ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า กคช.ใกล้บรรลุความสำเร็จในการดำเนินโครงการบ้านเอื้ออาทรครบตามเป้าหมาย 281,556 ยูนิต ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ปรับลดจำนวนยูนิตเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 280,790 ยูนิต มียอดขาย 269,973 ยูนิต คิดเป็น 96.15% ส่วนที่เหลือจำนวน 10,817 ยูนิตนั้น กคช.ได้วางแนวทางการขายไว้หลายรูปแบบ เช่น เข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลังของ ธอส. พร้อมอัดแคมเปญ ลด แลก แจก แถม รวมถึงจ้างเอกชนบริหารการขาย ให้ค่าตอบแทนผู้แนะนำลูกค้ามาซื้อโครงการ เช่าเพื่อซื้อ (Rent to Buy) ให้เอกชนเช่าเหมาอาคาร และขายในราคาพิเศษให้เป็นสวัสดิการหน่วยงานรัฐ เป็นต้น
ดร.ธัชพลกล่าวว่า ส่วนสินทรัพย์รอการพัฒนา (Sunk Cost) พื้นที่รวม 7,119 ไร่ ซึ่งชะลอโครงการบ้านเอื้ออาทรเดิมแล้วปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการให้สอดคล้องกับศักยภาพของที่ดินและความต้องการซื้อของประชาชนขณะนี้วางแผนพัฒนาแล้ว 4,032 ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างที่อยู่อาศัย 35,641 ยูนิต มียอดขาย แล้ว 27,525 ยูนิต คิดเป็น 77.23% และอีก 3,087 ไร่ กำลังวางแผนพัฒนาในระยะ 4 ปี (พ.ศ.2562-2565) ในรูปแบบใหม่ๆ เช่น โครงการร่วมทุนภาคเอกชน (Joint Inverstment/Joint Operation) หรือบ้านสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) บ้านโครงเหล็กสำเร็จรูป (Smart Home) ลานตลาดหรือพื้นที่จัดประโยชน์
“โครงการที่พัฒนาแล้ว มีทำเลดี มีการปรับปรุงแบบที่ทันสมัย ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ส่วนโครงการที่จะพัฒนาในระยะ 4 ปีนับแต่นี้ ส่วนใหญ่กว่า 2,500 ไร่ มีศักยภาพดี มีการพัฒนารูปแบบให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ขายง่ายขึ้น” ดร.ธัชพลกล่าว และว่า นอกจากนี้ ได้เร่งรัดการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็วและเป็นไปตามแผนมากขึ้น โดยจำกัดว่าผู้รับเหมารายหนึ่งรับงานก่อสร้างได้ไม่เกิน 3 โครงการ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานและขาดทุนทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างมีคุณภาพเสร็จทันตามกำหนดและเปิดการขายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ สำหรับโครงการบ้านเอื้ออาทรครม.มีมติดำให้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งกำหนดราคาขายในขณะนั้นที่ยูนิตละประมาณ 400,000 บาท จำนวน 601,727 ยูนิต แต่ปรากฏว่าโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากผู้ที่ลงชื่อจองไว้ไม่ได้ซื้อจริง หรือดีมานด์เทียม ส่งผลให้ กคช.มีปัญหาเรื่องหนี้ที่กู้ยืมเพื่อพัฒนาโครงการ ประมาณ 80,000 ล้านบาท จนต่อมาในปี 2552 ครม.มีมติปรับลดลงเหลือ 281,556 ยูนิต และต่อมาเมื่อปี 2554 ครม.มีมติเห็นชอบแผนพลิกฟื้นองค์กรในส่วนของแผนการบริหารสินทรัพย์รอการพัฒนา (Sunk Cost) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินระยะยาว และใช้ประโยชน์ในที่ดิน และมีการปรับปรุงการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ข่าวจาก : มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ