การสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 กำลังเป็นปัญหาในระบบการศึกษาไทย ล่าสุดมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยสถาบันการวิจัยและพัฒนา สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ และสวนดุสิตโพล ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่อง "ผลจากระบบการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1" ซึ่งเป็นการศึกษาผลกระทบที่มีต่อตัวเด็ก ครอบครัว และโรงเรียน รวมถึงหาแนวทางในการคัดเลือกเด็ก
นายชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และหัวหน้าโครงการวิจัย แถลงผลการวิจัย พบว่า การเตรียมตัวเด็กเพื่อสอบเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทำให้ผู้ปกครองต้องเสียเงินเป็นจำนวนมาก โดยต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษ หรือกวดวิชาให้แก่ลูก บางครอบครัวมีค่าใช้จ่ายในการเรียนกวดวิชาเพื่อเตรียมสอบเข้าเกิน 1 แสนบาทต่อปีต่อคน
ส่งผลเชิงลบต่อเด็กทุกด้าน
ทั้งนี้ ยังพบว่าส่งผลในเชิงลบต่อตัวเด็กในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เช่น ยกเลิกการนอนกลางวัน ซึ่งการนอนกลางวันเป็นการพักผ่อนที่สำคัญต่อเด็ก เด็กเกิดความกดดัน เกิดภาวะเครียด ความสุขเด็กลดลง เด็กขาดโอกาสปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน เน้นให้เด็กเรียนรู้จากการท่องจำและฝึกทักษะทางวิชาการ สมองของเด็กไม่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับวัยของเด็ก
นอกจากนั้น ยังส่งผลต่อครอบครัว การใช้เวลาร่วมกันของครอบครัวหายไป ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวลดลง ผู้ปกครองเกิดความเครียดและแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับลูก ส่วนผลต่อโรงเรียน ทำให้โรงเรียนต้องปรับรูปแบบการสอนโดยเพิ่มเนื้อหาวิชาการสำหรับเด็กอนุบาลมากเกินไป โรงเรียนไม่สามารถจัดประสบการณ์และพัฒนาเด็กตามแนวคิดหรือปรัชญาของการศึกษาปฐมวัยได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ระดับโรงเรียนประถมศึกษา เด็กมีพฤติกรรมต่อต้านการเรียน เด็กขาดความพร้อมในการเรียนระยะยาว การเรียนรู้เกิดขึ้นในระยะสั้น เป็นการเรียนรู้เพื่อทำสอบ ไม่สามารถปรับประยุกต์ความรู้ที่เรียนเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
51.77%ผู้ปกครองเห็นด้วยจัดสอบ
นายชนะศึก กล่าวต่อว่า สำหรับความคิดเห็นต่อการสอบ พบว่า ผู้ปกครอง 51.77% เห็นด้วย 48.23% ไม่เห็นด้วย, ครูอนุบาล 42% เห็นด้วย 58% ไม่เห็นด้วย, ผู้บริหาร 25% เห็นด้วย 75% ไม่เห็นด้วย และนักวิชาการ 100% ไม่เห็นด้วย โดยเหตุผลที่เห็นด้วยกับการสอบ ส่วนใหญ่ต้องการให้เด็กได้ฝึกทักษะทางวิชาการ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเรียนในชั้น ป.1 การสอบทำให้โรงเรียนจัดเด็กที่มีความสามารถใกล้เคียงไว้ในห้องเดียวกัน เด็กมีโอกาสเท่าเทียมกัน
ส่วนเหตุผลที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าการสอบไม่สามารถประเมินความสามารถของเด็กได้ครบทุกด้าน ไม่สอดคล้องกับหลักการศึกษาปฐมวัย และการพัฒนาเด็ก เด็กเกิดความกดดันและเครียด เด็กไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมตามวัย
ส่วนข้อเสนอแนะแนวทางการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับ ป.1 พบว่า 22.70% ต้องการให้ประเมินพัฒนาการและสมรรถนะของเด็กตามวัย 22.27% รับเด็กในเขตพื้นที่บริการ/ใกล้บ้าน 17.50% จับสลาก 16.39% สัมภาษณ์เด็ก 10.90% ทดสอบ 5.97% สัมภาษณ์พ่อแม่ ผู้ปกครอง และ 4.27% ใช้หลายวิธีประกอบกัน
สนใจส่งลูกเรียนร.ร.เอกชนมากสุด
นายชนะศึก กล่าวอีกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองสนใจส่งลูกเข้าเรียน ป.1 ในโรงเรียนสังกัดต่างๆ ดังนี้ 56% โรงเรียนเอกชน 19% สังกัดมหาวิทยาลัย 13% สพฐ. และ 12% กทม. โดยเหตุผลของการตัดสินใจเลือกโรงเรียนให้แก่บุตรหลานในการสอบเข้า ป.1 ได้แก่ 37% ระบบการเรียนการสอน 24% ความสะดวกในการเดินทาง 18% ชื่อเสียงของโรงเรียน 7% สภาพแวดล้อมของโรงเรียน 7% ค่าเทอมมีความเหมาะสม 6% มีระดับการศึกษาสูงสุดถึงชั้นม.ปลาย และ 1% อื่นๆ เช่น มีบุตรศึกษาอยู่ก่อนแล้ว แสดงให้เห็นว่า เงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองย่อมทุ่มเงินให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนที่ดี
จำนวนชั่วโมงเพื่อเตรียมบุตรหลานเพื่อสอบเข้า ป.1 ต่อสัปดาห์ พบว่า 25% 2 ชม.ต่อสัปดาห์ 22% มากกว่า 4 ชม.ต่อสัปดาห์ 20% 3 ชม.ต่อสัปดาห์ 19% 4 ชม.ต่อสัปดาห์ และ 14% 1 ชม.ต่อสัปดาห์ ส่วนผลกระทบของระบบการสอบเข้า ป.1 ในมุมของครู ระบุว่า 43% เด็กไม่ได้รับการพัฒนาอย่างสอดคล้องตามวัย 31% ทำให้ไม่สามารถสอนตามหลักการพัฒนาเด็กได้ 18% ส่งผลต่อการจัดการชั้นเรียนในห้องเรียน และ 8% อื่นๆ เช่น เนื้อหาวิชาการมากขึ้น กระทบกิจกรรมหลัก ลักษณะการเตรียมเด็กสำหรับสอบเข้า ป.1 พบว่า 44% ปรับกิจกรรมในห้องเรียน 25% สอนเสริมให้แก่เด็กช่วงหลังเลิกเรียน 16% สอนเสริมให้แก่เด็กช่วงวันหยุด หรือเสาร์-อาทิตย์ 10% สอนเสริมให้กับเด็กช่วงพักกลางวัน 2% อนุญาตให้ผู้ปกครองพาเด็กออกไปติวในช่วงเวลาเรียน และ 3% อื่นๆ เช่นเตรียมความพร้อมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน
พ่อแม่เล่น-พูดคุยกับลูกไม่เป็น
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น และอดีตผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าการสอบเข้าส่งผลต่อความรู้สึกของเด็กอย่างมาก ยิ่งครอบครัวไหนมีลูก 2 คน แล้วคนหนึ่งสอบเข้าโรงเรียนที่ดีมีชื่อเสียงได้ กับอีกคนสอบเข้าไม่ได้ เมื่อมีคนชื่นชมหรือสอบถามเฉพาะเรื่องของลูกคนที่สอบเข้าโรงเรียนดีๆ ได้ ย่อมส่งผลต่อความรู้สึกติดลบเด็กที่สอบเข้าไม่ได้อย่างแน่นอน
อีกทั้ง ปัญหาขณะนี้คือ เด็กเล่นไม่เป็น เนื่องจากพ่อแม่ไม่ได้เล่นกับลูก แต่ใช้เวลาไปกับการพาลูกไปเรียนติว เมื่อเขาเล่นกับเพื่อน เด็กเล่นเต็มที่จนทำให้เกิดปัญหาการเล่นกันแรงๆ ในเด็ก รวมถึงพ่อแม่ส่วนใหญ่พูดคุยกับลูกไม่เป็น ไม่เคยสอบถามความรู้สึกของลูก แต่เป็นการพูดคุยในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ
"หากโรงเรียนมีศักยภาพจริงๆ จะต้องสามารถปั้นดินให้เป็นดาวได้ จึงไม่จำเป็นต้องมีการคัดเลือกว่าเด็กคนนั้นเป็นดิน หรือเป็นดาวมาแล้ว แต่ต้องสามารถปั้นดินให้เป็นดาวได้ทุกคน และการจะพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ อยากได้คนดี คนเก่ง ต้องวางรากฐานด้านคุณธรรมจริยธรรม ทักษะชีวิต ต้องสร้างเด็กดีมาก่อนเด็กเรียนเก่ง เพราะถ้ายังมีระบบการคัดเลือก การพัฒนาเพื่อให้เด็กเป็นคนเก่งก่อน ความเอื้ออาทรของบ้านเมืองหายไปอย่างแน่นอน" นพ.สุริยเดว กล่าว
ที่มา : คมชัดลึกออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ