วันที่ 7 ก.ค. 61 เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน ยังคงระดมกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อหาวิธีการเคลื่อนย้ายออกจากถ้ำ ขณะเดียวกันมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายด้านต่างเสนอแนะแนวทางที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการนำตัวผู้ประสบภัยออกมาจากภายในถ้ำได้อย่างปลอดภัย
โดย นายไพโรจน์ ทุ่งทอง สถาปนิกอิสระ และ CEO The Bazaar Ratchadaphisek เปิดเผยว่า ตัวเองได้ประชุมหารือร่วมกับนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และทีมเจ้าหน้าที่ถึงแนวทางใหม่ในการช่วยเหลือทั้ง 13 คน ซึ่งมีวิธีการที่จะช่วยให้ 13 คนออกมาได้โดยไม่ต้องดำน้ำด้วยการใช้ท่อชีวาส หรือท่อผ้าใบ ที่มีลักษณะคล้ายลูกโป่ง เมื่อสูบลมเข้าไปด้านในท่อ จะมีลักษณะคล้ายอุโมงค์ขนาดใหญ่ที่เด็ก ๆ จะสามารถหย่อนตัวลงมา และคลานออกจากถ้ำตามแนวการเดินท่อที่วางไว้ได้
นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า หลายฝ่ายมองแล้วว่ามีแนวโน้มว่าจำทำได้จริง ตนจึงได้ทดสอบอุปกรณ์กับสถานที่ที่มีน้ำให้คล้ายกับสภาพแวดล้อมในถ้ำ โดยการใช้ท่อลมที่เรียกว่า “แคนวาส” ซึ่งทำมาจากผ้าใบที่ทนแรงดันและแรงดึงสูงได้ เนื้อผ้าใบคล้ายกับเต็นท์ผ้าใบ ซึ่งก็พบว่าภายในยานอวกาศใช้อุปกรณ์ตัวนี้ในการบุด้านในกันแรงอัดของลมเช่นกัน จึงมั่นใจเรื่องความแข็งแรง คาดว่าสามารถรับแรงดันได้ถึง 2.5 บาร์ แต่ถ้าอยากให้หนามากขึ้น ก็สามารถซ้อนกันได้ 2-3 ชั้น ซึ่งท่อนี้สามารถต่อกันได้ตามความยาวที่ต้องการ ความคงทนมีมากกว่าถุงบิ๊กแบ็ก จึงเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับเด็กตัวเล็ก ๆ
นายไพโรจน์ ยอมรับว่า ปัญหาขณะนี้คืออุโมงค์นี้ต้องใช้เครื่องปั๊มลม ดังนั้นอาจจะต้องต่อสายเครื่องปั๊มลมที่ใช้กันในเหมืองเข้าไปด้านใน และต้องทดสอบจนแน่ใจได้ว่าสามารถใช้ได้จริง ซึ่งตอนนี้อุปกรณ์ทุกอย่างพร้อมแล้ว ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่
ขณะที่จากที่นักวิชาการจากต่างประเทศ เสนอความเห็นและแนวทางช่วยเหลือทีมหมูป่า โดยแนะนำให้เด็ก ๆ สวมหน้ากากดำน้ำแบบเต็มใบหน้า จากนั้นให้เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายออกจากถ้ำด้วยการใช้เปลน้ำเป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือ
เกี่ยวกับกรณีนี้ นพ.สุระ เจตน์วาที แพทย์เวชศาสตร์การบิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ชีพขั้นสูงและผู้เชียวชาญด้านการลำเลียงผู้ป่วยและกู้ชีพทางอากาศ เปิดเผยว่า ในประเทศไทยยังไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งหากใช้อุปกรณ์นี้จะต้องใช้กับพื้นที่ที่เป็นน้ำเปิดโล่ง แต่อุปสรรคคือน้ำในถ้ำขุ่นมาก อีกทั้งเส้นทางแคบและคดเคี้ยว ดังนั้น ถ้าหากเด็ก ๆ อยู่ในเปลใต้น้ำและต้องผ่านช่องแคบ ก็เป็นเรื่องที่ยากและเสี่ยงอันตรายสูง
ส่วนลักษณะการทำงานของเปลใต้น้ำคือ การผูกมัดตัวเด็กติดไว้กับเปล โดยให้สายอากาศจากภายนอกเข้าไปด้านใน ซึ่งอาจจะผ่านทางหน้ากาก โดยการหายใจจะต้องใช้ถังอากาศด้วย เพราะหากเกิดกรณีฉุกเฉินสามารถเปลี่ยนขวดอากาศได้ทันที โดยถังขนาด 2 ลิตร ใช้ได้นานกว่า 1 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ตนเป็นห่วงว่าขณะทำการเคลื่อนย้ายเด็ก โขดหินอาจจะเกี่ยวทำให้หน้ากากดำน้ำหลุดได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องระมัดระวัง
อย่างไรก็ตาม นพ.สุระแนะนำว่า ให้มีการต่อท่อลมเพื่อที่จะพาเด็ก ๆ ออกมา เพราะการต่อท่อลมมีความยืดหยุ่นสูงกว่าเปลใต้น้ำ แต่การต่อท่อลมจะต้องต่อจากปากถ้ำจนถึงจุดที่น้องอยู่ และสิ่งสำคัญในการออกทางท่อลม จะต้องตรวจสอบอย่างดี ไม่ให้มีการรั่วซึมของน้ำ ถ้าหากมีการรั่วซึมก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ