จากกรณีที่รายการ มาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์ ได้นำ “ปลากระเบนนก” มาใช้เป็นวัตถุดิบให้ผู้เข้าแข่งขันทำเป็นเมนูอาหาร จนกลายเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ ถึงความเหมาะสมที่นำปลาหายากและมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์มาใช้อาหาร แต่ขณะเดียวกัน หม่อมหลวงภาสันต์ สวัสดิวัตน์ ได้มีการชี้แจงว่าปลาทะเลชนิดดังกล่าวสามารถนำมาทำเป็นอาหารได้ และในบ้านเราก้มีขายด้วยเช่นกัน (อ่านเพิ่มเติม : ม.ล.ภาสันต์ แจงปม “ปลากระเบนนก” โผล่รายการทำอาหาร ชี้หาไม่ยาก / พลิกปมดราม่า “ปลากระเบนนก” ตลาดมีขายหรือไม่ ผัดเผ็ดได้หรือเปล่า!?)
นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากกรณีปลากระเบนที่ปรากฏอยู่ในรายการแข่งขันทำอาหารผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง โดยระบุว่า จากการตรวจสอบ มี 2 ชนิดพันธุ์คือ กระเบนหิน และ กระเบนนกจุดขาวสำหรับ ปลากระเบนนกจุดขาว หรือ ปลากระเบนค้างคาว หรือ ปลากระเบนยี่สน อยู่ในวงค์ปลากระเบนนก (Myliobatidae) เป็นปลากระเบนทะเลที่พบได้ในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก และอีกหลายประเทศ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงน่านน้ำประเทศไทยที่สามารถพบเห็นได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน มีลักษณะเด่น
มีผิวหนังเรียบ ด้านหลังมีสีดำมีจุดขาวกระจาย ด้านท้องมีสีขาว หางเรียวยาวมาก มีส่วนหัวที่แยกออกจากครีบเห็นได้ชัดเจน จึงทำให้ว่ายน้ำไปมาได้อย่างอิสระเหมือนนกบิน มีขนาดกว้างได้ถึง 1.5 เมตร เคยพบสูงสุดถึง 3 เมตร น้ำหนัก 230 กิโลกรัม อาศัยบริเวณใกล้ผิวน้ำถึงใกล้พื้นท้องทะเลตามชายฝั่งทะเลแนวปะการัง ส่วนปลาขนาดเล็กอาจพบได้ในเขตน้ำกร่อยปากแม่น้ำ กินปลาขนาดเล็กหอยปลาหมึกกุ้งและปูเป็นอาหาร
สำหรับในประเทศไทยปลากระเบนนก เป็นสัตว์น้ำพลอยได้จากการทำประมงไม่อยู่ในเป้าหมายการจับของชาวประมง และไม่มีเครื่องมือที่ใช้จับเป็นการเฉพาะ ถึงแม้ว่าปลากระเบนนกจะเป็นสัตว์น้ำที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวน และสัตว์ป่าคุ้มครองหรือบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) แต่ทางสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ได้ทำการสำรวจและประเมินสถานภาพรายชื่อปลาฉลามและปลากระเบนทั่วโลกจำนวน 1,038 ชนิด ขึ้นใน IUCN Red List สำหรับปลากระเบนนกชนิดนี้แสดงสถานะให้เป็นสัตว์น้ำชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU)โดยได้ขอความร่วมมือประเทศที่เป็นเจ้าของสัตว์น้ำในบัญชี IUCN Red List ให้ความสำคัญทั้งด้านบริหารจัดการและการอนุรักษ์เนื่องจากการประเมินสถานภาพพบว่า มีแนวโน้มลดลงจากการทำประมงและการท่องเที่ยว
ดังนั้นเพื่อช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำไม่ให้ลดน้อยลงจนถึงขั้นสูญพันธุ์ จึงขอความร่วมมือพี่น้องชาวประมง หากจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่สัตว์น้ำเศรษฐกิจขอให้ช่วยกันปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพราะถึงแม้ประเทศไทยจะมีการกำหนดมาตรการในการบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยเน้นการทำการประมงที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ด้านการอนุรักษ์สัตว์น้ำเป็นเรื่องที่กรมประมงให้ความสำคัญมาโดยตลอด เนื่องจากสัตว์น้ำบางชนิดถึงแม้อาจไม่ใช่สัตว์น้ำเศรษฐกิจและไม่ถูกนิยมมาบริโภค แต่ก็สามารถเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยได้เป็นอย่างดี
ข่าวจาก : อัมรินทร์ทีวี, กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ