เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 26 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นเพื่อควบคุมดูแลเกี่ยวกับกรณีที่ต่างประเทศให้ความสนใจเตรียมมาถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับภารกิจการช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สายจ.เชียงราย ว่า คณะกรรมการดูแลเรื่องดังกล่าว ตนไม่ได้อยู่ร่วมในกรรมการ แต่ได้มอบหมายให้นายวีระ โรจนพจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน คือ คณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์กรณีถ้ำหลวงเชียงราย และอำนาจหน้าที่มีมาก ไม่ได้มีเพื่อการควบคุมเป็นศูนย์กลางข้อมูล เป็นการกระตุ้นเตือนใครก็ตามที่จะเข้ามาทำรายการ ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฏหมาย
-
‘วิษณุ’ เผย รัฐบาลคุมเข้มต่างชาติสร้างหนังหมูป่า แง้ม โปรเจ็กต์ยักษ์ ‘เตรียมสร้างหนังเอง’
-
ครม.ตั้งบอร์ดดูหนังหมูป่า ประสานไทย-เทศ ทำหนังให้ตรงความจริง หวั่นกระทบเด็ก
เนื่องจากการจะถ่ายทำอะไรก็ตามในประเทศไทย หรือจะใช้สถานที่จริงในการถ่ายทำ ก็จะต้องขออนุญาตให้ถูกต้องจากอุทยานแห่งชาติ หรือถ้าบุคคลที่เป็นข้าราชการถ่ายทำจริง ก็ต้องขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาของแต่ละหน่วยงาน ถ้าเป็นการไปคุยกับเด็ก เพื่อให้ได้ข้อมูลมานั้น ก็สามารถทำได้เป็นอิสระ แต่ที่น่ากังวลคือ การจะจัดให้เด็กผูกมัดจนมีการสงวนลิขสิทธิ์ และในอนาคตต่อไปจะพูดอะไรไม่ได้จนกว่าจะต้องผ่านเอเย่นนั้น เราจึงอยากให้คำแนะนำแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่า ถ้าจะทำอย่างนั้น ก็ขอให้ระมัดระวัง
เนื่องจากในอดีตเคยมีเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นมาแล้วในต่างประเทศ ฝ่ายเอเจนซี่เขาหวังดี โดยต้องการข้อมูลไม่ให้สะเปะสะปะ แต่สุดท้ายทำให้เกิดการผูกขาดข้อมูลนั้นขึ้น เช่นกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศชิลี ที่มีการให้เซ็นสัญญากับบริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ เมื่อมีการจ่ายเงินกันเสร็จแล้วถ่ายทำเสร็จแล้ว ไปทำอะไรขึ้นมาทีหลังเขาก็ไม่ได้มาแบ่งอะไรให้อีก ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดเหตุเช่นนั้นขึ้น จึงต้องการกระตุ้นเตือน
แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นการถ่ายทำนอกประเทศ และเป็นสมมติเหตุการณ์ของไทยขึ้นมาเรา คงไม่สามารถไปทำอะไรได้ ทั้งนี้กรรมการชุดนี้จะเป็นศูนย์ข้อมูลที่ถูกต้องเผื่อใครต้องการสอบถาม จะช่วยประสานงานกับที่ต่างๆ ให้ หากจะมีคนมาเขียนหนังสือ เขียนนิยาย ทำเกมส์ ทำแอนิเมชัน ทำละคร ทำภาพยนตร์ และขั้นต่อไปคือ จะทำเป็นจดหมายเหตุ อย่างเป็นทางการซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้บอกกับตนว่า จะทำเป็น 3 ภาษาคือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน อย่างสมบูรณ์แต่คงต้องใช้เวลานาน
และขั้นต่อไปของคณะกรรมการ คือ จะได้จัดทำเป็นนิทรรศการภาพถ่าย และจัดแสดง โดยอาจจัดหมุนเวียนไปทั่วโลก “กรรมการชุดนี้มีภารกิจในการเป็นศูนย์กลางในการจัดระเบียบ แต่ไม่ใช่การผูกขาดเสียเอง ไม่ให้ผู้สื่อข่าวไทยกับต่างประเทศมีปัญหากระทบกระทั่งกัน และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้ปกครองและเด็ก ขณะเดียวกันให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่คนต่างชาติ ที่ต้องการเข้ามาทำภาพยนตร์ สารคดี
ก็สุดแท้แต่ อย่างไรก็ตามสำหรับรูปแบบของคณะกรรมการ หรือระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะเป็นอย่างไรมีรายละเอียดอย่างไร ขอให้ไปถามจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ทางคณะรัฐมนตรีรับทราบว่าจะมีการดำเนินการเช่นนี้ และให้ความเห็นชอบแต่ไม่ใช่มติคณะรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งโดยข้อเสนอของกระทรวงวัฒนธรรมต่อไป”
ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้มีเอกชนติดต่อมาจำนวนเท่าไหร่ ในการต้องการทำภาพยนตร์หรือสารคดี นายวิษณุกล่าวว่า เท่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมแจ้งให้ทราบคือจำนวน 13 เจ้า มีทั้งไทยและต่างประเทศ โดยมีความต้องการในการผลิตหลายแบบเช่นละครสั้น ซีรี่ย์ สารคดี เกมส์ และแอนิเมชัน คาราโอเกะ
เมื่อถามว่าจะมีการจำกัดจำนวนหรือไม่สำหรับผู้ที่ต้องการเข้ามาถ่ายทำ นายวิษณุกล่าวว่าเราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปจำกัดเขา แต่ผู้ที่ต้องการจะมาถ่ายทำในเมืองไทยจะต้องได้รับอนุญาต เพราะเราต้องดูสคริป เพื่อไม่ให้เกิดการสอดแทรกอะไรที่แปลกๆ ออกไป
เมื่อถามว่าในส่วนของประเทศไทยมีแนวคิดที่จะทำเองหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ถ้ามีอะไรขึ้นมาก็ให้กรรมการชุดนี้ไปช่วยดู เพราะการทำนั้นทำได้หลายอย่าง เช่นถ้าทำเองทั้งหมด ซึ่งต้องไม่ใช่รัฐบาลทำ แต่อาจจะหาเอกชนมาทำ หรือทำบางส่วน ซึ่งเราก็มีกองทุนสื่อสร้างสรรค์อยู่แล้ว ก็อาจจะให้งบประมาณไปทำบางส่วนก็ได้ เช่น เรื่องเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ก็เป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนกับรัฐบาลของนิวซีแลนด์ หรือกองทุนสื่อสร้างสรรค์เคยออกเงินร่วมกับเอกชนให้ทำภาพยนตร์โฆษณาหรือภาพยนตร์เรื่องยาวมาแล้ว
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ