“สมคิด” ผุดโครงการพักหนี้เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. 3 ปี ช่วยลดภาระหนี้สิน จี้กระทรวงเกษตรฯวางแผนฟื้นฟูอาชีพ เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ใช้หลักตลาดนำการผลิต สร้างรายได้เพิ่ม
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า วันที่ 16 ก.ค.นี้ จะเดินทางเพื่อตรวจเยี่ยมและรับฟังความคืบหน้าการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยยอมรับว่าภาคเกษตรมีปัญหามาก ทั้งเรื่องต้นทุนการผลิตที่ยังสูงอยู่ ผลผลิตไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และเกษตรกรยังมีภาระหนี้สิน โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินเป็นเรื่องสำคัญต้องเร่งจัดการก่อนเพื่อลดภาระให้เกษตรกร จึงมีแผนช่วยพักหนี้ให้กับเกษตรกรที่กู้ยืมเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นรายบุคคล โดยจะพักชำระหนี้สินให้เกษตรกร 3 ปี ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และจะให้เกษตรกรมาจ่ายหนี้ต่อในปีที่ 4 เป็นต้นไป
“ส่วนการลดต้นทุนการผลิตในเรื่องปัจจัยการผลิต ที่ให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ผลิตปุ๋ยนั้น ยังคงจะเดินหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ยอมรับว่าปัญหาของภาคเกษตรไทยไม่ต่างอะไรกับปัญหาภาคการศึกษา เป็นมหากาพย์ซับซ้อนยาวนาน ทำให้การแก้ไขไม่ง่าย แต่เป้าหมายหลักให้เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่เหมาะสม แล้วให้มีตลาดรองรับ นี่คือความหวังที่ผมฝากไว้กับกระทรวงเกษตรฯ”
ด้านนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามแนวคิดของนายสมคิดที่จะพักหนี้ให้กับเกษตรกรเป็นเวลา 3 ปี ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯจะต้องคิดแผนพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ในปีที่ 4 เนื่องจากเกษตรกรแม้จะเข้าร่วมโครงการพักหนี้ครั้งนี้ แต่จำนวนหนี้และดอกเบี้ย ไม่ได้ลดลง ยังต้องจ่ายตามสัญญาที่มีไว้กับ ธ.ก.ส. ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจะต้องระดมความคิด วางแผนเพื่อฟื้นฟูอาชีพ ที่สำคัญต้องใช้หลักการตลาดนำการผลิต เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพมาตรฐานตรงกับความต้องการและไม่มีปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำตามมา
ขณะที่นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับแผนการพักชำระหนี้เกษตรกร จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยลดภาระของเกษตรกร ไม่ต้องคิดมากเรื่องการชำระหนี้คืน และเป็นความท้าทายของกระทรวงเกษตรฯ ว่าในช่วง 3 ปีนี้จะต้องดำเนินการฟื้นฟูอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างไร โดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางการฟื้นฟูอาชีพ ที่เป็นไปได้ทั้งการสานต่ออาชีพที่มีอยู่เดิมของเกษตรกร หรือการสร้างอาชีพใหม่ขึ้นมา
สำหรับแนวทางเบื้องต้นจะเน้นเพิ่มผลผลิตต่อไร่และเพิ่มคุณภาพของสินค้า โดยจะสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตสินค้าให้ตรงความ ต้องการของตลาดและมีตลาดรองรับ อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เดิมผลิตได้ 780 กิโลกรัม (กก.) ต่อไร่ ก็ส่งเสริมให้ผลิตได้ 800-1,000 กก.ต่อไร่ มีคุณภาพตรงกับความต้องการโรงงานอาหารสัตว์ เป็นต้น พร้อมดึงภาคเอกชนเข้าร่วมรับซื้อผลผลิตเหมือนกับโครงการประชารัฐ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมา เพื่อให้เกิดการแบ่งปันรายได้อย่างเป็นธรรม และควบคุมให้การซื้อขายเป็นไปตามกลไกของตลาด ซึ่งถ้าหากเกษตรกรขาดทุนก็อาจมีการประกันรายได้ให้เกษตรกร ส่วนกรณีที่ผลผลิตของเกษตรกรได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ ก็มีแนวคิดนำการประกันภัยพืชผลเข้ามาด้วย เพื่อสร้างความมั่นคงเรื่องการผลิตและรายได้ของเกษตรกร.
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ