รองปลัด ยธ.เผย ครูเบี้ยวหนี้จ่อโดนฟ้องล้มละลาย! ขาดคุณสมบัติความเป็นครู อาจโดนไล่ออก!





 

ชี้ ครูเบี้ยวหนี้ จะถูกฟ้องล้มละลาย รองปลัด ยธ. เผย ส่อขาดคุณสมบัติความเป็นครูถูกออกจากราชการ ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ ชี้ หนทางการหลุดพ้นหนี้สิน แจงละเอียดขั้นตอนหลังจากถูกฟ้องล้มละลาย

จากกรณีกลุ่มวิชาชีพครู รวมตัวกว่า 100 คน ประกาศปฏิญญามหาสารคาม เรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารออมสิน พักหนี้ โครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ช.พ.ค. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป พร้อมชักชวนลูกหนี้ ช.พ.ค. ทั่วประเทศ 450,000 คน ร่วมกันยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ก.ค. นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีดังกล่าวว่า จงรับสภาพการเป็นบุคคลล้มละลายหากกรณีเป็นบุคคลธรรมดาที่มีหนี้สินเกิน 1 ล้านบาท และที่สำคัญมันจะโยงพาบุคคลที่มาค้ำประกันเราเป็นบุคคลล้มละลายไปด้วย เนื่องจากหนี้เกิดโดยนิติกรรมสัญญา

นายธวัชชัย ระบุต่อว่า เมื่อมีการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้น ก็ย่อมเกิดความเป็นเจ้าหนี้ ลูกหนี้ขึ้น โดยปกติเมื่อเกิดหนี้ ลูกหนี้จะหลุดพ้นจากเคราะห์แห่งหนี้ได้ด้วยการชำระหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 5 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้อง กระทำโดยสุจริต

นายธวัชชัย ระบุอีกว่า การที่เรามีหนี้สินมากและไม่สามารถชำระคืนกับเจ้าหนี้ได้ จึงถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย ผลที่ตามมาคือ กรณีของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหากถูกพิพากษาให้ล้มละลาย จะขาดคุณสมบัติในการเป็นข้าราชการตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และเมื่อคุณสมบัติไม่ถูกต้องแล้ว มาตรา 110 ก็กำหนดให้ผู้มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้น ออกจากราชการ ไม่สามารถทำนิติกรรมสัญญา ใดๆ ทั้งสิ้นได้

รองปลัด ยธ. ระบุว่า รวมถึงธุรกรรมการเงินต่างๆ ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปจริงๆ ก็ต้องขออนุญาตจากพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดีก่อน หากได้รับอนุญาตให้ออกนอกประเทศจะต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย ส่งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ทุกๆ 6 เดือน พร้อมทั้งส่งรายได้ตามที่เจ้าพนักงานจะอายัดเข้ากองทรัพย์สินด้วย

นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า การถูกสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายจะมีระยะเวลา 3 ปี เมื่อครบกำหนดก็จะถูกปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ยกเว้นกรณีที่ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหนี้ ก็อาจจะมีการขยายเวลาเป็น 5 หรือ 10 ปีก็ได้โดยเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ก็ให้บุคคลล้มละลายติดต่อกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์สินเพื่อขอปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อได้ปลดจากการเป็นบุคคลล้มลายแล้ว ก็จะสามารถทำงานและทำธุรกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ

 

 

ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์นี่แหละประเทศไทยธวัชชัย ไทยเขียว

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: