ใครขายไม่ดีบ้าง? ผู้ประกอบการครวญ เศรษฐกิจตอนนี้ซบเซามากที่สุดในรอบ15ปี!





 

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ถือว่าเหมาะสม สอดคล้องกับการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท แม้เศรษฐกิจในประเทศจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ได้แข็งแกร่งอย่างมีนัยสำคัญมากนัก ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาทยังแข็งค่าเล็กน้อย ดังนั้นภาคเอกชนจึงมองว่ายังไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในขณะนี้

“ยอมรับว่าหากมีการปรับดอกเบี้ยขึ้น จะยิ่งส่งผลกระทบให้เงินบาทแข็งค่า ส่งออกก็ยิ่งลำบาก เอกชนมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น แต่หากจะดอกเบี้ยขึ้นก็ควรทำในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นชัดเจนที่ประมาณ 5-6% เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ซึ่งมองว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยอาจมีโอกาสขยายตัวได้ 5-6% จากการลงุทนโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่จะมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีจำนวนมาก ประกอบกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุน ส่งผลให้มีกระแสเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะครึ่งปีแรกจะเห็นชัดเจนได้มากขึ้น”

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% อีกสักระยะหนึ่ง เพราะไทยยังมีความจำเป็นต้องมีการลงทุนในปีหน้าอีกจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับการนำเข้าสินค้าทุนยังไม่ได้ขยายตัวแบบผิดปกติ การผลิตยังไม่ได้เร่งตัวมาก การลงทุนไม่สูง จนถึงขั้นทีต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้นเพื่อชะลอความร้อนแรง ดังนั้นเมื่อมองปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน จึงเชื่อว่ายังไม่ใช่จังหวะที่ธปท.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้

นางแก้วเก้า เผอิญโชค นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวถึงแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตว่า หากมีการปรับขึ้นจริงแน่นอนว่าจะต้องมีผลต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเพราะต้องรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้มากขึ้นหากมีการกู้เงินมาใช้ประกอบธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็จะส่งผลบวกต่อคนที่มีเงินฝากในธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ยเงินฝากเช่น ผู้สูงอายุ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องพิจารณาทั้งสองทางอย่างสมดุล เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากนัก เพราะปัจจุบันเท่าที่ได้สัมผัสและสอบถามกับผู้ประกอบการทั่วไป เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเศรษฐกิจซบเซามาก บางรายบอกว่าซบเซามากที่สุดในรอบ 15 ปี แต่รัฐบาลกลับบอกว่าเศรษฐกิจดี แต่รากหญ้ากลับบอกว่าไม่ดี

นางแก้วเก้า กล่าวอีกว่า ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้วยการลดการนำเข้าสินค้าบางอย่างจากต่างประเทศ เพื่อให้เอสเอ็มอีไทยยังสามารถผลิตสินค้านั้นๆ ได้ เช่น สินค้าประเภทชิ้นส่วนยานยนต์ที่ปัจจุบันมีการนำเข้ามาแทนการจ้างเพื่อผลิตในประเทศ ส่วนการที่ภาครัฐแนะนำให้เอสเอ็มอีปรับตัวก็ทำมาโดยตลอดแต่การที่จะให้ออกไปลงทุนต่างประเทศก็เป็นเรื่องยากเพราะคนที่ทำได้คือผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีสายป่านยาวเท่านั้น

ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: