กรีนพีซ และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมชี้ วิกฤตมลพิษกรุงเทพฯระลอกนี้ อยู่ในภาวะแค่ "เอาตัวรอด" ไปได้ชั่วคราว พร้อมเรียกร้องรัฐบาลดำเนินมาตรการรับมือระยะยาวในระดับประเทศ เพราะภาพจากดาวเทียมพบ วิกฤตฝุ่นละออง ปกคลุมเกือบทุกพื้นที่ของไทย
สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ทวีความรุนแรงขึ้น 25 ม.ค.62 ในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งจากรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย เวลา 15:00 พบว่า ทุกพื้นที่มีค่าฝุ่นละอองเพิ่ม และปรากฎพื้นที่สีแดง 1 จุด คือ ริมทางคู่ขนานถนนพระราม 2 อ. เมืองสมุทรสาคร
หลายฝ่ายจับตาการทำงานของ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร หลังคณะกรรมการควบคุมมลพิษปรับแผน มอบอำนาจให้ กทม. ยกระดับมาตรการควบคุมมลพิษในพื้นที่ฝุ่นละออง เกิน 75-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และประกาศพื้นที่ควบคุมมลพิษ "เหตุรำคาญ" หากมีค่า PM2.5 เกิน 100 มคก./ลบ.ม.
สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวในเวทีเสวนาจัดโดยกรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ทางชมรมเสนอมาตรการกับคณะกรรมการควบคุมมลพิษไปหลายอย่าง ซึ่งประกาศดังกล่าว ถือเป็นพัฒนาการที่ดีสู่การแก้ปัญหาระยะยาว
"ถ้าเกิน 100 มคก./ลบ.ม. หลายวัน จะใช้มาตรา 9 นายกรัฐมนตรีสั่งการทุกกระทรวง ถ้าหน่วยงานราชการใดไม่ปฎิบัติตามก็ให้ขึ้นศาล"
ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยผ่านโทรศัพท์ว่า ค่ามลพิษที่พุ่งสูงขึ้นอยู่ในการคาดการณ์ของภาครัฐ และเชื่อว่าสุดสัปดาห์นี้สถานการณ์จะดีขึ้น เนื่องจากมีลมแรงพัดมวลฝุ่นละอองลอยขึ้น แต่เริ่มต้นสัปดาห์หน้า ค่าฝุ่นละอองอาจสูงขึ้นอีกเล็กน้อย เพราะลมสงบ
"แหล่งกำเนิดมลพิษกว่า 60% ของกรุงเทพฯ มาจากรถยนต์ ถ้าจะแก้ไขทันที ต้องหยุดใช้รถเลย" ยกตัวอย่าง "ปีใหม่ คนกรุงหยุดใช้รถ 3-4 วัน ดูสิฟ้าเขียว ต่ำกว่า 50 ด้วยซ้ำไป แต่มันทำไม่ได้ ด้วยบริบทของกรุงเทพฯ"
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.bbc.com/thai/47003938
ภาพจาก : ผู้จัดการออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ