จากกรณีที่ น.ส.วิภา บานเย็น ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.กำแพงเพชร ได้เป็นผู้ค้ำประกันให้แก่นักเรียนกู้ยืมเงินจากกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เมื่อปี พ.ศ. 2541-2542 จํานวน 60 ราย แต่มีลูกศิษย์ที่ค้างชําระหนี้ กยศ. จนถึงขั้นบังคับคดีกับครูที่เป็นผู้ค้ำประกัน จนต้องถูกยึดบ้านและที่ดินตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น
วันที่ 26 ก.ค. 61 เพจเฟซบุ๊ก อยากดังเดี๋ยวจัดให้ return เปิดเผยชื่อของผู้กู้ กยศ. ที่เป็นลูกศิษย์ของครูวิภา โดยมีทั้งบุคคลที่ชำระเงินแล้วทั้งหมด และยังค้างชำระหนี้
ครูวิภา เปิดเผยว่า มีลูกศิษย์ติดต่อกลับมาบ้างแต่ยังไม่ครบทุกคน ซึ่งลูกศิษย์ส่วนใหญ่ที่ติดต่อกลับมา คำแรกที่เอ่ยออกมาจากปากคือคำว่า “ขอโทษ” เช่นเมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา มีลูกศิษย์โทรมา และบอกว่ารับรู้แล้วพร้อมกล่าวขอโทษ ลูกศิษย์รับปากว่าหลังจากนี้จะจัดการเรื่องหนี้สินด้วยตัวเอง แล้วก็จะนำเงินมาคืนในส่วนที่คุณครูเคยออกให้ไปก่อนหน้านี้ด้วย
นอกจากนี้ ครูวิภาบอกว่ามีลูกศิษย์อีกหลายคนที่ได้ติดต่อกลับมามีทั้งหมด 11 คนแล้ว ในจำนวนนี้ มี 2 คนที่ใช้หนี้หมด ส่วนที่เหลืออีก 9 คน ก็กำลังดำเนินการ ส่วนคนที่ยังไม่ได้ติดต่อกลับมา ตัวเองก็เชื่อว่าลูกศิษย์ทุกคนรับรู้และมีความรับผิดชอบ น่าจะติดต่อกลับมาเร็ว ๆ นี้ ซึ่งลูกศิษย์บางคนที่อยู่ต่างประเทศก็รับรู้แล้ว
ครูวิภา บอกว่า รู้สึกดีใจที่ลูกศิษย์ไม่ทิ้ง เพราะก่อนที่จะตกเป็นข่าว ตนเองเป็นฝ่ายที่ต้องติดตามตัวลูกศิษย์ ทำให้มีอารมณ์น้อยใจบ้าง อย่างไรก็ตาม เพราะคิดว่าพวกเขาคือศิษย์จึงไม่เคยโกรธ เพราะคำว่าลูกศิษย์กับครูตัดกันไม่ขาดอยู่แล้ว ส่วนเรื่องที่มีเพจเฟซบุ๊กโพสต์รูปภาพลูกศิษย์ในลักษณะที่บอกว่าพวกเขามีชีวิตดี มีความสุขนั้น ครูมองว่าก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะทำ ครูไม่ได้รู้สึกโกรธอะไร บางครั้งรูปภาพที่พวกเขาถ่ายออกมาก็อาจจะมีความจำเป็น ใช้ทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว เรื่องนี้ครูไม่ได้ไปยุ่งอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ครูวิภา ฝากบอกลูกศิษย์อีกด้วยว่า ให้ลูกศิษย์ทุกคนมีความรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ของตัวเอง นอกจากนี้ ลูกศิษย์ยังบอกตนเองด้วยว่า จะนัดรวมตัวกันเข้าไปขอโทษ และขอบคุณที่เคยสั่งสอนและช่วยเหลือที่โรงเรียนด้วย
นายวสรรณ สร้อยนอก ลูกศิษย์ครูวิภา
นายวสรรณ สร้อยนอก ลูกศิษย์ครูวิภา ที่ยังชำระหนี้ กยศ.ไม่ครบ เปิดใจว่า ช่วงปี 2541-2542 ระหว่างที่เรียนอยู่ ชั้น ม.4 และ ม.5 ไม่มีเงินเรียนหนังหนังสือต้องกู้เงินจาก กยศ. ครูวิภาเป็นคนเซ็นค้ำประกันให้ หลังจากเรียนจบก็มาทำงานในกรุงเทพ เป็นพนักงานบริษัทเอกชน ไม่ได้อยู่ที่บ้านเกิดในจังหวัดกำแพงเพชร และไม่รู้ว่าต้องส่งเงินคืน กยศ. อย่างไร รวมถึงไม่เคยรู้เรื่องเอกสารใบแจ้งหนี้ที่ส่งมาถึง เพราะจดหมายจะถูกส่งไปที่บ้าน ส่วนพ่อกับแม่ก็เป็นคนทำไร่ทำนา ไม่ได้รู้กฎหมาย จึงไม่ได้สนใจอะไร เมื่อมีหมายศาลส่งมาก็ไปจ่ายเงินที่ธนาคาร แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะธนาคารแจ้งว่าหากจ่ายเงินแค่ 1,000 – 2,000 บาท เป็นเพียงการชำระดอกเบี้ย เงินต้นไม่ได้ลดลง ซึ่งตนก็เข้าใจ และเมื่อจ่ายเงินไป 1 ครั้ง เรื่องก็เงียบไปประมาณ 1-2 ปี จนเกิดการฟ้องร้อง
คุณวสรรณ ยอมรับว่า เมื่อรู้เรื่องว่าครูวิภา ถูกฟ้องร้อง ตนมองว่ามันไม่ถูกต้อง เพราะที่จริงแล้ว คนที่โดนฟ้อง ต้องเป็นตัวเอง ไม่ใช่ครูวิภาที่เป็นคนเข้ามาช่วยเหลือ และไม่ได้รับรู้เรื่องอะไรด้วย เท่าที่ทราบจากข่าว กยศ. ว่า ตามจากเด็กนักเรียนซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงแล้ว แต่นักเรียนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะยึดได้ ซึ่งเรื่องนี้ ทั้งตนและคนอื่น ๆ ที่ยังชำระหนี้ไม่ครบ ไม่เคยมีใครรู้เรื่อง และไม่เคยได้รับการทวงถามจาก กยศ. เลย พร้อมยืนยันว่า เรื่องราวทั้งหมดตนทราบจากครูวิภา ที่พยายามโทรติดต่อมาถาม เพราะกลัวว่าลูกศิษย์จะถูกฟ้องร้อง โดยครูบอกว่า “สรรณ เอ็งส่งเงินคืนให้กับ กยศ. บ้างหรือยัง ตอนนี้มีใบแจ้งจะฟ้องยึดทรัพย์เอ็งแล้วนะ”
คุณวสรรณ ยอมรับว่า ตอนนี้เหลือยอดอีกประมาณ 20,000 กว่าบาท ที่จะต้องชำระคืนทาง กยศ. ภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อปิดหนี้ และจะได้จบเรื่องนี้ หลังจากนี้ก็จะเหลือแต่หนี้ในส่วนที่ตนจะต้องใช้คืนให้กับครูวิภา พร้อมยืนยันว่า ต้องใช้คืนอยู่แล้ว เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีเงินเป็นก้อน สำหรับเรื่องราวทั้งหมด ตนอยากจะขอโทษครูวิภา เพราะไม่เคยคิดว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น และครูจะต้องมารับผิดชอบแทน ทั้งที่เป็นคนเข้ามาช่วยเหลือ พร้อมยืนยันว่าไม่มีลูกศิษย์คนไหนที่อยากทำให้ครูเดือดร้อน
คุณวสรรณ ฝากถึงชาวโซเชียลมีเดียว่า อย่าเอาครอบครัวของตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะเขาไม่รู้เรื่อง อย่าทำเกินไป ทั้งที่ยังไม่เคยรับรู้ความจริงว่าทั้งครูและลูกศิษย์ได้คุยกันแล้วหรือยัง และมาประณามตนว่าเป็น “ศิษย์ทรยศ” และขอให้ดูตัวเองก่อนที่จะว่าคนอื่น ทำตัวเองให้ดีก่อน ทุกคนมีปัญหาก็พยายามหาทางแก้ไขอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากทิ้งปัญหา
นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความ เปิดเผยว่า กรณีที่เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อลูกหนี้เบี้ยวจ่ายเงิน กฎหมายค้ำประกันระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ค้ำประกันต้องชำระหนี้แทน โดยไม่มีทางบิดพลิ้ว ดังนั้น ครูวิภาต้องยอมรับเวรกรรมที่ลูกศิษย์ก่อเอาไว้ แต่กฎหมายมีข้อยกเว้นว่า หากไม่อยากใช้หนี้ ต้องไปสืบทรัพย์ของลูกหนี้ เพื่อนำไปคืนเจ้าหนี้ ความผิดก็จะลดลงไปตามจำนวนเงินที่ยึดทรัพย์มาได้ ซึ่ง กยศ. มีอำนาจ ตามกฎหมายในการติดตามทรัพย์ สืบทรัพย์ ยึดทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ที่เป็นกฎหมายใหม่ ให้อำนาจ ดำเนินการเรื่องการเข้าถึงข้อมูล ได้ทั้งหมด ตามหมวด 5 การชำระเงินคืนกองทุน
มาตรา 45 ที่สามารถขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ยืมจากหน่วยงานได้ทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือสถาบันการเงิน โดยจะทราบข้อมูลทั้งหมดว่าทำงานอยู่ที่ใด เงินเดือนเท่าไร มีบัญชีเงินฝากกี่บัญชี ซึ่งจะแตกต่างจากเจ้าหนี้เอกชน ที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ รวมถึงมีอำนาจในการเปิดเผยข้อมูลของผู้กู้ยืมให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน ตามที่มีการร้องขอ โดยไม่ถือเป็นความผิด ต่างจากเจ้าหน้าที่ทั่วไป หากเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ จะมีโทษจำคุก 1 ปี
มาตรา 46 เมื่อ กยศ. ขอข้อมูลจากหน่วยงานหรือนายจ้าง ทั้งรัฐบาลและเอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน ต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามจะถือเป็นความผิด นอกจากนี้ กยศ. ยังมีอำนาจ ตามมาตรา 51 สามารถแจ้งหักเงินจากเงินเดือนได้ ทั้งหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และรัฐวิสาหกิจ หากไม่หัก จะมีเบี้ยปรับอีก ร้อยละ 2 ต่อเดือน และหากเจ้าหน้าที่ของ กยศ. สืบทรัพย์อย่างเต็มที่ โอกาสในการเจอทรัพย์ สถานที่ทำงาน หรือทราบฐานเงินเดือนของลูกศิษย์ทั้งหมดของครูวิภา ก็มีโอกาสได้เงินคืนจนครบจำนวน
ส่วนวิธีการอื่น ๆ ในการช่วยเหลือครูวิภา มีการดำเนินการไปแล้ว โดยการให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา คือ กยศ. กับลูกหนี้ มาทำบันทึกข้อตกลง และใช้กฎหมายเกี่ยวกับการบังคับคดี โดยงดการบังคับคดีไว้ชั่วคราว และเชื่อว่าการกดดันจากโลกโซเชียล ที่ออกมาแฉ จะทำให้ลูกศิษย์ของครูวิภาที่ยังหนีหนี้ อับอายจนไม่มีที่ยืน และต้องรีบหาเงินมาใช้หนี้ที่ค้างอยู่ ซึ่งจะใช้เวลาอีกไม่นาน ครูวิภาก็จะหลุดพ้นจากความรับผิดชอบส่วนนี้
ทนายเดชา ฝากข้อคิดถึงครูวิภาว่า หากไม่จำเป็น อย่าไปค้ำประกันให้กับใคร เนื่องจากผู้ค้ำ มีแต่หน้าที่ ไม่มีสิทธิ์ เมื่อลูกหนี้เบี้ยว ผู้ค้ำจะต้องจ่ายหนี้แทน แล้วจึงมาฟ้องไล่เบี้ย โดยทั่วไปแล้ว ลูกหนี้ทุกคนไม่มีทรัพย์สิน ส่วนลูกศิษย์ ของครูวิภา ควรกลับตัวกลับใจ ออกมาขอโทษครู หาเงินมาใช้หนี้ กยศ. แทนครู อย่าเป็นคนที่เนรคุณคน
นอกจากนี้ ทนายเดชา กล่าวถึงกรณีที่เพจเฟซบุ๊ก เปิดเผยชื่อของผู้กู้ กยศ. ที่เป็นลูกศิษย์ของครูวิภา ซึ่งในทางกฎหมาย พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ มีความผิดตามมาตรา 8 และ มาตรา 11 (3) ซึ่งระบุใจความสำคัญไว้ว่า ห้ามเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเป็นหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งหากฝ่าฝืน มีความผิด โทษจำคุก 1 ปี นอกจากนี้ การเผยชื่อลูกหนี้ จะเข้าข่ายความผิดหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ม. 328 จำคุก 2 ปี โดยรวมแล้วจะมีความผิดจำคุกถึง 3 ปี
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ