ไม่ใช้ไม่เป็นไร! ‘อีลอน มัสก์’ พับเก็บ’rescue pod’ มั่นใจจะมีประโยชน์ในอนาคต





 

วันนี้ (9 ก.ค.) หลังจากที่หน่วยกู้ภัย #ถ้ำหลวง ชิงพาตัว 4 ผู้ประสบภัยออกมาจากถ้ำหลวงก่อนโดยไม่รออุปกรณ์ที่เรียกว่า "เรสคิว พอด" (rescue pod) ถุงอัดอากาศที่พ่อมดโลกเทคโนโลยีอย่าง “อีลอน มัสก์” เสนอให้ความช่วยเหลือ ล่าสุด อีลอน มัสก์ ปล่อยภาพความสำเร็จในการทดสอบการใช้งานถุงนี้ พร้อมย้ำว่าแม้ไม่สามารถทำประโยชน์ได้ในขณะนี้ แต่เชื่อว่า rescue pod จะมีประโยชน์แน่นอนในอนาคต

 

 

rescue Pod หรือที่อีลอน มัสก์ ใช้คำว่า escape pod นั้นมีลักษณะเป็นถุงอัดอากาศที่ถูกออกแบบเพื่อใช้ในภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง อ.แม่สาย จ.เชียงรายของไทย ผู้ออกแบบ rescue pod คือ บริษัท วิง อินแฟรเทเบิลส์ (Wing Inflatables) ซึ่งได้รับคำขอจากทีมวิศวกรสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ของ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ซึ่งนั่งเก้าอี้ผู้บริหารและสถาปนิกผลิตภัณฑ์ของเทสลามอเตอร์สคู่ไปด้วย 

 

 

อีลอน มัสก์ ปล่อยภาพทดสอบการใช้งานถุงนี้โดยบรรยายวิดีโอว่าเป็นการทดสอบในสระว่ายน้ำที่แอลเอ สหรัฐอเมริกา วิดีโอนี้ได้รับความสนใจสูงมากจากชาวทวิตเตอร์ จำนวนผู้ชมทะลุ 8 แสนครั้งในเวลา 2 ชั่วโมง
 

 

 

ก่อนหน้านี้ อีลอน มัสก์ ส่งข้อความชื่นชมทีมดำน้ำผู้ให้ความช่วยเหลือ 13 ชีวิตถ้ำหลวง โดยยอมรับว่าการตัดสินใจลำเลียงผู้ประสบภัยก่อนที่มรสุมใหญ่จะมานั้นเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล พร้อมกับแชร์ข่าวจากสำนักข่าวบีบีซีที่ระบุว่าภารกิจลำเลียง 4 ชีวิตในถ้ำออกมาเป็นชุดแรกได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 7 ก.ค. ซึ่งเป็นวันที่ Rescue Pod ถูกส่งขึ้นเครื่องบินส่วนตัวของ อีลอน มัสก์ พอดี

 


เว็บไซต์เทสลาราติ (teslarati.com) ระบุว่าเช้าวันศุกร์ที่ 6 ก.ค. แอนดริว บรานาก (Andrew Branagh) ซีอีโอ Wing Inflatables เริ่มต้นออกแบบ จัดทำ และทดสอบ Rescue Pod โดยพนักงาน 30% ของบริษัท อุปกรณ์ดังกล่าวทำจากพลาสติกโพลียูรีเทน สีดำและสีส้ม ความยาว 7 ฟุต มีลักษณะเป็นถุงพองตัวเพราะมีการอัดอากาศผ่านอุปกรณ์ลักษณะเดียวกับท่อลำเลียงออกซิเจนในจรวดฟอลคอน (Falcon rocket) เมื่อผู้โดยสารเข้าไปในถุงอากาศนี้ ถุงจะถูกปิดผนึกแล้วถูกรัดเข็มขัดติดเข้ากับถังอากาศสำหรับดำน้ำ เพื่อให้นักดำน้ำลากจูงต่อไป

 


ถุง rescue pod ของบริษัท Wing Inflatables (ถ่ายภาพโดย Giovanna Castro Salas/Wing Inflatables) ที่อีลอน มัสก์ มั่นใจว่าจะมีประโยชน์ในอนาคต

 

หลังจากเริ่มต้นออกแบบและผลิตเมื่อเวลา 09.30 น. การทดสอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบจึงเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 13.00 น. จากการทดสอบพบว่าทำงานตรงกับที่วางแผนไว้ ตัวถุงมีน้ำหนักเบาพอที่จะลากจูงโดยนักดำน้ำ 2 คน (น้ำหนักเมื่อแห้งราว 40 กิโลกรัม) ​และเล็กพอที่จะลอดช่องหินเล็กแคบภายในถ้ำ ทีมจึงลงมือผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวเริ่มต้นที่ 5 ลำ ขึ้นเครื่องบินส่วนตัวของอีลอน มัสก์ ส่งไปยังประเทศไทย เมื่อเวลา 17.15 น. ของวันศุกร์ โดยอีก 8 ลำที่เหลือได้ทยอยส่งเมื่อวันเสาร์ที่ 7 ก.ค. ตามมา เบ็ดเสร็จแล้ว อีลอน มัสก์ ระบุว่าใช้เวลาพัฒนา 8 ชั่วโมง บนระยะเวลาจัดส่ง 17 ชั่วโมง
 

 


ไม่ว่าอย่างไร การเลือกแผน 1 ของทีมกู้ภัยถ้ำหลวงในการลำเลียงผู้ประสบภัยรอบแรกไม่ได้ทำให้อีลอน มัสก์ยุติการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยเหลือ โดยยืนยันว่าจะพัฒนาต่อแม้จะไม่ได้ใช้งานในรอบนี้ เนื่องจากอุปกรณ์อาจเป็นประโยชน์ในสถานการณ์อนาคต เบื้องต้นมีการโพสต์ขอบคุณโรงเรียน Palisades Charter High School ที่อนุญาตให้ใช้สระว่ายน้ำของโรงเรียนในการทดสอบถุงอัดอากาศนี้.
 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์, @elonmusk, NewsClear

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: