คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) อนุมัติให้ควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทีโอที (TOT) และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) ตั้งเป้าควบรวมกิจการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ของปีนี้
คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) อนุมัติให้ควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทีโอที (TOT) และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) ตั้งเป้าควบรวมกิจการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ แต่ยังต้องรอประเด็นด้านกฎหมายคดีข้อพิพาทต่างๆ เช่น ค่าเชื่อมโยง ฯลฯ ซึ่งต้องรอความเห็นจากอัยการสูงสุดด้วย
แนวคิดในการควบรวมทั้ง 2 องค์กรครั้งนี้ เป็นข้อเสนอของสหภาพแรงงานของทั้ง 2 บริษัท เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับแนวทางฟื้นฟูกิจการที่ คนร. กำหนดให้รวมทรัพย์สินของทั้ง 2 ฝ่าย แล้วค่อยแยกออกมาตั้งเป็น 2 บริษัทลูก ได้แก่ บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC)
ไม่ใช่เรื่องใหม่
สำหรับไอเดียการควบรวมกิจการนั้นก่อนหน้านี้ในปี 2549 ในช่วงสมัยรัฐบาลของ คมช. เคยมีแนวความคิดในการควบรวมกิจการระหว่างทั้ง 2 มาแล้ว แต่ได้รับเสียงต่อต้านจากสหภาพแรงงาน ขณะเดียวกันในปี 2557 ก็มีแนวคิดนีอีกรอบเช่นกันแต่ในปี 2557 ที่ผ่านมาทั้ง 2 องค์กรกำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก และรัฐบาลกำลังหาโมเดลที่จะทำให้ทั้ง 2 กลับมามีกำไร
แต่สำหรับในปี 2562 นี้ เรื่องการควบรวมกลับออกมาจากสหภาพแรงงานทั้ง 2 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะปกติแล้วอย่างที่ทราบดีว่าสหภาพแรงงานไม่ต้องการที่จะควบรวมกิจการ เนื่องจากความกังวลเรื่องของการปลดพนักงาน
ควบรวมแล้วจะเห็นอะไรบ้าง
ปัจจุบันทั้ง 2 บริษัทมีการทำงานที่ถือว่าทับซ้อนรวมไปถึงแข่งขันกันเองอยู่ไม่น้อย เช่น อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง บริการโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงเรื่องของศูนย์ข้อมูล ฯลฯ ถ้าหาก คนร. เองสนับสนุนการควบรวมกิจการจริงๆ แล้ว การประหยัดต่อขนาดรวมไปถึงการลงทุนถือว่าคุ้มค่าในอนาคต
สิ่งที่ลดความซ้ำซ้อนรวมไปถึงประหยัดต่อขนาด เช่น
- การเดินเคเบิลใยแก้วนำแสงตามถนนต่างๆ
- เสาโทรคมนาคม
- Data Center
- เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ
- การสั่งซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคม เช่น โมเด็มลูกค้าตามบ้าน ฯลฯ
- การจ้าง Outsource ติดตั้งหรือดูแลระบบ
- การซื้อ Capacity จากต่างประเทศ (IP Transit ฯลฯ)
อย่างไรก็ดีคำถามหลังจากนี้คือ วัฒนธรรมขององค์กรที่ค่อนข้างแตกต่างมาก ถ้าหากทั้ง 2 ควบรวมกิจการไปแล้ว จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้หรือไม่ การรวมระบบเครือข่ายเข้าด้วยกันหลังจากควบรวมกิจการแล้วจะเป็นเช่นไร ประสิทธิภาพและประสิทธิผลหลังการควบรวมจะดีขึ้นหรือไม่
สมเกียรติมองว่าเปิดเสรีโทรคมนาคมน่าจะดีกว่า
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า ถ้าหากควบรวมกิจการกันแล้วเหมือนนำกิจการที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขันมาอยู่ด้วยกัน ปัญหาคือทำยังไงให้แข่งขันได้ และไม่ใช่คิดแค่การลงทุนซ้ำซ้อนหรือสินทรัพย์ซ้ำซ้อน นอกจากนี้ยังเสียเวลาในการทะเลาะกันเองภายในอีกด้วย
โดยทางออกที่ดีที่สุดที่สมเกียรติมองไว้คือ การเปิดเสรีโทรคมนาคมให้บริษัทจากต่างประเทศเข้ามาซื้อกิจการของ CAT และ TOT เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐวิสาหกิจแล้ว
ที่มา – Deal Street Asia, หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ [1], [2], brandinside.asia
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ