จากกรณีเมื่อวันที่ 23 ก.ค.61 ศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องจำเลยในคดีที่นายธนิต ทัฬหสุนทร หรือ เต้ ถูกคนร้ายแทงเสียชีวิตที่ซอยประชาสงเคราะห์ 1 กรุงเทพฯ เป็นเหตุให้นายศุภชัย ทัฬหสุนทร ผู้เป็นพ่อเกิดความเครียดและผิดหวัง จนตัดสินใจกระโดดจากชั้น 8 ของศาลอาญา ตกลงมาร่างกระแทกพื้นเสียชีวิต
ทั้งนี้ คดีที่นายธนิตถูกแทงจนเสียชีวิต เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 59 มีจำเลย 2 คน คือนายณัฐพงษ์ และนายอารีย์ชัย โดยขณะนั้นนายอารีย์ชัยถูกนำตัวขึ้นศาลเยาวชน และเจ้าตัวสารภาพ ศาลจึงได้ตัดสินว่ามีความผิดร่วมกันฆ่า แต่เจ้าตัวอ้างว่าใช้สนับมือต่อยนายเต้และอ้างว่าไม่เห็นว่านายณัฐพงษ์ใช้มีดแทงผู้เสียชีวิต โดยศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องนายณัฐพงษ์ในเวลาต่อมา
วันที่ 24 ก.ค. 61 นางธนพร ศิริบานเย็น ทนายความนายธนิต ได้เดินทางมาร่วมพูดคุยในรายการต่างคนต่างคิด ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ ทีวี ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.20 น. โดยนางธนพรเปิดเผยในช่วงพักรายการว่า นายศุภชัยเดิมทีประกอบอาชีพเป็นวิศวกร แต่เมื่อลูกชายเสียชีวิตก็ลาออกมาเพื่อวิ่งเต้นหาภาพกล้องวงจรปิดด้วยตัวเอง เพื่อนำมาเป็นหลักฐานประกอบคดี โดยเก็บรวบรวมไว้เป็นแฟ้มเอกสารหนาหลายร้อยหน้า จนมั่นใจว่าหลักฐานนั้นแน่นหนา ซึ่งในวันที่ศาลตัดสินยกฟ้องคดี นายศุภชัยและนางเรวดี ภรรยานายศุภชัยได้กอดรูปลูกชายก็ได้เข้าไปร่วมฟังในห้องพิจารรคดีด้วย โดยมีช่วงหนึ่งที่นายศุภชัยอยากจะนำรูปลูกชายไปวาง แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้มีการตักเตือนว่าอาจจะเป็นการละเมิดและกดดันศาล และเมื่อคำตัดสินออกมาจึงทำให้เกิดความผิดหวัง ซึ่งก่อนที่นายศุภชัยจะก่อเหตุกระโดดตึกศาลอาญา เจ้าตัวได้บอกครอบครัวว่าจะขอไปห้องน้ำ ซึ่งภาพจากกล้องที่ศาลยังเห็นว่านายศุภชัยได้เดินกระวนกระวายก่อนที่จะกระโดดลงมาจากตึก
นายต้าร์ อายุ 23 ปี น้องชายนายธนิต ได้เปิดภาพจากกล้องวงจรปิด ที่นายศุภชัย ผู้เป็นพ่อได้หามาเพื่อใช้ในการต่อสู้คดี ก่อนเสียชีวิต โดยพบว่า นายเต้ได้ไปเที่ยวงานสงกรานต์ที่บริเวณซอยประชาสงเคราะห์ 1 ซึ่งช่วงเวลาประมาณ 19.00 น. นายเต้เดินวนเวียนอยู่บริเวณหน้าปากซอยประชาสงเคราะห์ จนเวลาประมาณ 22.17 น. นายเต้พร้อมกับเพื่อนเดินเข้าไปกลางซอย โดยมีลักษณะการชุลมุนที่กลางซอยแต่เป็นภาพระยะไกลและค่อนข้างมืด จึงมองไม่เห็นตัวบุคคลที่ก่อเหตุ ก่อนที่เวลา 22.20 น. นายเต้จะวิ่งออกมาจากซอยโดยบริเวณเสื้อด้านหลังมีรอยเปื้อนเลือด และขึ้นคร่อมรถจักรยานยนต์ของชายอีกรายออกไปที่โรงพยาบาล
ภาพ 1 นายเต้เดินเข้าไปในซอย
ภาพ 2 นายเต้เดินเข้าไปขอโทษกลุ่มผู้ก่อเหตุ
ภาพ 3 กลุ่มผู้ก่อเหตุ
ภาพ 4 นายเต้เดินออกมาสภาพตัวเปื้อนเลือด
ภาพ 5 นายเต้ซ้อนจักรยานยนต์ออกไป
ภาพ 6 กลุ่มผู้ก่อเหตุตามมาจุดที่นายเต้ขึ้นซ้อนจักรยานยนต์
โดยนายต้าร์เล่าว่า วันเกิดเหตุนายเต้ไปเล่นสงกรานต์กับนายตง ผู้เป็นเพื่อนกับนายตี๋ น้องชาย จนเวลาประมาณ 23.00 น. ทราบว่าพี่ชายถูกแทง ซึ่งนายตงได้ร้องไห้พร้อมเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า ก่อนเกิดเหตุนายเต้มีปากเสียงกับนายเบน เนื่องจากอีกฝ่ายพูดจาไม่ดีใส่ นายเต้จึงตบหน้านายเบนไป 1 ครั้ง หลังจากนั้นก็มีการขอโทษกัน แต่นายเบนไม่ยอมมีการไปฟ้องนายโจ้ซึ่งเป็นรุ่นพี่ ก่อนที่จะมีคนนำตัวนายเต้ไปขอโทษนายเบนที่กลางซอยประชาสงเคราะห์ 1 ซึ่งขณะนั้นนายตงก็เดินไปด้วย จากนั้นพี่ชายของตนก็ถูกแทงและรุมทำร้าย ซึ่งนายโจ้ เป็นคนแทง โดยทราบมาว่านายโจ้เคยเรียนที่โรงเรียนช่างกลแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถาบันคู่อริกับพี่ชายของตน ตนจึงคิดว่าเรื่องดังกล่าวน่าจะมีเรื่องของสถาบันมาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหลังเกิดเหตุนายตงก็อ้างว่าตัวเองเป็นโรคประสาท ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้นายตงก็มีอาการปกติ ไม่ได้มีอาการทางจิตแต่อย่างใด โดยส่วนตัวคาดว่านายตงอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมีการข่มขู่จนไม่กล้าเป็นพยาน
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกอัยการสูงสุด เปิดเผยในรายการต่างคนต่างคิด ด้วยว่า อัยการทำคดีดังกล่าวด้วยความรอบคอบ แต่เหตุผลที่ศาลยกฟ้อง โดยภาพจากกล้องวงจรปิดดังกล่าวได้มีการนำขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณา แต่ทั้งนี้ภาพนั้นไม่ปรากฎชัดเจนว่าใครเป็นคนแทงนายเต้ อีกทั้งวันเกิดเหตุนายเต้ไปเที่ยวกับเพื่อน 5 คน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้มีนายตง ได้เข้าให้การในชั้นพนักสอบสวนและชี้รูปยืนยันว่านายณัฐพงษ์เป็นคนแทงนายเต้ แต่ในการพิจารณาในชั้นศาล ไม่สามารถเบิกตัวนายตงมาเป็นพยานได้ เนื่องจากครอบครัวนายตงนำเอกสารใบรับรองแพทย์มายื่นต่อศาลว่า นายตงป่วยด้วยโรคจิตเวช จึงทำให้น้ำหนักในการพิจารณาคดีลดลง
นอกจากนี้ ในเอกสารคำอธิบายของศาลเรื่องการยกฟ้องคดีดังกล่าวระบุใจความว่า เหตุการณ์ทำร้ายเกิดขึ้นไม่มีกล้องวงจรปิดจับภาพได้ อาศัยจากคำให้การของนายตงยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอ ขณะเกิดเหตุมีการเล่นน้ำสงกรานต์อยู่ในซอยดังกล่าว มีคนปรากฎในกล้องวงจรปิดเป็นจำนวนมาก การชุลมุนทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่นาน ยากที่จะมีใครสังเกตว่าใครทำร้ายร่างกายกันอย่างไร อีกทั้งระบุด้วยว่า พยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยต่างพูดตรงกันว่าที่เกิดเหตุมีแสงไฟสว่างเพียงเล็กน้อย ถ้าไม่อยู่ใกล้จะมองเห็นไม่ชัดเจน
ในเอกสารยังระบุว่า นายตงมีอาการมึนเมาคุยไม่ค่อยรู้เรื่อง เช่นเดียวกับคนอื่นที่อยู่ในเหตุการณ์ การร่วมรับรู้และแยกแยะเหตุการณ์จึงไม่สามารถทำได้อย่างปกติอย่างคนทั่วไป นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการตรวจพบอาวุธที่ใช้ในที่เกิดเหตุ ไม่ได้นำเสื้อผ้าของจำเลยไปตรวจ DNA โดยคำพิพากษาศาลให้รายละเอียดว่า “หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนสามารถติดตามจับจำเลยกับพวกได้ในวันเดียวกัน ไม่ปรากฎว่าตรวจยึดอาวุธมีดที่ใช้ก่อเหตุได้จากจำเลย มิได้นำเสื้อผ้าของจำเลยกับพวกไปตรวจพิสูจน์อย่างที่ยึดเสื้อยืดกางเกงของนายอารีย์ชัยหรือเบ็นซ์ไปตรวจ DNA จำเลยเองยืนยันให้การปฏิเสธมาโดยตลอด พยานหลักฐานอื่นของโจทก์เป็นพยานหลักฐานปลายเหตุหรือพยานบอกเล่า ส่วนกล้องวงจรปิดก็ไม่มีภาพเหตุการณ์ทำร้าย ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้าย ไม่ต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลย พิพากษายกฟ้อง”
นอกจากนี้ ภายหลังจบรายการต่างคนต่างคิด นายโกศลวัฒน์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ศาลชั้นต้นได้มีการพิพากษาแล้ว ซึ่งถือว่ากระบวนการในขั้นนี้ยุติแล้ว ซึ่งกระบวนการต่อไปจึงเป็นการพิจารณาว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ซึ่งคดีนี้มีอัยการเป็นโจทก์ โดยที่ทางครอบครัวก็ได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม โดยในลำดับต่อไป พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนก็จะเข้าไปขอคัดคำพิพากษา เพื่อรวบรวมถ้อยคำสำนวนเสนอให้กับพนักงานอัยการศาลสูงเพื่อพิจารณาว่าจะอุทธรณ์ต่อไปหรือไม่อย่างไร
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีการพบเจอหลักฐานใหม่ เช่น ภาพจากกล้องวงจรปิด สามารถนำหลักฐานเหล่านี้เข้ามาพิจารณาในชั้นศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่ นายโกศลวัฒน์ ตอบว่า ปกติแล้วหลักฐานใดก็ตามที่ไม่นำเข้าสู่การสืบพยานหรือหลักฐานในชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จะไม่รับฟัง แต่อาจจะสามารถทำเป็นคำแถลงเรียนให้ศาลทราบ ซึ่งแล้วแต่ว่าศาลจะพิจารณาอย่างไร โดยคาดว่าศาลน่าจะไม่นำมาประกอบเป็นเหตุผลสำคัญในการตัดสินคดีเนื่องจากไม่ใช่หลักฐานที่สืบมาตั้งแต่ในศาลชั้นต้น
อย่างไรก็ตาม มาตรฐานของศาลในการตัดสินคดีจะต้องพิจารณาว่าหลักฐานพอฟังลงโทษ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เหนือกว่าอัยการที่ใช้คำว่าหลักฐานพอส่งฟ้อง โดยไม่ว่าจะเป็นศาล อัยการ หรือโจทก์ร่วมเองก็ทำไปตามหลักฐานที่ปรากฎ โดยเมื่อวานนี้ทางศาลก็ได้มีการแถลงการณ์ออกมาแล้ว โดยตนเชื่อว่าทุกฝ่ายต่างก็เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ข่าวจาก : ทุบโต๊ะข่าว อัมรินทร์ทีวี
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ