เกิดเป็นประเด็นขึ้นมาช่วงปลายปี เมื่อเครดิตสวิส (Credit Suisse) เผยแพร่รายงานความมั่งคั่งโลก ประจำปี 2561 ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมลํ้าสูงที่สุดในโลก โดยพบว่า คนไทย 1% มีทรัพย์สินรวมกัน 66.9% ของทรัพย์สินทั้งประเทศ เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่สัดส่วนอยู่ที่ 58.0%
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ที่พูดกันมาก คือ ความร่ำรวย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะรํ่ารวยเท่ากันหมด ถ้าจะได้ต้องกลับไปที่ยุคคอมมิวนิสต์ แต่ก็พิสูจน์ได้แล้วว่า ไม่สำเร็จ แต่สิ่งสำคัญสำหรับรัฐบาล คือ ต้องสร้างความเท่าเทียมกันในเรื่องโอกาส แล้วผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรค่อยมาว่ากัน เพราะคนเราเก่งไม่เท่ากัน มันก็จะมีคนเก่งที่ได้ 4 ไม่เก่งก็ได้ 2 รัฐบาลต้องไปช่วยคนที่สอบตก ว่า ทำอย่างไรไม่ให้ตก เหมือนที่โรงเรียนมีคนติวให้กับคนที่สอบตก
สิ่งที่รัฐบาลคิด คือว่า ทำไมไม่ใช้ระบบแบบประเทศไทยที่เคยมี คือ สังคมไทยที่พร้อมจะช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า เอาคนที่ได้ 4 คนที่เก่ง มาช่วยคนเหล่านี้ เพราะรัฐบาลจะรู้แบบผิวเผิน แต่คนกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่ จะสามารถดึงคนที่อยู่ใน Eco System ขึ้นมาได้ เมื่อทำแบบนี้แล้วจะทำให้ความเหลื่อมลํ้าในประเทศลดลง
อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมลํ้าที่วัดโดยสภาพัฒน์ตามมาตรฐานธนาคารโลก ที่เรียกว่า ดัชนี GINI ของไทยดีขึ้น เพราะโอกาสต่าง ๆ ที่รัฐบาลทำให้ดีขึ้น โอกาสการเข้าถึงแหล่งเงิน กระทรวงการคลังทำเต็มที่ โดยธนาคารของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านล้านหลัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่สามารถกู้ในระบบธนาคารพาณิชย์ได้ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สนใจ เพราะกำไรน้อย ก็จะมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ ไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ไปช่วย ภาคเกษตรก็มีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปช่วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราเติมเข้าไปเพื่อความเข้มแข็งและโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โอกาสในการทำธุรกิจให้เท่าเทียมกัน
แต่สิ่งที่ต้องปฏิรูปสำคัญที่สุดและยังห่างมาก คือ การศึกษา ซึ่งผลวิจัยทั่วโลกบอกอยู่แล้วว่า ถ้าจะสร้างความเท่าเทียมต้องเริ่มจากการศึกษา แต่การศึกษาบ้านเราที่บอกว่าจะปฏิรูป แต่ยังไปไม่ถึงไหน และไปไกลมาก ปัญหาสารพัดเลย ยกตัวอย่าง ความเท่าเทียมโอกาสของเด็กในกรุงเทพฯ กับเด็กต่างจังหวัดทำอย่างไรจะเท่าเทียม
"ผมมีเพื่อนบางมูลนาก เรียนด้วยกัน เชื่อมั้ยว่า คนจากบางมูลนากเข้าเตรียมอุดมได้เพียบ เข้าวิศวะได้หมด เขาบอกว่า รุ่นที่เขาเรียนมีครูที่เก่งมาก ปูพื้นฐานให้พวกเขา และพวกเขาก็เรียนรู้จากตรงนั้น และสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ แบบนี้แล้วพื้นฐานจึงอยู่ที่ครูที่เก่ง และพร้อมจะสอนเด็ก หากสามารถกระจายครูเก่งออกไปทั่วประเทศได้ ความเท่าเทียมก็จะเกิด เพชรที่ไม่ได้เจียระไน ก็จะได้เจียระไน"
สิ่งที่เสนอทำง่าย ๆ ใช้เงินน้อยด้วย คือ ปรับหลักสูตร แทนที่จะเปลี่ยนหลักสูตรให้ครูเขียนขึ้นมา ก็ไปเอาหลักสูตรอินเตอร์มา เอาหลักสูตรของประเทศที่ทำแล้วประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะวิชาหลัก ๆ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ แล้วใช้ครูที่เก่ง สอนเก่งที่สุดในประเทศไทยสอน ใส่ซีดี แล้วทุกโรงเรียนในต่างจังหวัดจัดให้มีเครื่องอ่านซีดี มีทีวีให้ดู ครูที่สอนอยู่ก็ทำหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวกแทน และครูก็มีโอกาสได้เรียนจากครูที่เก่ง สอนเก่งก็จะเก่งขึ้นเอง ซึ่งโรงเรียนติววิชาก็สอนใส่ซีดี ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร
"ทำแบบนี้ไปเลย ทุกบทจะมี 1 แผ่น ทำเป็นเล่มไว้ เด็กทุกคนในประเทศไทยสามารถเรียนจากครูที่เก่งที่สุดของประเทศ ที่สอนได้เก่งที่สุด เชื่อว่า 1 เจเนอเรชัน เด็กในต่างจังหวัดจะได้รับการเรียนการสอนเท่าเทียมเด็กในกรุง เมื่อเท่าเทียมแล้ว เด็กเหล่านี้ก็ได้รับการเจียระไน เริ่มตั้งแต่เด็กประถม มัธยม แต่การทำบทเรียนซีดีต้องใช้เวลาเหมือนกัน แต่ไม่เกินความสามารถที่จะทำและจะแก้ปัญหาความเท่าเทียมทางการศึกษา"
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,437 วันที่ 20 – 23 มกราคม พ.ศ. 2562
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ