เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการยกร่าง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. ว่า
เรื่องดังกล่าวทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนั้นเมื่อเป็นเจ้าของร่างจึงควรชี้แจงรายละเอียดให้กับสังคมได้รับทราบ แต่อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการกฤษฎีกายังต้องพิจารณาปรับแก้อีกมากและต้องใช้เวลานาน ไม่ได้มีผลบังคับใช้ในทันทีทันใด
“ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงเหมือนกันและนายกรัฐมนตรีได้กำชับด้วยว่า หากต้องการจัดระเบียบคนที่ชอบเอาหมาแมวมาเลี้ยงด้วยความเมตตา 20-30ตัว เต็มบ้านไปหมดจนทำให้เพื่อนบ้านเดือดร้อนรำคาญและมีปัญหา
ซึ่งนายกเป็นห่วงเหมือนกันว่าถ้าจะต้องไปควบคุมว่าต้องเลี้ยงไว้กี่ตัว เลี้ยงไม่เกินกี่ตัวถึงจะต้องเสียภาษี และต้องขออนุญาตนั้นเขาจะต้องหาที่ไปปล่อย แล้วใครจะดูแล กทม. ดูแลไหวหรือไม่ ท้องถิ่นดูแลไหวหรือไม่ กระทรวงเกษตรดูแลไหวหรือไม่”
“ตอนนี้ทุกอย่างยังเป็นปกติเพราะเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติดังกล่าวแล้วจะต้องส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณา และยังต้องส่งไปสภาอีกยาวนาน ยังไม่ได้บังคับใช้”
ผู้สื่อข่าวถามว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีรัฐมนตรีคนใดบ้างแสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าว นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี เพราะไม่มีใครเดือดร้อนเนื่องจากเห็นว่าเรื่องยังต้องถูกส่งไปกฤษฎีกาพิจารณา และยังต้องมีการรับฟังความคิดเห็นก่อนด้วย ก่อนแล้วจึงส่งกลับเข้ามาครม.อีกครั้ง ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนและคาดว่าไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้
เมื่อถามว่ามีรัฐมนตรีคนใดแสดงความคิดเห็นหรือไม่ว่าเรื่องดังกล่าวอาจเกิดเป็นปัญหาขึ้นได้ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี มีแต่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชี้แจงให้คณะรัฐมนตรีได้เข้าใจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองที่เป็นคนพูดว่า อาจจะมีปัญหานะ ขอให้ไปดูที่กฤษฎีกาให้ดีว่าโทษเป็นอย่างไร และระบบการอนุญาตตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุอยู่ว่า ไม่ให้ใช้ระบบอนุญาตโดยไม่จำเป็น
เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “นายกฯบอกว่ามีกฎหมายจัดระเบียบเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องระวังอย่าให้เป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะคนที่เขาเมตตาสัตว์ เลี้ยงสัตว์และนำสัตว์มาไว้จำนวนมากเพื่อดูแลจากการทิ้งขว้าง ซึ่งตรงนี้โอเคว่าปัญหาผลกระทบมันมี อาจทำให้เพื่อนบ้านรำคาญ เดือดร้อนเพราะหมาแมวส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวและที่สำคัญอาจเป็นบ่อเกิดของเชื้อโรคหากมีการดูแลไม่ดี หรือจนกระทั่งต้องไปขอรับบริจาคอาหาร จะต้องระวังผลกระทบ
แต่คล้ายกับว่าถ้ามีมากเกินไปจึงจะต้องถูกควบคุมตามกฎหมายนี้ แต่ปัญหาว่าจะต้องมากขนาดไหน และถ้าหากคนไม่อยากเลี้ยงแล้วเพราะเห็นว่าเป็นภาระหนัก แล้วเขาจะเอาไปไหน ถ้าเขาจะเอาไปปล่อยวัดเดี๋ยวก็จะยุ่งกันใหญ่ ต้องมีหน่วยราชการมารองรับสิ่งเหล่านี้ไว้ด้วย นายกฯก็บอกไว้แค่นั้น”
เมื่อถามว่ากฎหมายดังกล่าวสืบเนื่องมาจากกรณีที่นายกรัฐมนตรี เคยให้ความสงสารสุนัขจรจัดหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า จะเป็นการสืบเนื่องหรือไม่ตนไม่ทราบ แต่นายกเคยปรารภเรื่องดังกล่าวมาไม่นาน ส่วนกฎหมายนี้ ไม่สามารถเนรมิตขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่น่าจะใช่เรื่องสืบเนื่อง
ทั้งนี้ ตนเองที่บ้านก็เลี้ยงสุนัขอยู่หนึ่งตัว แต่เมื่อดูแล้วเชื่อว่ามันคงตายก่อนที่กฎหมายจะออก
เมื่อถามว่ารัฐบาลนี้ทิ้งทุ่นไว้ให้รัฐบาลหน้าหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีทุ่นอะไร เพราะถ้ารัฐบาลหน้าไม่ชอบก็นิ่งเฉยเอาไว้เสีย เหมือนกับรัฐบาลนี้ที่เฉยๆ ต่อกฎหมายของรัฐบาลก่อนก็หลายฉบับ แต่กฤษฎีกาก็ต้องตรวจไป
เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่หากสังคมไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้แล้วครม. ต้องพิจารณาถอนมติครม. ดังกล่าว นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ เพราะที่ผ่านมาก็มีหลายฉบับ เนื่องจากเมื่อเข้ากฤษฎีกาแล้วมีการแก้ไขมาก ทางกระทรวงจึงเห็นว่าหากแก้ไขมากอย่างนี้ก็ไม่เอาดีกว่า อย่างนี้ก็มีมาแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เพราะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาอย่างมากโดยเฉพาะพระสงฆ์เนื่องจากเกรงว่าจะมีคนนำหมาแมวมาปล่อยที่วัดจำนวนมาก นายวิษณุ กล่าวว่า ความจริงเรื่องนี้ถือเป็นเจตนาดีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่บางครั้งเราก็พูดกันไปโดยยังไม่ทันได้เห็นตัวกฎหมาย ดังนั้นจึงอยู่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องชี้แจงกับกฤษฎีกา
นายวิษณุ กล่าวในตอนท้ายด้วย ว่า จำไว้ว่ามาตรา 77 ไม่ใช่เป็นมาตราที่มีไว้เพียงแค่ฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเดียวแต่ ยังบอกไว้ในวรรค2 วรรค3 ด้วยว่า ไม่มีการออกกฎหมายที่ต้องไปขออนุญาต เว้นแต่จะชี้แจงความจำเป็นได้ว่าทำไม ไม่มีกฎหมาย ที่ตั้งกรรมการสารพัดเพื่อท่วงเรื่องให้เสียเวลาเหลือเกิน และจะต้องไม่กำหนดโทษที่หนักเกินสมควร
และถ้าจำเป็นมาตรา 77 ก็กำหนดไว้ประโยคแรกว่ารัฐพึงตรากฎหมาย เพียงเท่าที่จำเป็น ดังนั้นคำถามแรกคือจำเป็นอย่างไรจึงจะต้องออกกฎหมายนั้น ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นก็ตีกลับไป ซึ่งมีกฎหมายหลายฉบับที่กฤษฎีกาเห็นว่าไม่ต้องออก
ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ