พาณิชย์ถกสาธารณสุข เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนสูงเกินจริง พร้อมถก ก.สาธารณสุข เล็งกำหนดให้ค่ายาและค่ารักษาพยาบาลเป็นสินค้าและบริการควบคุม
ทพ.ประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 9 พ.ย. 2561 กรมฯ ได้หารือกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนสูงเกินจริง ซึ่งที่ผ่านมากรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ส่งเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ลงพื้นที่สำรวจโรงพยาบาลเอกชน 62 แห่งทั่วกรุงเทพฯ แล้วพบว่าส่วนใหญ่โรงพยาบาลไม่ได้เปิดเผยข้อมูลค่ายา ค่ารักษาพยาบาลให้ประชาชนรับทราบมากนัก โดยจะเก็บไว้ในเอกสาร คอมพิวเตอร์ภายในของโรงพยาบาล ส่วนที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของโรงพยาบาลก็จะแจ้งเพียงบางส่วนเท่านั้น ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่รับทราบข้อมูลเมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้วเท่านั้น ซึ่งหลังจากหารือกันในครั้งนี้ จะเรียกตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนมาหารือร่วมกับกรมฯ และกระทรวงสาธารณสุข อีกครั้งเพื่อพิจารณาข้อมูลและแนวทางการดำเนินการต่อไป
ทพ.ประโยชน์ กล่าวว่า ปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลไม่ได้กำหนดเป็นบริการควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 แต่ได้มีมาตรการกำกับดูแล คือให้ปิดป้ายแสดงค่ารักษาพยาบาลไว้ในที่เปิดเผยและชัดเจน หรือให้จัดทำเป็นเอกสารหรือเว็บไซต์ของโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบอัตราค่ายาและค่าบริการก่อนการตัดสินใจใช้บริการ ด้านกระทรวงสาธารณสุขมีพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 โดยการประกอบกิจการสถานพยาบาลและการดำเนินการสถานพยาบาล มาตรา 32 (3) ผู้รับอนุญาตต้องแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล และสิทธิของผู้ป่วยที่สถานพยาบาลต้องแสดงตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง โดยกำหนดโทษ มาตรา 59 ผู้รับอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 32 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลจะมีการประมาณการอัตราค่าบริการเบื้องต้น แจ้งให้ผู้รับการรักษาทราบก่อน
“ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากและมีความละเอียดก่อนแต่กรมฯ ยืนยันจะอยู่ข้างประชาชน ให้ได้รับความเป็นธรรมต่อไปโรงพยาบาลเอกชนต้องทำทำแอพพลิเคชั่นแสดงรายการค่ายา ค่ารักษาพยาบาลให้ประชาชนดาวน์โหลด เพื่อให้ประชาชนได้เปรียบเทียบราคาก่อนไปรับการรักษาไม่ใช่รู้ตอนหลังการรักษาไปแล้ว” ทพ.ประโยชน์ กล่าว
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงได้มีคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลราคาแพง และคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหา ค่ารักษาพยาบาลราคาแพง ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและดำเนินการ แก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน
ทั้งนี้ การพิจารณาราคายาและอัตราค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมควรให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลค่ายาและค่ารักษาพยาบาลโดยตรง รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขมีการแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการเพื่อกำกับดูแลอยู่แล้ว ในเบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์จะทำให้ราคาค่ารักษาพยาบาลมีความโปร่งใส แข่งขันกันในโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น ให้ประชาชนเป็นผู้เลือก โดยให้ประชาชนรู้และสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะราคาค่ารักษาพยาบาลได้ผ่านทางอินเตอร์เน็ต เพื่อลดความสงสัยและโต้แย้ง
ในขั้นต่อไปหากจะให้กระทรวงพาณิชย์กำหนดให้ค่ายาและค่ารักษาพยาบาลเป็นสินค้าและบริการควบคุม โดยอาศัยอำนาจตาม พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กระทรวงพาณิชย์จะทำการหารือกับกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำข้อมูลหลักเกณฑ์ เหตุผล และเป็นผู้พิจารณาราคายาและอัตราค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมเช่นเดียวกับสินค้าควบคุมอื่นๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำตาลทราย เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณาก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณากำหนดเป็นสินค้าและบริการควบคุมต่อไป ที่มีหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงเป็นผู้พิจารณากำหนดและเสนอมายัง กกร. เพื่อดำเนินการต่อไป
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ