ภายหลังจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ภาพกลุ่มเด็กแว้นและเด็กสก๊อยที่ไปร่วมงาน “แว้นหลุดโลก” ซึ่งมีหลายคนมองว่าไม่เหมาะสมและอาจเป็นแหล่งมั่วสุม อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นชายหนุ่มที่เข้าร่วมงานดังกล่าวได้เปิดใจกับอมรินทร์ ทีวี ว่า การจัดงานดังกล่าวจัดในสนามแข่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ส่วนเรื่องกายแต่กายจะเหมาะสมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละบุคคล แต่ทั้งนี้ ตนเองไม่อยากให้มาว่ากล่าวในเชิงดูถูก เพราะถึงตนเป็นเด็กแว้น แต่ก็มีเงินเก็บที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองในหลักแสนบาท (อ่าน : เปิดใจ “เด็กแว้น” ปรี๊ด! ฉะคนด่า ให้ดูตัวเองก่อนดูถูกใคร ยันเงินแสนติดบัญชีของจริง ไม่คิดอวด)
นายหนุ่ม บารมี ผู้จัดงานแว้นหลุดโลก
วันที่ 16 ส.ค. 61 นายหนุ่ม บารมี ผู้จัดงานแว้นหลุดโลก เปิดใจกับอมรินทร์ทีวีถึงความตั้งใจในการจัดงานดังกล่าว โดยบอกว่าต้องการรณรงค์ให้น้อง ๆ เข้ามาอยู่ในสนาม และการปลดปล่อยในพื้นที่ที่ถูกต้อง รวมถึงต้องการให้ทุกคนเล็งเห็นถึงความไม่ปลอดภัยของการใช้ความเร็วบนท้องถนน เพื่อได้เปลี่ยนความคิดและมุมมองที่อาจเป็นการสร้างความเดือดร้อนบนท้องถนนได้ ด้วยการแทรกซึมและขัดเกลาให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้รู้ถึงข้อดีและโทษที่จะได้รับ พร้อมปลูกฝังวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกับผู้อื่นโดยไม่ใช้ความรุนแรง เน้นการอยู่ร่วมกันแบบพี่สอนน้อง ผ่านการชี้แนะ ตักเตือน แทนการว่ากล่าวหรือใช้ความรุนแรง เพื่อให้เกิดการแก้ไข
โดยกิจกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ผู้ที่มาร่วมงานมีตั้งแต่แฟน คู่รัก ไปจนถึงครอบครัว เน้นกิจกรรมเพื่อส่วนรวม มีการโชว์รถจากร้านค้าต่าง ๆ กิจกรรมการแข่งขันรถแดร็กไบค์ การประกวดรถสวยงาม โดยไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นหรือฐานะ การประกวดมิสขวัญใจหลุดโลกและฟรีคอนเสิร์ต ที่ให้ทุกคนได้มาร่วมสนุกกันอย่างมีขอบเขต และอยู่ในกฎระเบียบที่วางเอาไว้ และขออนุญาตจัดกิจกรรมอย่างถูกต้องซึ่งทางเจ้าของสนามเป็นผู้ประสาน โดยกิจกรรมมีข้อห้ามที่ชัดเจนคือ เรื่องการพกอาวุและสุรา หรือมึนเมา ซึ่งได้มีการตรวจค้นตั้งแต่หน้าประตูทางเข้างาน
การจัดงานครั้งนี้ ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการมั่วสุม แต่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์ เพื่อให้ทุกคนรู้สึกมีสิทธิ์นึกคิดที่จะทำอะไร แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบและกติกาของสังคม แต่ยอมรับว่า การทำให้คนเชื่อถือและเชื่อมั่นในความปลอดภัยเป็นเรื่องยาก หากคน ๆ นั้นไม่มีความน่าเชื่อถือหรือทำให้เสื่อมเสี่ย แต่ยืนยันจุดประสงค์หลักคือ ต้องการรณรงค์ให้ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เช่น การขับขี่ในสนาม แต่ละครั้งต้องสวมหมวกกันน็อก เพราะหากล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ ก็จะช่วยเรื่องความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งซึมซับบทเรียนและความรู้สึกเจ็บปวดจากการใช้ความเร็ว ลดความประมาท เพราะหากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน อาจไม่ใช่แค่บาดเจ็บ แต่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
นายหนุ่ม ยอมรับว่า เมื่อภาพถูกเผยแพร่ไปในโซเชียลค่อนข้างมาก กลัวว่าจะถูกตีความว่าเป็นแหล่งมั่วสุมแต่ยืนยันว่าไม่ใช่ เป็นเพียงพื้นที่ที่ให้ทุกคนสามารถโชว์ความรู้สึกนึกคิด โดยไม่มีการทะเลาะวิวาท ซึ่งทุกคนมีความสุขและมีแรงบันดาลใจในชีวิต หากมีข้อผิดพลาดก็ยินดีจะพัฒนาให้ดีขึ้น และยืนยันว่าทุกอย่างที่ทำไปเป็นความรู้สึกที่ดี แต่ภาพบางภาพที่ถูกเผยแพร่ออกไป อาจไม่รู้ถึงเจตนารมณ์ ที่ต้องการสื่อออกไป สิ่งคนที่มาร่วมงานจะได้รับกลับไปคือ รับรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม เพราะสื่อสังคมมองรูปแล้วด่วนสรุป ทุกคนมีสิทธิ์ มีความสามารถ แต่ทำไมเรามองไม่เห็น ทำไมเรามองแค่ด้านเดียว พร้อมยอมรับคำด่า คำติชม ยอมแลกกับการที่น้อง ๆ ได้รู้ได้สัมผัสบทเรียนการดำรงชีวิต พร้อมฝากถึง น้อง ๆ เยาวชน หากใช้ชีวิตแบบไม่มีขอบเขต จะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้ ที่สำคัญไม่อยากให้น้อง ๆ ทุกคนรู้สึกว่า ตัวเองไม่ใช่เด็กแว้น ไม่ใช่คนที่สังคมรังเกียจ แต่เป็นคนที่มีชีวิตจิตใจ และไม่ได้ทำอะไรที่เสียหาย บางคนอยากมีแอคชั่น อยากมีภาพถ่ายไว้อวดเพื่อน ไม่ใช่การเต้นโชว์แล้วมีคนมาลวนลาม ซึ่งจะมีการดูแลตลอดเวลา หากพบว่าใครฝ่าฝืนจะให้โอกาสโดยการตักเตือน แต่หากยังไม่แก้ไข และทำผิดซ้ำๆ
ขณะที่ นายชัยวัฒน์ ชาวไร่ ประชาชนในละแวกสนามแข่ง บอกว่า รู้สึกเห็นด้วยที่มีสนามแข่งแบบถูกต้อง เพราะช่วยลดอุบัติเหตุและความเดือดร้อนรำคาญ จากเสียงดังที่รบกวน เพราะมีการจัดโคงการจากถนนสู่สนาม ที่ปกติแล้วกลุ่มวัยรุ่นจะพาจับกลุ่มกันแว้นข้างนอกเพื่อเดิมพันกันเอง แต่พอมีสนามแข่งรถแบบถูกต้อง เด็กแว้นเริ่มลดลงจนแทบไม่มี และไม่มีเสียงดังรบกวนชาวบ้าน นอกจากนี้ยังช่วยลดการมั่วสุมของเด็กวัยรุ่น และเปลี่ยนเป็นการจับกลุ่มมาแว้นในสนามเพื่อความสนุกสนาน และประลองฝีมือกันเล่น ๆ พอหมดเวลาก็กลับบ้าน ซึ่งถือว่าช่วยได้ค่อนข้างมาก
นายชัยวัฒน์ บอกอีกว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยส่งเสริม และประชาสัมพันธ์ ไปถึงเด็กวัยรุ่นให้มากกว่านี้ เพื่อให้รู้ข้อดีของการเข้ามาแข่งรถในสนาม
ด้านนายเนตร อาจเสียงรัมย์ หรือ แบงค์เล็กตัวน้อย หนุ่มวัย 22 ปี ที่มีความสูงเพียง 140 เซนติเมตร เปิดเผยว่า เด็กแว้นในความหมายของตัวเองคือ การแต่งรถ ทำท่อและเครื่องให้เสียงดัง ให้รถมีความแรง และสะใจเวลาขี่บนถนนหรือสนาม โดยเส้นทางชีวิตเด็กแว้นของตัวเองเริ่มจาก ตอนเด็ก ๆ ฝันอยากเป็นนักแข่งรถ จึงเริ่มจากการแว้นบนถนนธรรมดา แต่รู้สึกว่าไม่ได้อะไร หากพลาดล้มก็เจ็บเปล่า หรือเสียชีวิต พ่อแม่ก็บ่นก็ว่า จึงเริ่มมาแข่งในสนาม เริ่มได้เงิน ได้ความรู้ ได้ชื่อเสียง รวมถึงมีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยมากกว่า และมีหน่วยกู้ภัยที่คอยดูแลเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แตกต่างจากการแข่งหลังถนน (แข่งบนท้องถนนธรรมดา) ที่มีแต่เสียกับเสีย รวมทั้งตำรวจไล่จับ
แบงค์เล็กบอกอีกว่า เด็กแว้นกับนักแข่งต่างกันตรงที่การแข่งบนถนนไม่มีกฎหมาย ไม่มีกติกา ไม่มีที่สิ้นสุด แต่การแข่งในสนามมีความปลอดภัย ทั้งการใส่หมวกกันน็อก รองเท้าผ้าใบ เสื้อแขนยาว ที่ช่วยป้องกันตัวเอง มีระยะทางกำหนดที่ชัดเจน
ส่วนกระแสสังคมที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และตีค่าเด็กแว้นว่า เป็นคนต่ำต้อย ยอมรับว่าเสียใจ เสียความรู้สึก แต่เมื่อมีคนรักก็ต้องมีคนเกลียด และยืนยันว่าต่อให้ตัวเองจะเป็นเด็กแว้น ก็ไม่เคยทำให้ใครเดือดร้อน เพราะทำไปตามความชอบ ความฝัน เมื่อมีสนามก็ไปแว้นในสนาม หมดเวลาสนามปิดก็กลับบ้าน ทำตามกฎกติกาที่ตำรวจวางไว้ หากไปแว้นข้างนอกจะถูกจับ
ตนมาถึงจุดที่เริ่มคิดได้ รู้สึกว่าเมื่อแว้นข้างนอกไม่ได้อะไร โดนคนด่าคนว่า พอมาแว้นในสนามมีคนตามมาดูเยอะ จนเกิดกระแสในโลกโซเชียล เพราะด้วยความเป็นคนตัวเล็ก จึงได้เปรียบ จนได้เป็นนักแข่งที่ตัวเล็กที่สุดในประเทศไทย จนมีคนติดตาม และมาแว้นในสนามแข่งจนได้แชมป์ NGO สายพานซุปเปอร์โอเพ่น ปี 2017 และดรีมโอเพ่น พร้อมฝากเตือนถึงเด็กแว้นที่ยังขี่รถตามถนนทั่วไปว่า ถ้าแว้นข้างนอก หากเกิดอุบัติเหตุก็เจ็บฟรีหรือตายฟรี พ่อแม่ก็เป็นห่วง แต่ถ้ามาแว้นในสนาม มีทั้งกิจกรรม มีของแจก มีความสนุกสนานบันเทิง
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ