วันที่ 8 มี.ค. 62 จากเฟซบุ๊กเพจ “หมออนามัยขี้ mouth” มีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรียกเงินเดือนเกินสิทธิ์คืน ในกลุ่มพนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการก่อนวันที่ 11 ธ.ค. 55 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 57 คนละประมาณ 20,000-25,000 บาท ซึ่งมาจากการทำบัญชีเงินเดือนผิดพลาด จนได้รับเงินเดือนเกินสิทธิ์มาถึง 5 ปี มีการเรียกเงินเดือนเกินสิทธิคืนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.ศรีสะเกษ เรียกคืน 91 ราย โดยเรียกร้องว่า คนเกี่ยวข้องที่ทำเงินเดือนผิดพลาด ทั้งใน สธ. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ต้องมีส่วนรับผิดชอบในกรณีนี้หรือไม่
โดยนายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) และเลขาธิการสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าว เปิดเผยว่า เป็นความผิดพลาดของใครยังระบุไม่ได้ โดยมีน้อง ๆ ร้องทุกข์เข้ามา ประมาณ 8 จังหวัด จำนวน 200 กว่าราย จำนวนเงินรวม 5-6 ล้านบาท ค่อนข้างเป็นกลุ่มใหญ่ ปัญหาก็คือ ระบบตรงนี้ผิดพลาดมาได้อย่างไรถึง 5 ปี แล้วการเรียกเงินคืน จำนวนสูงที่สุด 9 หมื่นกว่าบาท ในขณะที่วงเงินต่ำที่สุด 1 พันกว่าบาท แต่เงินเดือนน้อง ๆ กลุ่มนี้เป็นข้าราชการใหม่ ได้เงินเดือน 2 หมื่นกว่าบาท หน่วยงานจะเรียกคืนอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบต่อค่าใช้จ่าย และชีวิตประจำวันของคนกลุ่มนี้ และจะแก้ไขอย่างไร เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของน้อง ๆ ที่ได้รับเงินเดือนเกิน ต้องไปตรวจสอบว่าเกิดจากอะไร ในอนาคตจะได้ป้องกันเหตุนี้ได้
เท่าที่ศึกษาข้อมูล นายริซกี กล่าวว่า มีหลายกรณีที่ไปฟ้องศาลปกครองแล้วเห็นว่าไม่ต้องจ่าย เพราะเป็นความผิดพลาดของระบบ น้องๆ ถือเป็นผู้เสียหาย เพราะโดนเรียกเงินคืน แม้จะได้รับผลประโยชน์ในช่วงแรกก็ตาม ขณะที่ผู้บริการ ก็มีส่วนทำให้เกิดความสียหายขึ้นมา ควรพบกันครึ่งทาง หาวิธีที่เหมาสมทั้ง 2 ฝ่าย
สิ่งที่เกิดขึ้นได้บั่นทอนจิตใจของคนทำงาน คิดว่าเรื่องนี้ต้องแก้ไขที่ถูกจุด จะเรียกเงินคืนอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบ และจะเป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรอีกด้วย
นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ เปิดเผยว่า คดีนี้ตนเป็นคนฟ้องที่ศาลปกครองในปี 57 โดยมีแนวคำตัดสินศาลปกครองสูงสุด เมื่อปี 61 ระบุว่า การที่ข้าราชการหรือลูกจ้างทั่วไป ที่รับเงินเดือนเกินมาโดยสุจริต ไม่ต้องคืนเงิน ยกเว้นแต่พนักงานที่รับเงินเดือนเกินนั้น มีหน้าที่ในการจัดบัญชีเอง ซึ่งถือเป็นคำสั่งที่สิ้นสุดแล้ว
กรณีนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะต้องดูว่าหน่วยงานต้นสังกัดที่จัดทำงบประมาณเป็นของหน่วยงานใด ซึ่งกรณีนี้เงินของรัฐที่จ่ายเกินไปแล้ว ไม่สามารถเอาคืนได้ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือคนที่เซ็นเบิกจ่ายงบประมาณ โดยไม่ตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบก่อน แต่ศาลก็เคยวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ไม่ผิด เนื่องจากเป็นการทำหน้าที่โดยสุจริตเช่นกัน
นอกจากนี้ ควรจะต้องมีสอบสวนว่าใครเป็นผู้เซ็นอนุมัติการคำนวณเงินเดือนแล้วผิดพลาด ซึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ ปลัดกระทรวง อธิบดี หรือหน่วยงานอื่น ๆ อาจต้องรับผิดชอบร่วมด้วย ซึ่งคาดว่าสำนักกรมบัญชีกลางมาตรวจสอบภายหลังแล้ว จึงทราบว่ามีการผิดพลาด
ทนายรณณรงค์ ระบุว่า “พนักงานที่ได้รับเงินไปแล้ว ยังไงก็ไม่ต้องคืน ถ้าหน่วยงานรัฐบอกว่าจะต้องคืน ก็ให้ไปต่อสู้คดี” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขอาจฟ้องให้ลูกจ้างคืนเงิน แต่ถ้าลูกจ้างต่อสู้คดีโดยอ้างอิงจากแนวทางคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ก็ไม่ต้องคืนเงินเพราะเป็นผู้สุจริต
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ