หลังจากโด่งดังในกรณีที่ออกมาประกาศจุดยืนทำทุกทางให้ 7-11 ออกไปจากตำบลตนเองตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
อ่านย้อนหลัง : แห่กดไลค์รัวๆ! 'กำนันโหน่ง' ตอกเซเว่น ขายอาหารตามสั่ง24ชั่วโมง ลั่น 'ผมจะทำทุกทางให้เซเว่นย้ายจากตำบลผมไป'
"ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" มีโอกาสได้พูดคุยกับ กำนันโหน่ง ถึงที่มาที่ไปในการออกมาต่อต้าน รวมถึงแนวคิดการสู้ศึกทุนนิยมที่กระจายตัวอยู่ในชุมชนในแบบฉบับป่าล้อมเมือง ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชน รวมไปถึงการรักษาวิถีดั่งเดิมของชุมชน
กำนันโหน่ง อธิบายว่า ไทยแลนด์มินิมาร์ท ที่จะออกมาสู้ศึกกับร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงนั้น หากรัฐบาลให้ความสนใจและลงทุนจริงๆ คิดว่าคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือ คนในชุมชน ซึ่งโมเดลไทยแลนด์มินิมาร์ทนี้เป็นร้านสะดวกซื้อในตำบลสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดการเท่าเทียม โดยแทรกวิถีชีวิตของเราดั้งเดิม ซึ่งแต่เดิมมีสหกรณ์ในชุมชน ก็จะนำมาปรับเปลี่ยนใหม่ให้ทันสมัย ให้เท่าเทียมกับร้านสะดวกซื้อ หรือแฟรนไชส์อื่นๆ ที่จะต้องลงทุนประมาณ 3.5 – 5 ล้าน
โดยปกติแล้วรัฐบาลมีเงินให้ตำบลละ 5 ล้านอยู่แล้ว ก็เป็นช่องทางให้มาทำสหกรณ์ "ไทยแลนด์มินิมาร์ท" ซึ่งก็ถอดรูปแบบมาจากสหกรณ์ที่ชาวบ้านทุกคนมีสิทธิ์เป็นหุ้นส่วน สามารถนำสินค้ามาฝากขาย โดยอยู่ในการควบคุมของหลายภาคส่วน
รวมไปถึงการคัดกรองสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งอาจจะตั้งให้เทศบาล กำนันผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่อำเภอ พัฒนาการ หรือ อย. เป็นต้น มาเป็นทีมที่ปรึกษา เพื่อพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ ซึ่งอาจจะนำสินค้าโอทอป สินค้าแต่ละหมู่บ้าน และสินค้าตามตลาดทั่วไปมาขาย
ทั้งนี้ ตนอยากให้เปิดแฟรนไชส์ในนามภาครัฐ เพราะดูน่าเชื่อถือ และเพื่อให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม จะได้มีฝ่ายต่างๆ เข้ามาร่วมมือช่วยเหลือแนะนำดูแล ยกระดับให้เท่าเทียมร้านสะดวกซื้อชื่อดัง ซึ่งของเราอาจจะพัฒนาช้าหน่อย แต่จะพัฒนาไปเรื่อยๆ จนวันนึงต้องเทียบเท่าให้ได้
เช่น สามารถชำระค่าไฟได้และค่าบริการถูกกว่ามินิมาร์ททั่วไป อีกทั้งผลกำไรที่ขายไม่ได้ไปไหน เพราะแต่ละปีมีการแบ่งผลกำไรให้หุ้นส่วนซึ่งเป็นชาวบ้านด้วย มีทุนการศึกษา การพัฒนาชุมชน และช่วยคนยากไร้
"ผมไม่ได้ปิดกั้นร้านสะดวกซื้อ แต่อยากให้มองในมุมของผมที่ตอนแรกที่ชุมชนยังไม่ค่อยเจริญ ชาวบ้านก็ช่วยกันเริ่มจากทำตลาดนัด พอตลาดนัดเริ่มมีคนมาซื้อเยอะ ก็ได้พัฒนาเป็นตลาดสด ทำให้มีความเจริญเพิ่มมากขึ้น ต่อมาก็มีร้านสะดวกซื้อมาเปิดให้บริการ ซึ่งเหมือนเกิดความเจริญในพื้นที่ชุมชนแล้ว แต่กลับถูกนายทุนมาแย่งอาชีพ ซึ่งบางอย่างผมอยากให้สงวนเป็นอาชีพของคนในชุมชน อย่างเช่น อาหารตามสั่ง ซึ่งร้านสะดวกซื้อไม่ควรมาทำในชุมชน ถ้าเปิดในที่ที่มีความต้องการ เช่น ปั๊มน้ำมัน หรือสถานที่หาอาหารทานได้ยากน่าจะเหมาะกว่า"
กำนันโหน่ง กล่าวอีกว่า ตอนนี้ร้านสะดวกซื้อเปิดอยู่ทุกซอกซอย ถ้าจะมาขายหมดทุกอย่าง ชาวบ้านก็ไม่มีรายได้ รู้สึกสงสารชาวบ้านที่สู้นายทุนไม่ไหว เงินหนึ่งหมื่นบาทกับหนึ่งหมื่นล้าน มันสู้กันไม่ได้ ซึ่งตนไม่ได้ห้ามร้านสะดวกซื้อ แต่อยากให้ไปเปิดในชุมชนที่ต้องการให้ความเจริญเข้าถึงมากกว่า
ทั้งนี้ เนื่องจากชาวบ้านช่วยกันสร้างความเจริญเช้ามาในชุมชน แล้ว มาถูกนายทุนเข้ามาเปิดร้านสะดวกซื้อ และรายได้ของชาวบ้านหดหายไป วิถีชิวิตเดิมๆ หายไป ถ้าจะเปิดขายก็อยากจะขอร้องว่าอย่าผูกขาดทั้งหมด อยากให้กระจายรายได้ให้กับชุมชนบ้าง เมื่อมาเปิดในชุมชนก็อยากให้ร้านสะดวกซื้อช่วยพิจารณานำสินค้าในพื้นที่ชุมชนไปขายด้วย
จากผู้ใหญ่บ้านก้าวไกลจนได้เป็นกำนัน
หลายคนอาจจะสงสัยว่า กำนันโหน่ง เป็นใครมาจากไหน เขาเล่าให้ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ฟังสั้นๆ ว่า "ตอนนี้ผมอายุ 37 ปี จบปริญญาตรี ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาโท การจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีผลงานการทำงานด้านชุมชนเป็นจำนวนมาก และตั้งแต่จบปริญญาโท ตอนอายุ 23 ปี ก็ได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน จากที่ชาวบ้านเลือกตอนอายุ 29 ปี ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านที่อายุน้อยที่สุดในประเทศตอนนั้น และได้เป็นกำนันตอนอายุ 30 ปี"
ขอบคุณข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์, เฟซบุ๊ก วีระชัย ไชยมงคล
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ