเข้าออกทุกแห่ง นอกจากนั้นกรมอุทยานฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาให้อุทยานฯ และวนอุทยานฯที่มีถ้ำจำนวน 169 แห่ง สำรวจพื้นที่ ศึกษาข้อมูลตรวจสอบและพิจารณาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยให้สอดคล้องกับหลักวิชาการหากถ้ำใดทีเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าถึง ให้ดำเนินการปิดประกาศและประชาสัมพันธ์ให้ทราบ
ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ถ้ำ โดยบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรฯ และผู้เชี่ยวชาญเพื่อการบริหารจัดการและพัฒนาพื้นที่ถ้ำอย่างยั่งยืน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ