สาธารณสุขแจง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ให้พยาบาลจ่ายยาได้เพื่ออำนวยความสะดวก รพ.สต. ยืนยันไม่ได้เปิดช่องเพื่อนายทุน-ร้านสะดวกซื้อ





 

บิ๊กฉัตร ยัน พ.ร.บ.ยา ไม่เอื้อ ‘นายทุน’ เล็งแก้ปัญหา ‘โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล’ ที่ไม่มี ‘เภสัชฯ’ จำแค่นั้น ยันยังต้องมีเภสัชฯ จ่ายยาในร้านค้าทั่วไป ชี้ขึ้นทะเบียนยาตลอดชีพ ที่ไหนๆ ก็ทำกัน

วันที่ 30 ส.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมแถลงข่าวในโอกาสครบ 1 ปี อย. ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ

พล.อ.ฉัตรชัย แถลงว่า รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ผลักดันให้มีการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยกับนานาชาติ ซึ่งอย.ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีความสำคัญ แต่ที่ผ่านมาติดปัญหาเรื่องการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพล่าช้า ดังนั้นจึงมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 77/2559 เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการพิจารณาออกใบอนุญาต และหลังครบรอบ 1 ปี พบว่าช่วยสางปัญหาผลิตภัณฑ์ขอขึ้นทะเบียนคั่งค้างกว่า 3.8 แสนรายการได้ดี

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ยา ว่า ท่านนายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายว่าการแก้ปัญหาใดๆ ต้องมุ่งสู่พี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ ถือเป็นหัวใจว่า การทำงานทุกเรื่องพี่น้องประชาชนต้องได้ประโยชน์ ซึ่งตนเชื่อมั่นว่า แนวคิดและวิธีการของกระทรวงสาธารณสุข และอย. ได้เดินตามนโยบายอย่างชัดเจน เพียงแต่วันนี้การสร้างการรับรู้ให้แก่พี่น้องประชาชนโดยทั่วไปอาจไม่ครอบคลุม ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ตนเชื่อว่าเมื่อได้สร้างความเข้าใจกันแล้ว โดยเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ทุกอย่างก็จะผ่านไปได้

เมื่อถามต่อว่ากรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า การกแก้พ.ร.บ.ยาฯ ฉบับนี้จะเอื้อต่อนายทุน หรือร้านสะดวกซื้อหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่จริง ไม่ใช่แบบนั้น ก็อย่างที่เรียนไปก่อนหน้านี้ ว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลจะมุ่งไปสู่พี่น้องประชาชนเป็นหลัก นี่พูดเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ดังนั้น สิ่งที่พูดแบบนั้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐานบนความถูกต้องเลย ซึ่งตนย้ำกับท่านเลขาฯอย.แล้วว่า การสร้างการรับรู้ และการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จ

นพ.วันชัย กล่าวว่า คำสั่งปลดล็อกของคสช. ช่วยให้การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทำได้อย่างรวดเร็ว และยังสามารถจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาช่วยในการผ่านใบอนุญาตเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 คน จากเดิมที่มีอยู่เพียง 600 คน อย่างไรก็ตามจากคำสั่งดังกล่าวทางอย.ต้องนำไปแก้ไขพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องอีก 7 ฉบับ ซึ่ง 6 ฉบับอยู่ในขั้นกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ….ซึ่งจากการรับฟังความเห็นมีความเห็นด้วยในเนื้อหา 90 เปอร์เซ็นต์ เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกันอยู่ โดยเฉพาะเรื่องวิชาชีพที่สามารถจ่ายยาได้หรือไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เพื่อความยั่งยืนต้องนำคำสั่งปลดล็อกของคสช. ไปบรรจุในพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่หรือไม่ นพ.วันชัย กล่าวว่า ในคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ 77/2559 จะมีการบรรจุลงในร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ. ฉบับใหม่ แทนพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญ แต่คนอาจไม่ค่อยพูดถึง จริงๆ ร่างพ.ร.บ.ยา ตัวใหม่ มีประเด็นเป็นประโยชน์มากมาย ยกตัวอย่าง 1.พ.ร.บ.ฯ ปัจจุบัน การขึ้นทะเบียนยา ขึ้นแล้วขึ้นเลยตลอดชีวิต เหมือนใบขับขี่ในอดีตสอบแล้วตลอดชีพ แต่ปัจจุบันมีการกำหนดอายุไว้ ซึ่งทางอย.ก็อยากให้มีการกำหนด เพราะสากลก็เป็น 2.มีการจำแนกเป็นยากลุ่มๆ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก็จะจำกัดการใช้ ให้หมอเท่านั้นที่สั่งได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ชัดเจนต่อประชาชน 3.ประหยัดเงินงบประมาณ พ.ร.บ.ฯ เดิมไม่อนุญาตให้เก็บเงินจากผู้ประกอบการ ทั้งที่บางรายมีรายได้เป็นพันๆ ล้านบาทต่อปี แต่เวลามายื่นขอขึ้นทะเบียนกลับไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่คำสั่งคสช.ที่ผ่านมากำหนดให้เสียค่าใช้จ่ายตามความยากง่าย ตรงนี้จะประหยัดเงินงบประมาณของประเทศชาติอย่างชัดเจน

นพ.วันชัย กล่าวอีกว่า สาระสำคัญอีกข้อในการแก้ไขพ.ร.บ.ยา และมีประโยชน์ คือ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ฉบับที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่มีการต่อทะเบียนยา ถือเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องรับความเสี่ยงมาก เนื่องจากเมื่อไม่กำหนด แสดงว่า ต้องรอให้เกิดผลข้างเคียงยาต่อคนไข้ก่อน และต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมายว่า เกิดผลข้างเคียงจริง อย.ถึงถอนและยกเลิกทะเบียนยานั้นๆ ได้ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาใช้เวลาหลายปีมากกว่าจะยกเลิกทะเบียนยาแต่ละตัว แต่พ.ร.บ.ใหม่จะไม่ใช่ จะคุ้มครองประชาชนมากขึ้น อย่างกำหนดให้ขึ้นทะเบียนยา 7 ปี และระหว่างที่ใช้ในช่วงเวลาดังกล่าว หากพบผลข้างเคียงยาเกิดขึ้น ก็จะเป็นหน้าที่ของเจ้าของทะเบียนยาพิสูจน์ว่ายังปลอดภัย ซึ่งหากปลอดภัยเราก็จะอนุญาตให้ใช้ต่อ หากพิสูจนได้ก็ต่ออายุให้ แต่ปัจจุบันไม่มี ดังนั้นระบบใหม่จะทำให้ยาที่มีปัญหาทั้งหมดค่อยๆ หมดไปจากตลาด

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ในร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่มีข้อไหนที่ทำให้เกิดความเชื่อว่าจะไปเอื้อร้านสะดวกซื้อ หรือนายทุนหรือไม่ นพ.วันชัย กล่าวว่า ในพ.ร.บ.ยาฯ ฉบับปัจจุบัน รวมถึงกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ระบุชัดเจนว่า การเปิดร้านขายยา ไม่ว่าจะเป็นร้านเฉพาะ หรือเป็นชั้นวาง เขียนไว้ชัดว่า ต้องมีเภสัชกรเท่านั้น และในการแก้ไขพ.ร.บ.ยาฯฉบับใหม่ไม่ได้ไปแก้ไข หรือไปทำอะไรเรื่องนี้เลย ยังคงกำหนดให้ร้านขายยาต้องมีเภสัชกรไว้เหมือนเดิม ขอยืนยัน ซึ่งไม่มีตรงไหนไปแก้ไข หรือเอื้อให้เกิดช่องในการเปิดร้านขายยาใหม่โดยไม่มีเภสัชกร ไม่มีจริงๆ ประเด็นที่เป็นปัญหาเป็นเรื่องระหว่างวิชาชีพตามที่เห็นในข่าว เพราะพยาบาลที่ทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เขาต้องจ่ายยาตามแพทย์สั่ง เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีเภสัชกรในรพ.สต. อยู่เลย จึงต้องให้พยาบาลจ่ายยา ซึ่งก็ถามหาว่า ไม่มีกฎหมายรองรับหน้าที่พวกเขา จึงอยากให้ อย.มีกฎหมายรองรับการจ่ายยาของพวกเขาในรพ.สต.

“ ประเด็นมีแค่นี้ แต่กลับมีการขยายความว่า จะไปเปิดช่องให้ร้านขายยา เอาคนที่ไม่ใช่เภสัชกรมาขาย ซึ่งไปกันใหญ่แล้ว เนื่องจากกฎหมายในปัจจุบันเข้มมาก ร้านที่เปิดใหม่ๆ ถูกบังคับหมดต้องมีเภสัชกรเท่านั้น และในร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ ร้านเดิมๆ ที่ไม่มีเภสัชกร ก็มีการควบคุม โดยหากเปลี่ยนเจ้าของร้านขายยาเมื่อไหร่ ก็ต้องมีเภสัชกร หากหาไม่ได้ก็ต้องปิดร้าน ดังนั้นในอนาคตหมายความว่า ร้านขายยาเดิมที่ยังคงเปิดโดยไม่มีเภสัชกร ซึ่งอาจเปิดตั้งแต่ พ.ศ.2510 ร้านพวกนี้จะค่อยๆหมดไป เพราะกฎหมายจะควบคุมหมด” เลขาธิการ อย.กล่าว

ด้าน นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ความจริงเรื่องระบบสุขภาพต้องทำงานร่วมกันอยู่แล้ว ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลาย แต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ก็ต้องเลือกประชาชนเป็นที่ตั้ง ส่วนพ.ร.บ.ยาฯ ตั้ง 51 ปีแล้ว แก้ไขไม่ได้เพราะ มีความขัดข้องประเด็นวิชาชีพ ทั้งๆที่ยังมีเรื่องอื่นๆที่ออกมาแล้วเกิดประโยชน์กับประชาชนมากมาย ซึ่งกำลังให้อย.ทำออกมา 10 ข้อที่เห็นชัดๆ ไปเลย มีประเทศไหนใช้พ.ร.บ.ยา ตั้ง 51 ปี ไม่แก้ไข ประเทศอื่นไม่มี โลกไปถึงไหนแล้ว พอจะออกก็ถูกตีกลับที่เดิมในเรื่องเดิมๆ ดังนั้น หากมองข้ามประโยชน์ในบางส่วน เราก็จะเห็นประโยชน์ส่วนรวม นอกจากนี้ในเรื่องที่เป็นปัญหา

“ต้องย้ำว่า ไม่ได้บรรจุไว้ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เลย ไม่มีบอกเลยว่า วิชาชีพไหนจ่าย วิชาชีพไหนไม่จ่าย เพราะ ต้องออกกฎกระทรวงตามมา ซึ่งกฎกระทรวงยังไม่ออกมาเลย จึงอย่าตีตนไปก่อนไข้ รวมทั้งคนที่ไปออกในโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็ไม่รับผิดชอบอะไร แต่รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุขต้องรับผิดชอบในทุกอย่างที่เราออกมา เพราะจะเป็นกฎหมาย โดยย้ำว่าทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์ของประชาชน ดังนั้นอย่าสร้างความขัดแย้งกันเลย เพราะทุกวิชาชีพต้องทำงานร่วมกันอยู่แล้ว อย่าเอาเรื่องบางอย่างมาทำให้หมองใจกันดีกว่า และร่างพ.ร.บ.นี้เมื่อส่งไปที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา หากเห็นชอบก็ไม่ได้สิ้นสุด เพราะขั้นตอนต้องผ่านไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งก็จะมีเวทีในการพูดคุยอีก และก็ต้องไปสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก ซึ่งก็จะมีการให้ความคิดเห็นอีก” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: