สองผัวเมียชาวไร่อ้อยที่ขอนแก่น เชื่อฟังทางราชการ ไม่อยากเพิ่มมลพิษทางอากาศ ไม่ยอมเผาไร่อย่างรายอื่น ส่งผลให้แรงงานหายเกลี้ยง ไม่มีใครมารับจ้างตัด ต้องช่วยกันตัดเอง บอกก็ทำไปเรื่อยๆ
เวลา 09.30 น. วันที่ 21 ก.พ. ผู้สื่อข่าวไทยรัฐลงพื้นที่สำรวจการตัดอ้อยของชาวไร่อ้อยที่ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น พบ นายประเสริฐ แก้วพิพรม อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 67 หมู่ 4 บ้านทรัพย์สมบูรณ์ ต.ทุ่งโปร่ง อ.เขื่อนอุบลรัตน์ และภรรยา กำลังช่วยกันตัดอ้อยในไร่ของตัวเองที่มีอยู่กว่า 10 ไร่ เนื่องจากหาจ้างแรงงานมาตัดอ้อยในไร่ให้ไม่ได้ ด้วยเหตุที่สามีภรรยาคู่นี้ไม่ยอมจุดไฟเผาอ้อยของตัวเอง จึงไม่มีแรงงานในหมู่บ้าน หรือหมู่บ้านใกล้เคียงมาตัดให้
นายประเสริฐ กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่ยอมเผาอ้อยในไร่นั้น เนื่องจากตนได้ติดตามข่าวจากสื่อว่าการตัดอ้อยได้สร้างมลพิษทางอากาศเป็นอย่างมาก มีผลกระทบต่อคนในพื้นที่ถึงขั้นเจ็บป่วย ประกอบกับทาง ผู้ใหญ่บ้านก็ประกาศทางหอกระจายข่าวว่าทาง ผวจ.ขอความร่วมมือไม่ให้จุดไฟเผาอ้อยในไร่ จึงปฏิบัติตาม และการที่ไม่ยอมเผาอ้อย จึงจำเป็นต้องตัดเอง เนื่องจากหาแรงงานไม่ได้ แรงงานส่วนใหญ่นั้น เมื่อรู้ว่าอ้อยยังไม่ได้เผาก็ไม่รับจ้าง อ้างว่าตัดยาก เพราะต้องฝ่าดงใบอ้อยเข้าไปเกิดอาการคันตามผิวหนังร่างกาย ถูกใบอ้อยบาดมือ และใช้เวลานานกว่าการตัดอ้อยที่ถูกเผา
“สำหรับค่าจ้างตัดอ้อยที่เผา และอ้อยที่ไม่ได้เผานั้น ค่าจ้างก็แตกต่างกันคือ อ้อยที่ถูกไฟเผากองละ 40 ต้น ได้ค่าจ้าง 3 บาท ส่วนอ้อยที่ไม่เผา กองละ 15 ต้น ค่าจ้าง 3 บาทเช่นกัน แต่แรงงานก็ยังต้องการให้เผาอยู่ดีถึงแม้จะตัด 40 ต้น แต่ก็ตัดได้เร็วกว่าอ้อยที่ไม่เผา 15 ต้นอยู่ดี ส่วนราคาอ้อยเมื่อนำไปขายโรงงาน อ้อยที่ถูกเผาจะถูกหักเงินตันละ 30 บาท แต่อ้อยที่ไม่เผารับเงินราคาเต็ม เมื่อหาแรงงานตัดอ้อยไม่ได้ จึงช่วยกันตัดเอง ตัดไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็ไปได้หลายไร่แล้ว”
ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์, khonkaenlink
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ