28 พ.ย.61 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงข้อร้องเรียนของกลุ่มศึกษานิเทศก์ กรณีไม่สามารถสมัครสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้ เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก ซึ่งกำหนดให้เจ้าหน้าที่บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศึกษานิเทศก์ หรือดำรงตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ที่มีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่มมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือตำแหน่งครูที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นที่ ก.ค.ศ.เทียบเท่า สามารถสมัครสอบคัดเลือกได้ ทำให้กลุ่มศึกษานิเทศก์ ซึ่งไม่ได้เป็นหัวหน้ากลุ่ม แต่เคยเป็นครูชำนาญการ ไม่สามารถสมัครสอบเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้
“ที่ประชุมจึงมีมติปรับเพิ่มคุณสมบัติผู้สมัคร โดยเปิดกว้างให้ศึกษานิเทศก์ ที่เคยเป็นครูชำนาญการสามารถสมัครสอบคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนได้ด้วย” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ซึ่งตนได้ถามในที่ประชุมว่าเกณฑ์ที่ดำเนินการอยู่ถือว่าดีที่สุดหรือไม่ ที่ผ่านมาการคัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษา จะใช้วิธีการสอบคัดเลือกเช่นเดียวกันการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(เลขาธิการ กพฐ.) ให้ความเห็นว่าหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา ยังไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด แต่ตอนนี้คงไม่สามารถปรับแก้ได้ทัน เพราะใกล้จะถึงเวลาสอบคัดเลือก เกรงว่าจะทำให้เกิดความโกลาหล แต่ในส่วนของการคัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ยังสามารถปรับแก้ได้ทัน เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน
“ผมจึงมอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. และสพฐ. ไปหาหลักเกณฑ์และวิธีการที่เหมาะสม ซึ่งอยากให้เป็นวิธีที่ดีที่สุด และหากเกณฑ์การคัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ที่กำลังจะออกใหม่ เป็นหลักเกณฑ์ที่ดี ก็ให้นำไปปรับในหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาด้วย” รมว.ศธ. กล่าว
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่ออีกว่า ที่ได้ประชุมได้หารือถึงการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูแลบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ซึ่งเปิดโอกาสให้ครูอัตราจ้างที่ปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี สามารถสอบคัดเลือกเป็นครูผู้ช่วยได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการคัดเลือกจะใช้วิธีการสอบแข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่ในมาตรา 50 ของพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 กำหนดไว้ว่า กรณีที่ต้องการคัดเลือกบุคลากรที่มีความจำเป็นมาบรรจุเป็นข้าราชการครูผู้ช่วย หรือมีเหตุพิเศษ ให้ดำเนินการโดยวิธีการอื่นได้ ดังนั้น การคัดเลือกครูผู้ช่วยกรณีพิเศษโดยการสอบอย่างเดียวก็สวนทางกฎหมาย
“ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ ก.ค.ศ.ไปจัดทำเกณฑ์กลางในการคัดเลือกครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ โดยให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) แต่ละจังหวัดเสนอหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมมาให้ ก.ค.ศ.พิจารณา เช่น กรณีครูอัตราจ้างที่มีอายุมากแล้ว แต่โรงเรียนหรือพื้นที่เห็นว่ามีความจำเป็น ก็ให้ กศจ. เสนอหลักเกณฑ์การคัดเลือกมาให้ ก.ค.ศ.พิจารณา แต่จะต้องสอดคล้องกับเกณฑ์กลางที่ ก.ค.ศ.กำหนด เพื่อให้สามารถรับเป็นครูผู้ช่วยได้ทันที โดยไม่ต้องสอบอีก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับครูอัตราจ้างซึ่งมีความจำเป็น” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
ด้านนายบุญรักษ์ กล่าวว่า สพฐ.ได้กำหนดปฏิทินการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา ดังนี้ ประกาศรับสมัครภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2561 และเปิดรับสมัคร ระหว่างวันที่ 3-9 มกราคม 2562 สอบข้อเขียน 19 มกราคม 2562 สอบสัมภาษณ์ 9 กุมภาพันธ์ 2562 และประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก ภายในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562
ข่าวจาก : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ