“ศุลกากร” โอดตรวจไม่ทัน หลังพบปี 2561 สินค้าออนไลน์ทะลักเข้าไทยเฉียด 12 ล้านหีบห่อ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 54.45% อึ้ง! เจอสำแดงราคานำเข้าต่ำกว่า 1.5 พันบาทต่อชิ้นเพิ่มขึ้นเท่าตัว ทำเก็บภาษีได้น้อย พร้อมสั่งเร่งปรับแผน ดึงระบบปัญญาประดิษฐ์ช่วยตรวจ
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร และโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) จากต่างประเทศเข้าไทยผ่านสนามบินสุวรรณภูมิรอบปีงบประมาณ 2561 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีสินค้านำเข้ามา 11.98 ล้านหีบห่อ เพิ่มขึ้น 54.54% จากปีก่อน คิดเป็นมูลค่านำเข้า 1.43 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.71% แต่ยอดจัดเก็บภาษีสินค้าอีคอมเมิร์ซยังทำได้ไม่สูงนัก อยู่ที่ 1.06 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.86% จากปีก่อนที่จัดเก็บได้ 800 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยอมรับว่ายอดสินค้าอีคอมเมิร์ซที่นำเข้าเพิ่มขึ้น ทำให้กรมศุลกากรประสบปัญหาเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการตรวจสอบครบทุกรายการ โดยเฉพาะสินค้าที่สำแดงราคานำเข้าต่ำกว่า 1.5 พันบาทต่อชิ้นเพื่อไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีแวต) พบว่ามีการแจ้งเพิ่มถึง 1 เท่าตัว จากปี 2560 นำเข้า 4.7 ล้านชิ้น มูลค่า 1.3 พันล้านบาท แต่ปี 2561 เพิ่มเป็น 9.3 ล้านชิ้น มูลค่า 3.5 พันล้านบาท ซึ่งการตรวจสอบทำได้แค่ใช้วิธีนำเข้าเครื่องเอ็กซเรย์ตรวจแบบ 100% และจากนั้นใช้วิธีเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจสอบประมาณ 7% ในจำนวนนี้ตรวจพบเป็นสินค้าที่ไม่ถูกต้องแค่ 5 พันชิ้น คิดเป็นค่าปรับกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าต้องห้าม เช่น ยาอันตราย โบท็อกซ์ ยาเสพติด สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าแบรนด์เนมที่สำแดงราคาต่ำเพื่อเลี่ยงภาษี
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา กรมศุลกากรกำลังศึกษาการนำเครื่องเอ็กซเรย์ที่ติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาใช้ตรวจสอบสินค้าอีคอมเมิร์ซโดยตรง ซึ่งขณะนี้มีจีนและเกาหลี เริ่มใช้แล้ว แต่ต้องรอดูเทคโนโลยีให้เสถียร และราคามีความเหมาะสมก่อน โดยปีหน้าคาดว่าจะมีการติดตั้งได้ที่แรกในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ส่วนที่สนามบินสุวรรณภูมิจะต้องประสานกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
“การนำเข้าสินค้าอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่กรมศุลกากรทั่วโลกกำลังเผชิญ อย่างไทยก็สินค้านำเข้าเดือนหนึ่งนับล้านชิ้น ซึ่งขณะนี้กรมศุลกากรได้พยายามเพิ่มความเข้มงวด โดยนอกจากการใช้เทคโนโลยีแล้ว ยังใช้วิธีบริหารความเสี่ยงโดยรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบ เช่น หากเป็นสินค้าที่ค่าส่งแพงกว่าตัวของก็จะมีการสุ่มตรวจ รวมถึงจะประสานกับเจ้าของเว็บไซต์ต่างประเทศเพื่ออัพเดทราคาสำแดงให้ตรงกับราคาซื้อขายจริง” นายชัยยุทธ กล่าว
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการศุลกากรสำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจัดทำโครงการการจัดทำระเบียบศุลกากรเพื่อรองรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในเขตอีอีซี ได้รับอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการออกไปจนถึงเดือนมี.ค.2562 ขณะเดียวกันกรมศุลกากรเห็นชอบในร่างหลักการของร่างประกาศศุลกากรเพื่อรองรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการกลั่นกรองทางด้านข้อกฎหมาย
ข่าวจาก : ไทยโพสต์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ