18 ก.ย.61 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จัดแถลงข่าวสำรวจเรื่อง “ประกันชีวิตเจ้าไหนให้ผลประโยชน์มากกว่ากัน” นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ โดยได้สำรวจเรื่องประกันชีวิตเจ้าไหนให้ผลประโยชน์มากกว่ากัน โดยพิจารณาจากบริษัทที่มีสัดส่วนทางการตลาดสูงสุด 11 รายแรก ซึ่งได้คัดเลือกจากแบบประกันชีวิตที่มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ในตลาด เช่น ประกันชีวิตเพื่อการออมทรัพย์ ประกันเพื่อการศึกษาบุตร ประกันเพื่อวัยเกษียณอายุ ประกันเพื่อการลงทุน และยังมีแบบอื่น ๆ อีกหลายประเภท แต่สำหรับการสำรวจเปรียบเทียบในครั้งนี้จะศึกษาเฉพาะประกันชีวิตแบบออมทรัพย์หรือสะสมทรัพย์ และประกันสุขภาพ เท่านั้น และทำการทดสอบโดยเปรียบเทียบจากใบเสนอราคาจากตัวแทนประกันชีวิต ช่วงเดือนมิถุนายน 2561
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า วิธีการสำรวจเปรียบเทียบนั้น นิตยสารฉลาดซื้อตั้งโจทย์เป็นการยกตัวอย่างการซื้อประกันชีวิตของบุคคลเพศชาย (นามสมมติ “นายธรรมดา ฉลาดซื้อ”) อายุ 35 ปี โสด ทำงานเป็นพนักงานในสำนักงานแห่งหนึ่ง ไม่มีสภาพแวดล้อมที่เป็นความเสี่ยงหรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย มีความสนใจอยากเลือกซื้อประกันชีวิต แบบสะสมทรัพย์ ทุนประกันชีวิต (สัญญาหลัก) จำนวน 200,000 บาท มีระยะเวลาการคุ้มครองชีวิต 20 – 25 ปี และชำระเบี้ยประกันในช่วง 15 – 20 ปี พร้อมทั้งมีค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลกรณีผู้ป่วยใน และการชดเชยการขาดรายได้ที่พักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล โดยใช้ข้อมูลอัตราค่าห้องพักประเภทเตียงเดี่ยวประมาณ 3,000 บาท ต่อ วัน มาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อประกันชีวิต
น.ส.สารี กล่าวอีกว่า จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าบริษัทประกันชีวิตแต่ละบริษัท มีข้อเสนอและเงื่อนไขหลักที่คล้ายคลึงกัน แต่มีเบี้ยประกันชีวิตที่ต้องชำระแตกต่างกัน รวมถึงผลตอบแทน (เงินคืนระหว่างสัญญาหรือเงินปันผล) ที่แตกต่างกันด้วย ด้วยเหตุนี้ในการพิจารณาว่าควรจะเลือกซื้อประกันชีวิตจากบริษัทประกันชีวิตไหนนั้น ฉลาดซื้อ จะใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ด้านการเงิน มาพิจารณาเลือกซื้อประกันชีวิตโดยคิดผลตอบแทนที่ได้รับว่าประกันชีวิตของบริษัทไหนน่าสนใจมากที่สุด จากข้อมูล คือ การใช้ค่า IRR (Internal Rate of Return) มาช่วยในการพิจารณา เพื่อให้เข้าใจได้อย่างง่ายๆ สรุปก็คือ IRR เป็นการคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุน ที่เปอร์เซ็นต์มีค่าเป็นบวกมากเท่าใด แสดงว่าแบบประกันชีวิตนั้นๆ ให้ผลตอบแทนดีกว่าแบบที่ให้ค่าเปอร์เซ็นต์น้อยกว่า ดังนั้น ค่า IRR ยิ่งมากยิ่งดี และไม่ควรติดลบ
ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการผู้เชี่ยวชาญ ด้านการบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า จากการคำนวณ กรณีของนายธรรมดา ฉลาดซื้อ จึงควรเลือกซื้อประกันชีวิตกับบริษัทที่มีค่า IRR สูงที่สุด หรือรองลงมาเป็นอันดับที่ 2 บนสมมติฐานว่านายธรรมดาจะมีชีวิตอยู่จนครบสัญญาของกรมธรรม์ ทั้งนี้ ผู้บริโภคอาจต้องพิจารณาถึงเรื่องความสะดวกในการติดต่อสำนักงานสาขา และตัวแทนของบริษัทประกันชีวิต ที่ให้บริการหลังการขายประกอบด้วย
ผศ.ประสาท กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีของนายธรรมดา ยังมีความประสงค์ที่จะซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติม จึงต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขการเลือกซื้อประกันสุขภาพร่วมด้วย เพราะประกันสุขภาพเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่มีเงื่อนไขบางประการที่ผูกกับประกันชีวิต (สัญญาหลัก) และการเลือกซื้อแผนค่าห้องพักรักษาพยาบาลว่าต้องการค่าห้องพักต่อวันเท่าไหร่นั้น จะขึ้นอยู่กับสัญญาประกันชีวิตหลัก ยิ่งถ้าต้องการอัตราค่าห้องพักต่อวันสูง ๆ ท่านอาจจะต้องซื้อเบี้ยประกันชีวิตที่เป็นสัญญาหลักเพิ่มขึ้นมากกว่า 200,000 บาท ไม่อย่างนั้นท่านจะไม่สามารถซื้ออัตราค่าห้องพักในอัตราสูงกว่า 3,000 บาทได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ตามเงื่อนไขของนายธรรมดา ค่าห้องพักกรณีเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในประมาณ 3,000 บาทต่อวัน จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายหลักในการรักษาอะไรบ้าง ได้แสดงเปรียบเทียบให้ดูตาม ตาราง การเปรียบเทียบข้อมูลประกันสุขภาพของแต่ละบริษัทประกันชีวิต พร้อมกันนี้ ได้เสนอค่าชดเชยการขาดรายได้กรณีรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล มาให้พิจารณาเป็นทางเลือกเพิ่มเติมด้วย
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ มพบ. กล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับประกันชีวิตที่ถูกร้องเรียนเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเป็นอันดับต้นๆ คือ เรื่องการถูกบอกเลิกสัญญาและการเข้ารับการรักษาพยาบาลได้เฉพาะตามที่บริษัทประกันกำหนดเท่านั้น อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องการเวนคืนประกันชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ซื้อชำระเบี้ยประกันได้ไม่ครบตามที่ตกลงไว้ในสัญญานั้น ผู้ซื้อจะได้รับเงินคืนไม่ถึง 1 ใน 5 ของเงินที่ชำระไป และทำให้ไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป
สรุป การเลือกซื้อประกันสุขภาพนั้น ไม่สามารถแยกซื้อจากประกันชีวิต (สัญญาหลัก) ได้ กล่าวคือ ถ้าท่านเลือกซื้อประกันชีวิต จากบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง ท่านก็ต้องเลือกซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทนั้นๆ ด้วย และก็ไม่สามารถเลือกซื้อเฉพาะประกันสุขภาพอย่างเดียว โดยที่ไม่ซื้อประกันชีวิตที่เป็นสัญญาหลักก่อนได้ อีกทั้งการเลือกซื้ออัตราค่าห้องพักของประกันสุขภาพ ยังผูกติดกับเงื่อนไขของประกันชีวิตที่เป็นสัญญาหลักอีก กรณีอย่างนายธรรมดา ฉลาดซื้อ ที่เลือกซื้อประกันชีวิตที่เป็นสัญญาหลัก ทุนประกันชีวิต 200,000 บาท อาจจะไม่สามารถเลือกซื้อเบี้ยประกันสุขภาพที่มีอัตราค่าห้องพักต่อวันมากกว่า 3,000 บาท ในบริษัทประกันชีวิตบางแห่งได้
ขอบคุณข้อมูลจาก มติชน, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ