วันที่ 2 ม.ค. 62 ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ส่งต่อข้อความจากโพสต์เฟซบุ๊ก Witsanu Attavanich ของ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ โดยได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ มาตรการคุมรถวันคู่-คี่ ที่รัฐบาลอาจจะนำมาใช้แก้ปัญหาวิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็ก
โดยโพสต์ดังกล่าวระบุว่า หลายคนคงได้ยินว่ารัฐบาลอาจพิจารณานำ “มาตรการคุมรถวันคู่-คี่” มาใช้ หากฝุ่นพิษเข้าขั้นวิกฤติ แล้วมาตรการนี้จะสามารถลดฝุ่นพิษได้จริงหรือไม่? ลองมาดูงานวิจัยในต่างประเทศที่เกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ของมาตรการในลักษณะนี้ในการลดมลพิษทางอากาศ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกคนและผู้กำหนดนโยบายนะครับ ผลปรากฏว่า…
“มาตรการคุมรถวันคู่-คี่” ไม่สามารถลดมลพิษได้เสมอไป แต่อาจจะทำให้มลพิษยิ่งแย่กว่าเดิม!! ขออนุญาตยกตัวอย่างงานศึกษาของ Davis (2008) (อ้างอิงที่ 1) ซึ่งได้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Political Economy ซึ่งเป็นวารสารชื่อดังทางเศรษฐศาสตร์ งานนี้ได้ทำการประเมินผลของ “มาตรการคุมรถโดยใช้เลขทะเบียนรถหลักสุดท้าย” ในประเทศเม็กซิโก หรือที่เรียกเป็นภาษาเม็กซิกันว่า มาตรการ “Hoy No Circula” มาตรการนี้ถูกนำมาใช้ในกรุงเม็กซิโกซิตี้ ซึ่งเป็นเมืองหลวง และถูกจัดว่าเป็นเมืองที่มีปัญหารถติดเป็นอันดับที่ 16 ของโลก ขณะที่กรุงเทพฯ ของเราอยู่อันดับที่ 11 ของโลก (อ้างอิงที่ 2) มาตรการนี้ถูกนำมาใช้ในช่วงปลายปี ค.ศ.1989 เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงมากในกรุงเม็กซิโกซิตี้ช่วงฤดูหนาว เหมือนกรุงเทพเราที่เป็นช่วงอากาศตายและไม่มีลม โดยในแต่ละวันทำการ (จันทร์ถึงศุกร์) รถที่มีเลขทะเบียนลงท้ายที่แตกต่างกันจะได้รับสติ๊กเกอร์สีต่างๆ แปะไว้ที่รถ และได้รับอนุญาติให้วิ่งบนถนนได้เฉพาะในวันที่กำหนดตามสีของสติ๊กเกอร์เท่านั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในอ้างอิงที่ 1 และ 3) งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ข้อมูลคุณภาพอากาศรายชั่วโมงของมลพิษต่างๆ ได้แก่ CO NO2 O3 NOx และ SO2 และใช้เทคนิคการประเมินโครงการทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า “Regression Discontinuity Design”
ผลการศึกษาพบว่า มาตรการข้างต้นไม่สามารถลดมลพิษทางอากาศทั้ง 5 ตัวได้เลยในทุกกรณี แต่กลับทำให้มลพิษทางอากาศรุนแรงมากขึ้นในช่วงวันหยุด และวันธรรมดาช่วงที่ไม่ใช้ชั่วโมงเร่งด่วน เนื่องคนไม่ยอมหันไปใช้รถไฟใต้ดิน รถโดยสารสาธารณะ และรถโดยสารเอกชน ตามที่รัฐบาลคาดการณ์ แต่กลับหันไปซื้อรถใหม่กันมากขึ้น และที่สำคัญรถใหม่บางส่วนที่ซื้อคือรถยนต์มือสองที่อายุการใช้งานนาน ทำให้ระบบการเผาไหม้ของเครื่องยนต์มีประสิทธิภาพน้อยกว่ารถใหม่ เพื่อให้สามารถมีรถยนต์ขับกันได้ทุกวัน เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนยังขาดประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง ภาพที่ 1 ซึ่งแสดงว่ามาตรการดังกล่าวทำให้มลพิษจากไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เพิ่มขึ้น ขณะที่ ภาพที่ 2 แสดงให้เห็นว่าจำนวนรถใหม่จดทะเบียนได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นหลังจากมีการใช้มาตรการนี้
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ งานศึกษาในประเทศจีน ซึ่งมีการนำ “มาตรการคุมรถวันคู่-คี่” มาบังคับใช้ในกรุงปักกิ่งก็ไม่ประสบผลสำเร็จเช่นกัน (Wang, Xu & Qin, 2014; Xie, Tou, & Zhang) โดยงานวิจัยพบว่า สามารถทำให้รถยนต์ลดลงบนถนนได้เพียงเล็กน้อยในระยะสั้นเท่านั้น ระยะยาวแทบไม่ได้ผลเลย และมลพิษก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นยังทำให้คนมีพฤติกรรมละเมิดกฎข้อบังคับที่ตั้งไว้ถึงร้อยละ 47.8 ของรถยนต์ที่ถูกควบคุม ในทางตรงกันข้ามนโยบายที่เน้นส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการระบบขนส่งมวลชนสามารถแก้ไขปัญหามลพิษได้ดีกว่าการบังคับใช้มาตรการคุมรถต่างๆ รวมถึงมาตรการวันคู่-คี่
ดังนั้น หากนำ “มาตรการคุมรถวันคู่-คี่”มาใช้จริง อาจต้องศึกษาประสบการณ์ในต่างประเทศให้รอบคอบ และพิจารณาปรับให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยทั้งพฤติกรรมของคนไทยและความพร้อมของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนด้วยนะครับ นอกจากนั้นอาจพิจารณาใช้มาตรการอื่นควบคู่กันไป เช่น การจัดเก็บค่าผ่านทางในพื้นที่การจราจรแออัด ค่าธรรมเนียมการจอดรถ ภาษีพลังงาน ที่จอดรถส่วนบุคคลเพื่อใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เป็นต้น ไม่อย่างนั้นพวกเราคนไทยอาจจะเจอมลพิษหนักกว่าปัจจุบันก็เป็นได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : Witsanu Attavanich
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ